26thApril

26thApril

26thApril

 

November 27,2014

เดินหน้าผังเมืองรวมจังหวัด เสนอขอบเขตเข้ม‘ลำตะคอง’

   เปิดรับฟังความคิดเห็นจัดทำ “ผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา” ครอบคลุม ๓๒ อำเภอ กรมโยธาธิการและผังเมืองวางกรอบพัฒนาประตูหน้าด่านอีสานถึง ๒๐ ปี รองรับคมนาคมและขนส่ง อุตสาหกรรมสีเขียว ความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้านสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ เสนอกำหนดใช้ประโยชน์ริมลำตะคอง พร้อมพิจารณาออกใบอนุญาตเหมือนโรงงาน

นายชัยชนะ จียะมาภา  ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง

 

    เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๔๕ น. ที่ราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จังหวัดนครราชสีมา นายชัยชนะ จียะมาภา ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๑ โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ว่าจ้างที่ปรึกษา บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการจัดประชุมดังกล่าว เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด ความต้องการ และการพัฒนาพื้นที่ สำหรับเป็นกรอบแนวทางการวางผังพัฒนาพื้นที่ในรายละเอียดต่อไป โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ และประชาชนในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมกว่า ๑๐๐ คน 


จุดเด่นภูมิศาสตร์-คมนาคมขนส่ง
    ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วม กล่าวว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๑ และมีประชากรมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ ด้วยจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัด และนโยบายการพัฒนาระบบการคมนาคมและขนส่งของประเทศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้จังหวัดนครราชสีมามีความพร้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบ นำปัญหาบางประการมาสู่พื้นที่ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพระดับจังหวัดในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การตั้งถิ่นฐาน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และบทบาทของจังหวัด พร้อมทั้งกำหนดแนวทางและมาตรการทางผังเมือง ในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้อง กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงต้องดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าว เพื่อให้เป็นผังแม่บททางกายภาพชี้นำการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดต่อไป 

 

บูรณาการความคิดกำหนดทิศทาง
    นายชัยชนะ จียะมาภา ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเปิดการประชุมว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูหน้าด่านในการเดินทางสู่ภาคอีสาน เศรษฐกิจหลักของจังหวัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าส่ง-ค้าปลีก การท่องเที่ยวและการบริการ ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบและนำปัญหาบางประการมาสู่พื้นที่ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด นอกจากนี้ เพื่อให้ก้าวทันแนวโน้ม และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ภายใต้นโยบายของรัฐในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ประเทศ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่ทางภายภาพระดับจังหวัด ในการพัฒนาและดำรงรักษาเมือง รวมถึงบริเวณที่เกี่ยวข้อง 
    “การจัดประชุมในครั้งนี้จึงเป็นกระบวนการระดมความคิดเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการความคิดในการกำหนดทิศทาง การพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งในด้านการตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้นำไปใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างบูรณาการ” ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าว


 

