16thApril

16thApril

16thApril

 

December 22,2014

‘ราชสีมาวิทยาลัย’สนั่นปฐพี พิชิตแพทย์ ๓ สถาบัน แชมป์โยธวาทิตขั้นแรก

   สอบติดแพทยศาสตรบัณฑิต ๔๑ ที่นั่ง ๓ มหาวิทยาลัยดัง ‘บุญเลิศ พ่วงเพ็ชร’ ผอ.บุญหล่นทับ เตรียมหางบทำห้องแล็บ เด็กเก่งจากห้องเรียนปกติเปิดใจล้มแล้วลุกหลายครั้ง ใฝ่ฝันอยากเป็นอายุรแพทย์/แพทย์รังสี ด้าน ‘วงโยธวาทิตราชสีมาวิทยาลัย’ ทะยานฟื้นจากสลบ กลับวางเป้าหมายคว้าถ้วยรางวัลใหญ่ขึ้น แต่ขาดงบประมาณสนับสนุน หลังห่างหายผลงาน ๒๕ ปี ล่าสุดคว้าแชมป์โยธวาทิตนานาชาติ ชูคอนเซ็ปต์บรรเลง “อีสานโมเดิร์น” 

    หลังปรากฏข่าว นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ (ม.๖) ของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย สามารถสอบเข้าศึกษาต่อหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ได้จำนวนมากถึง ๔๑ ที่นั่ง จากจำนวนนักเรียน ม.๖ ของโรงเรียนทั้งหมด ๖๐๐ คนที่สมัครสอบ ทำให้มีเสียงชื่นชมและแสดงความยินดีจากสังคมตามมา เพราะ “ราชสีมาวิทยาลัย” หรือ ร.ส. (น.ม. ๑ ในอดีต) จัดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทชายล้วน และเปิดรับนักเรียนชาย-หญิงเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผลิตบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในหลายสาขาอาชีพ ถือว่ามีเกียรติประวัติทางการศึกษาสูงเด่นเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน แต่แย่ลงเมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว มีเสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ปกครองและศิษย์เก่าถึงผลงานทางวิชาการไม่เป็นที่ประจักษ์ ทั้งยังมีการร้องเรียนของผู้ปกครองนักเรียน กรณีเรียกเก็บค่าเล่าเรียนหลักสูตรพิเศษแพงเกินจริง รวมทั้งการประท้วงความไม่โปร่งใสในการบริหารและพัฒนาโรงเรียน จึงทำให้ผู้ปกครองไม่นิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเหมือนในอดีต 

นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร 
ผู้อำนวยการ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย


ผอ.ใหม่ปลื้ม(ว่าที่)แพทย์
    เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงผลงานของลูกแสดขาวว่า ปัจจุบันโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ม.๑-ม.๖ จำนวนทั้งหมด ๓,๘๖๒ คน ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง ๔๕ วัน รู้สึกดีใจที่นักเรียนระดับชั้น ม.๖ สามารถสอบเข้าหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตได้มากถึง ๔๑ ที่นั่ง ต้องขอบคุณอาจารย์ผู้สอนทุกคน รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และผู้ปกครอง เพราะความสำเร็จครั้งนี้นักเรียน ม.๖ ที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้นั้น มีทั้งห้องเรียนพิเศษ โครงการการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูและของมทส. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วมว.), ห้องเรียนพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์(พวค.) เป็นห้องเรียนพิเศษที่ทางโรงเรียนดำเนินการคัดสรรนักเรียน และห้องเรียนปกติ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดอันดับจึงบ่งชี้ไม่ได้ว่าโรงเรียนฯ สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้เป็นอันดับต้นของประเทศ หรือระดับภูมิภาคหรือไม่ แต่ถือว่ามีจำนวนมาก โดยเฉพาะห้องเรียนพิเศษ วมว. ทางมทส. สรุปสถิติออกมาแล้วว่า โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ได้จำนวนมากถึง ๑๙ คน อยู่อันดับต้นของการสอบคัดเลือกครั้งนี้ อีกทั้งยังสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตแพทย์ระดับประเทศที่นักเรียนทุกคนใฝ่ฝัน 

 

