19thApril

19thApril

19thApril

 

November 27,2014

เหลียวหลัง-แลหน้า สืบสานเจตนา มวลมหาประชาชน คนไทยใจเกินล้าน

   ๒๔ พ.ย.๒๕๕๖ หนึ่งปีที่แล้ว เป็นวันที่ประชาชนจำนวนหลายล้านคนได้ก้าวออกมาร่วมการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ในนาม “มวลมหาประชาชน คนไทยหัวใจเกินล้าน” 


    จุดนัดหมายศูนย์กลางชุมนุมในวันนั้น อยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย ปรากฏว่า คลื่นมวลมหาประชาชนแน่นขนัด ล้นหลาม เนืองนองไปสู่อาณาบริเวณโดยรอบทุกทิศทาง
    บันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการชุมนุมของประชาชน
    เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องมาจากการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ณ บริเวณสถานีรถไฟสามเสน เริ่มต้นชุมนุมเมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค.๒๕๕๖ ก่อนจะย้ายเวทีมาปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ ๔ พ.ย.๒๕๕๖ 
    ๒๔ พ.ย.๕๖ วันที่มวลมหาประชาชน คนไทยใจเกินล้าน นัดชุมนุมใหญ่ เพื่อประกาศท่าทีต่อต้านการนิรโทษกรรมแบบเหมาโหลยกเข่ง สุดซอย แม้พรรครัฐบาลขณะนั้นจะอ้างว่าถอนร่างออกไปแล้วแต่ก็ยังเปิดช่องให้สามารถนำกลับเข้ามาสู่การพิจารณาได้อีก สะท้อนถึงความไม่จริงใจ
    หลังจากนั้น วันที่ ๙ ธ.ค.๒๕๕๖ ก็มีการชุมนุมใหญ่ โดยครั้งนี้ ทำเนียบรัฐบาลกลายได้เป็นศูนย์กลางการชุมนุมมวลมหาประชาชนเข้าร่วมชุมนุมแน่นขนัดบนถนนทุกสายที่ทอดออกจากทำเนียบฯ แม้นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจะประกาศยุบสภาในช่วงเช้าตรู่ แต่มวลมหาประชาชนก็ยังเดินออกมาร่วมชุมนุมแน่นขนัด เพราะเห็นชัดว่าเป็นเพียงความพยายามจะใช้การยุบสภาเป็นเครื่องมือเอาตัวรอดทางการเมือง และอาศัยประชาธิปไตยจอมปลอมเป็นหน้าฉากยึดครองอำนาจรัฐต่อไป
    กระทั่งวันที่ ๑๓ ม.ค. ๒๕๕๖ มวลมหาประชาชนจึงได้จัดการชุมนุมกระจายเป็น ๕ เวทีหลัก ในพื้นที่กรุงเทพฯ  ปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก สีลม ลาดพร้าว และเวทีถนนแจ้งวัฒนะ 
    
    ๑) “เหลียวหลัง-แลหน้า” พิจารณาเหตุปัจจัยที่ทำให้คนออกมาชุมนุมจำนวนมหาศาล กลายเป็นมวลมหาประชาชน เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
    ๑.๑ ผู้มีอำนาจกระทำการใช้อำนาจรัฐจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ตนเองและพวกพ้อง “สุดซอย” ประชาชนผู้มีใจรักความเป็นธรรมรับไม่ได้กับความ “อยุติธรรม” และความหน้าด้าน ไร้ยางอายของนักการเมือง
    ๑.๒ ผู้มีอำนาจเกิดความหลงอำนาจ กระทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เพื่อหวัง                 ต่อยอด เสริมฐานอำนาจเบ็ดเสร็จแก่ตนเอง 
    ๑.๓ มวลมหาประชาชนปฏิเสธความรุนแรงอย่างชัดเจน ไม่ปลุกระดมส่งเสริมหรือมุ่งใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว ทำให้การชุมนุมที่มีคนออกมารวมกันหลายล้านคนไม่มีการบุกไปเผา บุกไปทำลาย หรือบุกไปใช้ความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเมื่อถูกฝ่ายอำนาจรัฐกระทำด้วยความรุนแรง ถูกลอบยิง ถูกลอบปาระเบิด ก็ไม่ใช่ความรุนแรงโต้ตอบ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธา เดินออกมาร่วมเคลื่อนไหวอย่างเต็มใจ

