28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 27,2014

แจกทั้งเงินและน้ำตาล ประชาพิจารณ์รง.เอทานอล


    ‘ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่’ เครือโรงงานน้ำตาลใหญ่ เปิดเวทีทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้าง “โรงงานเอทานอล” ชูป้ายประท้วงขอทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ หวั่น! ปัญหาเก่าน้ำเสียยังไม่แก้ไข ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่สิ้นสุด พร้อมเผยคลิปแจกทั้งเงินและน้ำตาล แต่ผู้บริหารยังเงียบชี้แจง 

ประชาชนชูป้ายคัดค้านการสร้างโรงงานเอทานอล ในเวทีประชาพิจารณ์ของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

 

    ตามที่ราษฎรในพื้นที่บ้านจระเข้หิน หมู่ที่ ๑, ๒, ๓ และหมู่ที่ ๘ ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา นำโดยนางสายม่าน จ่อยครบุรี ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกองทัพภาคที่ ๒ และยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการดำเนินงานของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ บ้านจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี หลังจากเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒๓ ปี ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ กรมที่ดิน โดยนายวราวุธ วราภรณ์ เลขานุการกรมที่ดินขณะนั้น ได้มีหนังสือที่ มท ๐๖๒๕/๐๙๕๑๕ แจ้งว่า “กรมที่ดินได้พิจารณาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ได้ออกโฉนดที่ดินไปในที่สาธารณประโยชน์ จำนวน ๒๐ แปลง และได้แจ้งให้จังหวัดนครราชสีมาพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว”
    จากนั้นมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นในท้องที่บ้านจระเข้หิน และแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๐ โดยประชาชนอ้างว่า กรมที่ดินออกโฉนดให้ดำเนินการตั้งโรงงานน้ำตาล บนดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนลำมูลบนและอยู่เหนือพื้นที่การผลิตประปาของหมู่บ้าน ประชาชนในพื้นที่มองว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำประปาไม่สะอาด เกิดปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหายาเสพติด และปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านจระเข้หินถูกบุกรุก อาชีพเลี้ยงสัตว์เหลือเพียงส่วนน้อย ไม่มีป่าชุมชนให้เก็บเห็ด เก็บผักหวาน จากที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่เคยอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง  


ชูป้ายประท้วงคัดค้านหนัก!
    ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ‘โคราชคนอีสาน’ ได้รับรายงานว่า ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๒.๐๐ น. ที่โรงเรียนชุมชนบ้านจระเข้หิน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา นายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอครบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมการทบทวนร่างรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โดยมีประชาชนในพื้นที่รัศมี ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโครงการฯ เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงคัดค้านไม่เอาโรงงานเอทานอลอย่างเด็ดขาด พร้อมชูป้ายประท้วง อาทิ “ไม่เอาโรงงานเอทานอล”, “อากาศพิษชีวิตจะสั้น”, อดีตมูลใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ปัจจุบันมูลนาเน่าน่าเศร้าใจ เพราะใครทำ”, “น้ำเสียเราไม่อยากกิน” เป็นต้น เนื่องจากชุมชนบ้านจระเข้หิน มีทั้งโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งทั้งสองโรงงานนี้อยู่ในเครือเดียวกัน ที่ผ่านมาก่อมลพิษทางอากาศ และมีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำมูล  ซึ่งบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีนายณัฐศิษฏ์ ไทยตระกูล ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลครบุรี เป็นตัวแทนชี้แจงการก่อสร้างโรงงานเอทานอลแห่งนี้ต่อที่ประชุม และมีรายงานด้วยว่า กองทัพภาคที่ ๒ ส่งทหารจำนวน ๔-๕ นายมาร่วมสังเกตการณ์ ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อย


