24thApril

24thApril

24thApril

 

November 27,2014

ราชบัณฑิตยสถาน-ขอนแก่น ทำพจนานุกรมไทยอีสาน-กรุงเทพ

   ขอนแก่นจับมือราชบัณฑิตยสถาน จัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสาน-ภาษาไทยกรุงเทพ คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น ต่อยอดเยาวชนรุ่นหลังรู้รักภาษาไทยครอบคลุมทุกภูมิภาค

    นายกำธร ถาวรสถิตย์

    นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมระหว่างจังหวัดขอนแก่น และราชบัณฑิตยสถาน ได้ข้อสรุปในการเก็บคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานที่ไม่มีใช้ในภาษาไทยกรุงเทพหรือมีความหมายแตกต่าง มาจัดทำเป็นคำตั้งภาษาไทยถิ่นอีสาน ทั้งอักษรธรรมอีสาน การถอดอักษรธรรมอีสาน ที่แยกออกเป็นเสียงอ่านภาษาอีสาน กรณีที่ไม่ตรงกับคำตั้ง สัทอักษร ชนิดของคำ ความหมายและตัวอย่าง ที่จะต้องแยกออกเป็นเสียงอ่านตัวอย่าง และการแปลตัวอย่างเป็นภาษาไทยกรุงเทพ ซึ่งการตั้งภาษาไทยถิ่นอีสานที่มีรูปเขียนตรงกับภาษาไทยกรุงเทพ นั้นให้ใช้รูปเขียนภาษาไทยกรุงเทพแต่ให้บอกเสียงอ่านภาษาไทยถิ่นอีสานไว้ในวงเล็บบอกเสียงอ่าน อาทิ ชิ้น ภาษาไทยถิ่นอีสานอ่านว่า ซิ่น หรือ ครก ภาษาไทยถิ่นอีสานอ่านว่า คก ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวนั้นได้ประสานการทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นราชบัณฑิตยสถาน ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลภาษาไทยถิ่นอีสานจากทั้ง ๒๐ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจัดทำเป็นรูปเล่มในที่สุด
    “การจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอีสานเฉพาะที่แยกออกจากภาษาไทยกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการคงไว้และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่คล้อยกับการดำเนินชีวิตของคนไทยในแต่ละภูมิภาค ทั้งยังคงเป็นเอกสารตำราที่อ้างอิงในการใช้งานของภาษาไทยและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเพื่อจารึกไว้ถึงความเป็นคนไทยและให้เยาวชนคนรุ่นหลัง หรือแม้แต่ในยุคปัจจุบันได้ค้นคว้าหาความรู้และความแตกต่างทั้งด้านคำศัพท์ การออกเสียงการใช้งานในคำภาษาไทยคำเดียวกันแต่ต่างกันที่การอ่าน คำแปลและการสื่อความหมาย ซึ่งเรื่องเสียงการอ่านภาษาไทยถิ่นอีสานให้ใช้การออกเสียงของคนอีสานส่วนใหญ่ และพิจารณาว่าจะเลือกใช้เสียงใด ของจังหวัดใด เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น และเมื่อกำหนดเสียงอ่านภาษาไทยถิ่นอีสานแล้ว ควรมีสัทอักษรกำกับไว้ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ภาคใต้ และพจนานุกรม ภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ ซึ่งกรรมการบางท่านเห็นสมควรให้ใช้เสียงอ่านของอุบลราชธานีเป็นหลัก เนื่องจากมีระบบเสียงวรรณยุกต์ที่ชัดเจนไม่ทำให้เกิดความกำกวม เมื่อเทียบกับภาษาไทยกรุงเทพฯ และเห็นควรให้ใส่ตารางการออกเสียงของจังหวัดอื่นๆ ในคำชี้แจงด้วย สำหรับคำที่ใช้เฉพาะถิ่นนั้นก็ให้วงเล็บบอกถิ่นที่ใช้คำนั้นๆ ไว้ด้วย เช่น บางถิ่นใช้ว่า... เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารได้ง่าย” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าว


    นายกำธร ถาวรสถิต กล่าวอีกว่า การกำหนดเอกสารงานพจนานุกรมในลักษณะดังกล่าวนี้ จะแยกหมวดคำศัพท์ออกเป็นแต่ละกลุ่ม อาทิ หมวดข้าว ตัวอย่างคือ เข้ากก (เข่ากก) น. หมายถึงข้าวสารที่ได้จากการตำครั้งแรก แต่ยังมีเยื่อหุ้มอยู่มาก, เข้าตาแฮก (เข่าตาแฮก) น. หมายถึงต้นข้าวที่ปลูกในแปลงนาขนาดเล็กก่อนเริ่มฤดูทำนา สำหรับใช้บูชาผีตาแฮกซึ่งเป็นอารักษ์ประจำนา (แฮก ตรงกับคำว่า แรกในภาษาไทยกรุงเทพฯ)  หมวดแมลง อาทิ ขี้ไก่กือ (ขี่ไก่กือ) น.หมายถึง กึ้งกือ, แมลงกือ, แมงคับ (แมลงทับ) น.ชื่อแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง มีสีเหลืองหลายสีเป็นมันเลื่อม ที่พบบ่อยมีสีเขียวตัวอ่อนเป็นหนอนเจาะกินลำต้น ส่วนตัวโตเต็มวัยกินใบพืช และหมวดพรรณไม้-พันธุ์พืช อาทิ ง่า (หง่า) น.หมายถึง กิ่งไม้ ,ผักแป้น (ผักกุยช่าย) หมายถึงชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง คล้ายต้นหอมหรือกระเทียม ใบแบน มีกลิ่นฉุน กินได้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้พิจารณาคำศัพท์และบทนิยามเพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษไทยถิ่นอีสาน-ภาษาไทยกรุงเทพฯ ที่จะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้มีความสอดคล้องกันและสามารถนำไปใช้งานได้จริงตรงตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน


ฉบับที่ ๒๒๖๐ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๗


703 1355