    ๒) สืบสานเจตนารมณ์ของการชุมนุม “มวลมหาประชาชน” 
    เมื่อมีการชุมนุม ๒๔ พ.ย.๒๕๕๖ ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม หลังจากนั้น ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ รัฐบาลยุบสภา แต่ประชาชนก็ยังออกมาชุมนุมล้นหลาม สะท้อนชัดว่ารู้ทันประชาธิปไตยจอมปลอม 
    เมื่อรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้ง ๒ ก.พ. ๒๕๕๗ มวลมหาประชาชนก็ยังร่วมชุมนุมต่อเนื่อง สู้ไม่ถอย และประกาศชัดแจ้งว่า ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 
    การชุมนุมของมวลมหาประชาชนคนไทยใจเกินล้าน ที่ชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน และทรงพลังยิ่งใหญ่ จึงประกาศไว้ซึ่งเจตนารมณ์ชัดเจนว่า “ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” 
    หากเดินไปสู่การเลือกตั้ง ภายใต้บริบททางการเมืองแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญๆ ย่อมจะเป็นการสูญเปล่า เหนื่อยเปล่า เสียของ วนเวียนกลับมาสู่วัฏจักรแห่งการลุแก่อำนาจของนักการเมืองซ้ำซากอยู่เช่นเดิม ประชาธิปไตยจอมปลอมเหมือนเดิม โดยมีการเลือกตั้งเป็นเพียง                                                                    เสื้อคลุมเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่รับใช้นายทุนสามานย์ 
    หากต้องการสืบสานเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน จะต้องปฏิรูปให้ได้ก่อน ค่อยไปเลือกตั้ง

    ๓) แม่น้ำแห่งการปฏิรูปทั้ง ๕ สาย ควรเหลียวหลัง-แลหน้า อย่างไร?
    ปัจจุบัน มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐและการปฏิรูปประเทศ ๕ องค์กร 
    เรียกว่า แม่น้ำ ๕ สาย ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรธน.) 

    ๓.๑ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล (ครม.) พึงตระหนักถึงบทเรียนจากปรากฏการณ์ “มวลมหาประชาชน” ที่ผ่านมา โดยไม่กระทำผิดซ้ำกับที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นเคยกระทำ เช่น 
    การนิรโทษกรรม หรือการปล่อยให้ผู้กระทำผิดร้ายแรงต่อประเทศชาติลอยนวล ถึงขนาดจะสามารถกลับมามีอำนาจรัฐได้อีกครั้ง ย่อมจะเป็นเชื้อปะทุ ทำให้ประชาชนผู้มีใจรักความเป็นธรรมเกิดความรู้สึกต่อต้าน 
    อย่าให้มีการหลงในอำนาจ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง ควรใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” 
    อย่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน หากบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานของความจริง ซื่อตรง เปิดเผย ทำให้สังคมได้เข้าใจถึงเจตนาของการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละเรื่อง มิใช่เพื่อรักษาอำนาจของตนเองอย่างเดียว
 