ไม่สร้าง-ไม่จ้างงานก็ไม่อดตาย
    ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นางธันยพร วงศ์สวัสดิ์ แกนนำราษฎรบ้านจระเข้หิน เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “หลังจากการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่โรงเรียนชุมชนบ้านจระเข้หิน ตนในฐานะแกนนำผู้คัดค้าน ได้ให้เหตุผลว่า บริเวณที่ก่อสร้างไม่มีความเหมาะสมเพราะติดกับชุมชน และติดกับแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันของคนในชุมชนอีกด้วย หวั่นเกรงว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หากปล่อยให้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นมา สิ่งแวดล้อมต่างๆ คงเสียหายย่อยยับแน่นอน ขณะนี้ความน่าเชื่อถือในตัวของผู้บริหารนั้นไม่มีอีกแล้ว วอนสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมากพอแล้ว”  
    นางธันยพร กล่าวต่อว่า ทางโรงงานน้ำตาลไม่เคยกล่าวถึงเรื่องที่จะส่งเสริมอาชีพประชาชนในพื้นที่ มีแต่กล่าวในเวทีประชาพิจารณ์ว่าจะส่งเสริมการปลูกอ้อย ตนเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้สร้างตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว หากไม่มีการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ก็ไม่อดตาย ปัจจุบันมีแต่แรงงานต่างด้าวเต็มไปหมด และโครงการก่อสร้างโรงงานเอทานอล จะมีการจ้างงานเพียง ๖๔ คน ตนเห็นว่าไม่สามารถพัฒนาหรือหาความเจริญมาสู่ชุมชนได้แต่อย่างใด เพราะนับตั้งแต่มีโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล มีแต่แย่กับแย่ ที่บริเวณการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลก็รุกพื้นที่สาธารณประโยชน์ ยังจะมาก่อสร้างโรงงานเอทานอลเพิ่มอีก ตนไม่ขออะไรมาก ขอความโปร่งใส และพื้นที่ส่วนรวมคืน เพื่อประกอบสัมมาอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามวิถีชีวิตที่เรียบง่าย


โรงงานอย่าหวังแต่กำไร?
    นางธันยพร กล่าวย้ำว่า “ขอให้สื่อมวลชนและสังคมรับทราบความเดือดร้อนของคนในชุมชน ตนอยากใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และต้องการเจรจากันอย่างสันติวิธี แต่ทางโรงงานหาแนวทางแก้ปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันก็ยังส่งกลิ่นก่อมลพิษไม่หยุด หวังแต่กำไร ประชาชนจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ จากนี้ก็จะเดินหน้าคัดค้านถึงที่สุดและทวงที่สาธารณะคืน ถ้าอยากสร้างก็ไปสร้างที่อื่น ไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้ เพราะมลพิษที่มีอยู่นี้ก็หนักพอแล้ว”

 

แจกเงิน ๒๐๐ น้ำตาล ๑ กก.
    ส่วนกรณีที่ปรากฏภาพถ่ายเผยแพร่ใน Social Network (สังคมออนไลน์) อาทิ เฟซบุ๊ก และไลน์ โดยมีผู้ถ่ายคลิปการแจกเงิน ๒๐๐ บาท และน้ำตาล ๑ กิโลกรัม ของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นางธันยพร วงศ์สวัสดิ์ แกนนำราษฎรบ้านจระเข้หิน กล่าวว่า “ก่อนการประชุมจะเริ่มมีเจ้าหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลมาเจรจากับประชาชนบางกลุ่มว่า ให้ไปทำประชาพิจารณ์และลงชื่อเพื่อสนับสนุนเห็นด้วย โดยจะให้น้ำตาลพร้อมเงินสดเป็นค่าตอบแทน หลังจากที่ทำประชาพิจารณ์แล้ว จากนั้นวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลครบุรีนำน้ำตาลจำนวนมากใส่ท้ายรถกระบะมา และนำมาแบ่งเป็นถุงๆ ละ ๑ กิโลกรัม พร้อมกับเงิน ๒๐๐ บาท ใส่ซองจดหมายสีขาวปิดผนึก โดยใช้สถานที่ศาลาประชาคมหมู่ที่ ๑ บ้านจระเข้หิน เป็นที่แจกจ่ายแก่ประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งมาลงชื่อรับประมาณ ๑๐๐ คน ตนมีภาพถ่ายยืนยันพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งนี้ด้วย”  