วางผังกายภาพ-ชี้นำการพัฒนา
    ต่อมาบริษัทที่ปรึกษาแนะนำโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา โดยนางสาวอตินุช ก้องสนั่น ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “ปัญหาการบังคับการใช้ผังเมืองรวมจังหวัดที่ผ่านมา จากการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมา พบข้อจำกัด ได้แก่ ๑. ข้อกำหนดผังเมืองรวมจังหวัด มีความเข้มงวดมากกว่าผังเมืองรวมเมือง เช่น เรื่องระยะถอยร่น ความสูงของอาคาร หรือข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างๆ ๒. กิจการอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ๓. อสังหาริมทรัพย์ เช่น การจัดสรรที่ดิน ไม่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ที่เหมาะสม และ ๔. การห้ามดำเนินการเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นในบางพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้า เสาโทรทัศน์ กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงกำหนดแนวทางการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อเป็นกรอบในการปรับปรุงทั่วประเทศ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน ทำการแก้ไขข้อกำหนดบางส่วนให้มีความยืดหยุ่น และยกเลิกบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองรวมจังหวัด ได้แก่ ๑) ยกเลิกบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงฯ ยกเลิกบัญชีโรงงานอุตสาหกรรม และจะกำหนดเป็นข้อห้ามเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีผลกระทบรุนแรงเท่านั้น คือ อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ๑๒ ประเภท และโรงงานที่มีมลพิษสูง ๑๔ ประเภท ๒) ยกเลิกการควบคุมระยะถอยร่น ริมแม่น้ำลำคลอง ๓) ยกเว้นการควบคุมที่ว่างตามแนวขนานริมเขตทาง และ ๔) พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมจะมีการแบ่งโซนในการควบคุมและพัฒนา 
    ส่วนระยะต่อไปเป็นการปรับปรุงโครงสร้างผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ทั้งหมด โดยรูปแบบใหม่ของผังเมืองรวมจังหวัดจะเป็นผังนโยบายการพัฒนาจังหวัด ประกอบด้วย ๑. ผังกายภาพ ซึ่งประกาศเป็นกฎกระทรวงฯ โดยกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น ๒ ประเภทหลัก คือ ๑) พื้นที่เขตส่งเสริมการพัฒนา หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพัฒนากิจกรรมในด้านต่างๆ โดยมีเงื่อนไขควบคุมให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา ๒) พื้นที่เขตสงวนและอนุรักษ์ จะแบ่งการใช้ที่ดินออกเป็น ๒ ส่วนหลัก คือ เขตสงวน เป็นเขตที่มีนโยบายและข้อจำกัดด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชัดเจน และมีความสำคัญที่จะต้องเก็บรักษาไว้ เช่น เขตป่าสงวนแห่งชาติ ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ เป็นต้น และเขตอนุรักษ์ เป็นเขตที่จำเป็นต้องรักษาสภาพธรรมชาติให้คงอยู่ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ อาจกันออกมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บริเวณแหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลองต่างๆ พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เป็นต้น และ ๒. ผังชี้นำการพัฒนา จะมีลักษณะเป็นกรอบการพัฒนาพื้นที่โดยรวม โดยชี้นำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้กับจังหวัด การเสนอแนะโครงการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่นให้แก่ผู้นำท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผังพัฒนาเศรษฐกิจ ผังบรรเทาปัญหาอุทกภัย เป็นต้น”


แจงผังเมืองรวมจังหวัด ๒ ฉบับ
    นายวิชัย ขจรปรีดานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าวจากภาคส่วนต่างๆ ว่า ผังเมืองรวมจังหวัดไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสภาพปัจจุบันของพื้นที่ จึงขอให้กรมฯ ดำเนินการให้เกิดสมดุลทั้ง ๓ ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะกำกับดูแล และส่งเสริมทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จึงมีการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัด และอนุกรรมการผังเมืองรวมระดับจังหวัดเพื่อให้ปรับปรุงผัง โดยมีข้อสรุปว่า ให้ปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดก่อนการประกาศบังคับใช้จำนวน ๓๖ จังหวัด และให้ประกาศบังคับใช้ไปก่อนแล้วจึงปรับปรุงผังภายหลังอีก ๓๖ จังหวัด ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็น ๑ ใน ๓๖ จังหวัดที่ถอนร่างกฎกระทรวงฯ ออกมาปรับปรุงก่อนการประกาศบังคับใช้ สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ฉบับที่จังหวัดดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาร่างผังเมืองรวมจังหวัด ก่อนปิดประกาศพร้อมข้อกำหนดภายใน ๙๐ วัน ส่วนผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ฉบับที่กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการ ขณะนี้เพิ่งเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจพื้นที่ภาคสนาม และจัดทำแผนที่พื้นฐาน ซึ่งผังเมืองรวมจังหวัดทั้งสองฉบับเป็นการทำคู่ขนาน  

 
นโยบายกับการพัฒนาจังหวัด
    ผศ.ดร.ดุษฎี ทายตะคุ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเมืองและการตั้งถิ่นฐาน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาวิจัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อทบทวนนโยบายระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อจังหวัดนครราชสีมา คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์และการขนส่งทางราง พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อขยายตลาดสู่อาเซียน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตร โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง ในการแปรรูปทางการเกษตรเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอล และส่งเสริมการท่องเที่ยวลุ่มอารยธรรมขอมในกลุ่มอีสานใต้ และประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ ปัจจัยภายในด้านทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และมีพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ แต่มีพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และเสี่ยงต่ออุทกภัย (น้ำท่วม) รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบ ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนา และไม่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน


จุดแข็งอุตสาหกรรม-เกษตร
    ผศ.ดร.ดุษฎี กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาว่า สาขาการผลิตที่เป็นจุดแข็งเมื่อเทียบกับระดับภาคอีสาน ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรม สาขาการบริการไฟฟ้าและประปา และสาขาโรงแรมและร้านอาหาร ขณะเดียวกันสาขาการผลิตที่นับว่ามีบทบาทสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศไทย ได้แก่ สาขาเกษตรกรรมและปศุสัตว์ สาขาก่อสร้าง สาขาการบริการในครัวเรือน และสาขาการศึกษา แต่ทั้งนี้ สาขาอุตสาหกรรม การบริการด้านการเงินการธนาคาร และการศึกษา มีการขยายตัวเร็วและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะมีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด ๑,๒๔๗ แห่ง และมีจำนวนแรงงาน ๔๙,๕๓๐ คน ขณะที่สาขาบริการไฟฟ้าและประปา และสาขาการบริการด้านสุขภาพและสังคม มีศักยภาพสูงในการพัฒนา ส่วนการค้าปลีก-ค้าส่ง โรงแรมและร้านอาหาร กลับขยายตัวช้าและเสียเปรียบในเชิงที่ตั้ง เป็นต้น           
    “สำหรับตำแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๑ คือ เป็นกองกำลังเสริมสร้างความมั่นคงทางทหารที่สำคัญในภูมิภาคและประเทศ, ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสีเขียว ประวัติศาสตร์ อารยธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น, ประตูเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และกระจายสินค้า, เป็นศูนย์กลางการศึกษาการแพทย์ และสาธารณสุข, แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และยั่งยืน, ศูนย์กลางพลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดของอาเซียนและศูนย์กลางอาหารปลอดภัย และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชั้นสูง” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเมืองและการตั้งถิ่นฐาน กล่าวในท้ายสุด 
เสนอข้อกำหนดริม‘ลำตะคอง’
    ทั้งนี้ ในช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ในพื้นที่แสดงความกังวล เรื่องการกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมารูปแบบใหม่ในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการคัดค้านการห้ามการขยายโรงงานอุตสาหกรรม ตามแนบท้ายกฎกระทรวงฯ บัญชีโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา) เสนอว่า ควรมีการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณริมลำตะคอง เช่นเดียวกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในลักษณะ Carrying Capacity คือ ระดับการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ที่ระบบนิเวศจะแบกรับได้ และการศึกษาความเป็นไปได้การออกใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่นเดียวกับกรณีการออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม  
เป้าวางผัง ๓๒ อำเภอ ๒๐ ปี
    จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองจะลงพื้นที่ระดมความคิดเห็นต่อ ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ จากกลุ่มอำเภอทางด้านทิศเหนือของจังหวัด ประกอบด้วย อำเภอพิมาย ขามสะแกแสง เฉลิมพระเกียรติ เมืองยาง แก้งสนามนาง โนนแดง คง จักราช ชุมพวง บัวใหญ่ บัวลาย บ้านเหลื่อม ประทาย พระทองคำ ลำทะเมนชัย สีดา ห้วยแถลง โนนไทย และโนนสูง ที่อำเภอพิมาย และในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ลงพื้นที่อำเภอสีคิ้ว เพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มอำเภอทางด้านทิศใต้ของจังหวัด ประกอบด้วย ปากช่อง, สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, ด่านขุนทด, เทพารักษ์, ปักธงชัย, วังน้ำเขียว, โชคชัย, ครบุรี, เสิงสาง และหนองบุญมาก โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ๓๘๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ – ๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ เพื่อจัดวางผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ๓๒ อำเภอ ๒๘๙ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน พร้อมทั้งมีเป้าหมายวางผังคาดการณ์ ๒๐ ปี


ฉบับที่ ๒๒๖๐ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๗


683 1343