    ๓.๒ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรธน.) สิ่งที่ควรจะเรียนรู้จากบทเรียนของประเทศในช่วง ๑ ปี ที่ผ่านมา? 
    ทั้ง ๓ องค์กรเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิรูปบ้านเมือง ควรจะเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างระบบการเมืองที่ทำให้เกิด “ประชาธิปไตยจอมปลอม” จะต้องนำพาการเมืองไทยหนีออกไปจากประชานิยมหรือการใช้เงินรัฐซื้อเสียงเลือกตั้ง หนีออกไปจากความไม่ยุติธรรมเชิงโครงสร้างทั้งหลาย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งสร้างความทัดเทียมกัน สร้างความเป็นธรรม สร้างหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม 
    เร่งปฏิรูประบบตำรวจ ระบบการเมือง และวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ทำให้เกิดความอยุติธรรมในสังคม
    ทั้งหมดนี้ พึงตระหนักว่า ประชาชนจำนวนมหาศาลได้แสดงพลังขับเคลื่อน “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมหาศาล สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองไทยและของโลก กระทั่งการเมืองไทยต้องเปลี่ยนโฉมหน้า นำมาสู่ความจำเป็นของภารกิจการปฏิรูปในวันนี้
    แม่น้ำทั้ง ๕ สาย จึงมีทั้งพันธกิจและภารกิจสำคัญในการ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” 
    เพราะฉะนั้น... 
    ๑.อย่าเพิ่งประกาศวันเลือกตั้ง เพราะต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หากด่วนกำหนดวันเลือกตั้งเสียก่อน ก็จะมีข้าราชการเกียร์ว่าง สั่งอะไรก็ไม่ทำ ไม่เถียงแต่ไม่ทำ ทำให้บ้านเมืองไม่เดินไปไหน ไม่เกิดการปฏิรูปในที่สุด 
    ๒.การปฏิรูปจะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ตัดขาดจากประชาชน แม้คนในแม่น้ำ ๕ สาย ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนที่ออกมานอนกลางดินกินกลางถนนกับประชาชน แต่พึงอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังเสียงแห่งการปฏิรูปจากประชาชน อย่าคิดว่าตนเองมีอำนาจแล้วจะคิดอ่านทำตามอำเภอใจไปเสียทุกเรื่อง     
    ต้องฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงฟังปลอมๆ ฟังพอเป็นพิธีกรรม ฟังเพียงเพื่อให้ประชาชนได้รู้สึกว่าฟังเท่านั้น หากจะต้องมีระบบรวบรวมความเห็นประชาชนจริงๆ มีหลักวิชา มีกระบวนการการมีส่วนร่วม มีประจักษ์พยาน ฟังทุกกลุ่ม สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าได้รับฟังเสียงจากประชาชนจริงๆ “ฟังและได้ยิน” 
    ๓.จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปโดยทันที มิฉะนั้นยากที่จะทำให้ประชาชนที่ส่วนใหญ่นิยมในประโยชน์เฉพาะหน้าเห็นดีเห็นงามกับการปฏิรูป
    ๔.ฝ่ายที่ไม่ต้องการปฏิรูป หรือขัดขวางการปฏิรูป ส่วนหนึ่งก็คือคนที่เคยได้ผลประโยชน์อยู่กับระบบเดิม จึงพึงพอใจที่จะอยู่กับสภาพบ้านเมืองแบบเดิมๆที่เป็นปัญหา อยู่กับประชาธิปไตยจอมปลอม อยู่กับระบบอุปถัมภ์ หรืออยู่กับนายทุนการเมืองสามานย์ กระบวนการปฏิรูปควรทำให้เกิดผลปรากฏชัดเจนแพร่หลายว่า หากปฏิรูปแล้ว ประเทศชาติ ประชาชน และสังคมส่วนรวม จะมีสภาพดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาอย่างไร
    แม่น้ำ ๕ สาย จะไม่คงอยู่ตลอดไปทำอย่างไรจะให้ผืนแผ่นดินไทยได้โอบรับกระแสธารแห่งการปฏิรูปเอาไว้ เพื่อแตกหน่อ เติบโต หยั่งรากลึก และผลิดอกออกผลต่อไปในระยะยาว

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ฉบับที่ ๒๒๖๐ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๗


694 1348