 

ผอ.โรงงานน้ำตาลเงียบชี้แจง 
    สำหรับเรื่องการแจกเงินและน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลครบุรี ‘โคราชคนอีสาน’ พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายณัฐศิษฏ์ ไทยตระกูลผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลครบุรี เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยเลขานุการของนายณัฐศิษฎ์ฯ แจ้งว่า “ผู้อำนวยการติดภารกิจ ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ จึงขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ เพื่อติดต่อกลับในภายหลัง” จากนั้นวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อกลับไปอีกครั้งเพื่อขอสัมภาษณ์ โดยเลขานุการเป็นผู้รับเรื่องไว้เช่นเดิม และกล่าวว่า “ขณะนี้ผู้อำนวยการลาป่วย และจะติดต่อกลับหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานมาใหม่ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้”  
    กระทั่งวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๕.๒๐ น. ‘โคราชคนอีสาน’ ได้รับการติดต่อกลับมาจากโรงน้ำตาลครบุรี โดยเลขานุการของนายณัฐศิษฏ์ ไทยตระกูล ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาละครบุรี แจ้งให้ทราบว่า “ต้องมีหนังสือจากสำนักงานหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน พร้อมระบุชื่อผู้สื่อข่าวที่จะขอสัมภาษณ์ และขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องอะไร” พร้อมทั้งระบุอีกว่า “หนังสือดังกล่าวต้องระบุชื่อถึงนายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) โดยให้ส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือไปรษณีย์ก็ได้ จากนั้นตนจะเป็นผู้นำเรื่องเสนอต่อผู้บริหาร เพื่อพิจารณาตอบกลับไป” 

 

สิทธิ์ปชช.ทำประชาพิจารณ์
    ด้านนายจิรวัธน์ อารีย์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโรงงานเอทานอลและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่มีการทำประชาพิจารณ์ และมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ หวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง และมลพิษทางอากาศนั้น ตนเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ที่จะทำประชาคม หรือทำประชาพิจารณ์ เพราะสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทกรณีโรงงานน้ำตาลเป็นเหตุตั้งแต่แรกเริ่ม ฉะนั้น ความน่าเชื่อถือก็ลดลงตามไปด้วย ประชาชนในพื้นที่จึงรวมตัวกันคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างโรงงานเอทานอลเพิ่มขึ้น เพราะหวั่นเกรงจะไม่สามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพดังที่กล่าวไว้ และเคยมีการร้องเรียนทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว” 
    นายจิรวัธน์ กล่าวต่อว่า มาตรการ ระเบียบ ข้อบังคับนั้น ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมายึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การที่จะสร้างโรงงานได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการ ตลอดทั้งโครงสร้าง ระบบการกำจัดของเสีย และกักเก็บมลพิษ และทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพิกัดการก่อสร้างโรงงาน คือต้องอยู่ห่างจากแหล่งชุมชนรัศมีไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลเมตร โดยโรงงานต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละออง หรือพิกัดมลพิษที่ประชาชนร้องเรียนว่าจะส่งผลกระทบถึงชุมชนหรือไม่ จากนั้นจะประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)  ว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ ถ้าเห็นชอบแล้วจึงส่งเรื่องการพิจารณากลับมายังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ให้รับทราบข้อพิจารณา เพื่อเซ็นชื่อออกใบอนุมัติการก่อสร้างโรงงานพื้นที่ ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก แต่หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถเซ็นชื่อออกใบอนุมัติก่อสร้างโรงงานได้ หรือโรงงานต้องไปดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่อื่นแทน

 

‘พ.อ.สมหมาย’ตรวจสอบพื้นที่
    ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นางธันยพร วงศ์สวัสดิ์ แกนนำราษฎรชุมชนบ้านจระเข้หิน โทรศัพท์มาแจ้งเพิ่มเติม กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ตัวแทนชุมชนบ้านจระเข้หินเดินทางไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างโรงงานเอทานอล ต่อพันเอกสมหมาย บุษบา เสนาธิการกองยุทธการกองทัพภาคที่ ๒ และคณะทำงานด้านกฎหมาย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต่อมาวันรุ่งขึ้น (๒๓ พ.ย.) พันเอกสมหมายฯ นำคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบทันที และขอดูเอกสารการก่อสร้าง ตั้งแต่การจัดตั้งโรงงานน้ำตาลมาถึงโครงการก่อสร้างโรงงานเอทานอล ซึ่งพันเอกสมหมาย ย้ำกับตนว่าจะให้ความเป็นธรรมและช่วยเหลือถึงที่สุด และล่าสุดตรวจพบการรุกล้ำพื้นที่สาธารณประโยชน์จริง แต่ต้องขอรวบรวมเอกสารให้ชัดเจนก่อน”  


หวั่น!ซ้ำรอยผลกระทบเดิม
    ราษฎรบ้านจระเข้หินรายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า “การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ๒ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โรงงานเอทานอลชี้แต่ข้อดี โดยนำเสนอนโยบายซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น การบริหารจัดการกากน้ำตาล (Molass) ที่ผ่านมาของโรงงานน้ำตาล โดยมีบ่อหมักกำจัดไว้ในพื้นที่ แต่จริงๆ แล้วแอบนำไปทิ้งไว้ท้ายเขื่อนมูลบน และล่าสุดนำมาทิ้งไว้ท้ายบ้านจระเข้หิน หมู่ที่ ๘ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีฝนตกมาเพื่อชะล้าง เป็นการกระทำที่มักง่าย เรื่องเก่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำยังเดินหน้าก่อสร้างโรงงานเอทานอลเพิ่ม และเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพิ่มขึ้นตามมา รวมไปถึงฝุ่นละอองด้วย อีกทั้งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าชีวมวลในเครือก็ปิดข่าวการระเบิด”  


กำลังผลิต ๒ แสนลิตร/วัน
    ทั้งนี้ โรงงานเอทานอลที่กำลังก่อสร้างดังกล่าว เป็นบริษัทในเครือบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอันดับ ๑๑ ในประเทศไทย โดยมียอดผลิตน้ำตาลทรายในปีการผลิต ๒๕๕๖ จำนวน ๒๕๓,๖๐๐.๘ ตัน สำหรับการก่อสร้างโรงงานเอทานอล ดำเนินการในนามบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโดยนำกากน้ำตาล ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล (Molass หรือกากน้ำตาล)  ของโรงงานน้ำตาลมาทำเป็นแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า “เอทานอล” และจากข้อมูลได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอ) ขยายกำลังผลิตเอทานอล ๙๙.๕% ปีละประมาณ ๖๐ ล้านลิตร/ปี หรือ ๒๐๐,๐๐๐ ต่อวัน เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น ๑,๐๙๘.๕ ล้านบาท เงินลงทุนโดยไม่รวมมูลค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ๑,๐๔๓.๕ ล้านบาท การจ้างงาน ๕๒ คน โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา 
    อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งโรงงานเอทานอล ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) กรณีมีการผลิตหรือกลั่นแอลกอฮอล์ ๔๐,๐๐๐ ลิตรต่อวัน ซึ่งในกระบวนการผลิตเอทานอลนั้น ผู้ประกอบการหรือโรงงานจะผลิตหรือกลั่นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๙๙.๕% จากนั้นจะนำแอลกฮอลล์ที่ได้ไปจำหน่าย เพื่อผสมกับเบนซิน เป็นเชื้อเพลิงหรือแก๊สโซฮอลล์ 


ฉบับที่ ๒๒๖๐ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๗


700 1356