กู้ชื่อเสียง ๑๑๕ ปีโรงเรียน
    “ที่ผ่านมาก็มีข้อมูลในด้านไม่ดีหลายประการเหมือนกัน และสัมฤทธิ์ผลทางวิชาการดังกล่าวตนไม่ได้มีเจตนาโฆษณาโรงเรียนมากมาย แต่เนื่องจาก “ราชสีมาวิทยาลัย” ในปีนี้ครบรอบการสถาปนา ๑๑๕ ปี จึงแถลงข่าวและประชาสัมพันธ์ผลงานทางวิชาการ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.๖ ของโรงเรียน นอกจากสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้แล้ว ยังสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี นานาชาติ สิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะเทคโนโลยีและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งนี้ โรงเรียนไม่ได้มีผลงานทางวิชาการเพียงแค่ปีนี้เท่านั้น ที่ผ่านมานักเรียนก็สร้างผลงานทางวิชาการต่อเนื่อง” ผอ.บุญเลิศ กล่าว

 

เตรียมยกระดับเปิดห้องแล็บ
    จากสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาในข้างต้น ก้าวต่อไปของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ผอ.บุญเลิศ กล่าวว่า จากที่มีห้องเรียนพิเศษ วมว. เพียง ๑ ห้อง โดยมีนักเรียนห้องละ ๓๐ คน เรียนสัปดาห์ละ ๓ วัน จันทร์-พุธ อีกส่วนก็เรียนอยู่ในห้องพิเศษในโรงเรียนปกติ ทำให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มีนักเรียนสอบเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยชื่อดังมากถึง ๔๑ คน ปีหน้าตั้งใจว่าจะเพิ่มห้องเรียนพิเศษ วมว. เป็น ๒ ห้อง เพื่อรองรับนักเรียนจำนวน ๖๐ คน ถ้ามีงบประมาณก็จะพัฒนาโรงเรียนให้มีห้องแล็บวิทยาศาสตร์ โดยพัฒนาอาคาร ๑ ทั้งหมดเลยให้เป็นห้องเรียนพิเศษ และมีความพร้อมด้านการศึกษาและทดลองด้านวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญคือเด็กรุ่นใหม่เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องส่งเสริมให้มีจิตสาธารณะช่วยเหลือสังคมด้วย เพราะว่าคนทุกวันนี้มีจิตสาธารณะน้อยลง 
    “คิดว่าจากผลงานทางวิชาการที่ปรากฏน่าจะเพิ่มปริมาณนักเรียนให้สมัครและสอบเข้าเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น นับจากนี้ไปคาดว่าจะมีเด็กนักเรียนมาแย่งกันเข้าเรียนต่อเหมือนในอดีต” ผอ.บุญเลิศ กล่าวอย่างมั่นใจ
ติดแพทย์ ๓ มหาวิทยาลัยดัง
    สำหรับรายชื่อนักเรียนชั้น ม.๖ ที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ จากจำนวนทั้งสิ้น ๔๑ ที่นั่งนั้น ในจำนวนนี้มีนักเรียนหลายคนที่สอบเข้าได้มากกว่า ๑ มหาวิทยาลัย แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล ระบบรับตรง (มหิดลเพื่อชนบท) จำนวน ๑๗ คน ดังนี้ ๑. นายณัฐธนินทร์ ปิคตานัง ๒. นายก้องเกียรติ กองกาญจนะ ๓. นายธิติ เหลืองเจริญทรัพย์ ๔. นายภูมิ ตติยนันทพร ๕. นายวิรัตน์ ทองคลี่ ๖. นายวรวิชญ์ วัฒนาวงศ์เสถียร ๗. นายภูริน สถิโรภาส ๘. นายชินวงศ์ วงศ์สถิตพร ๙. นายพีรพิชญ์ เบ้าสาธร ๑๐. นายปฎิพล บูรณรัช ๑๑. นายศุภกร จำปามูล ๑๒. นายบัญญวัต ชอบใจ ๑๓. นายนรภัทร์ ชื่นชม ๑๔. นางสาวสุวพัชร เจียมจังหรีด ๑๕. นางสาวภานิชา บุญฤกษ์ ๑๖. นางสาวมา     ธวี วิไลสกุลยง และ ๑๗. นายฐานันดร ฤทธิสนธิ์ 
    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน ๑๙ คน ดังนี้ ๑. นายก้องเกียรติ กองกาญจนะ ๒. นายภูรินท์ สถิโรภาส ๓. นายศุภกร จำปามูล ๔. นายจิรวิน ปะติโก ๕. นายนรภัทร ชื่นชม ๖. นายภูมิ ตติยนันทพร ๗. นายวรวิชญ์ วัฒนาวงศ์เสถียร ๘. นายชินวงศ์ วงศ์สถิตพร ๙. นายพีรพิชญ์ เบ้าสาธร ๑๐. นายบัญญวัต ชอบใจ ๑๑. นายวิรัตน์ ทองคลี่ ๑๒. นายเจษฎากร บุญจันทร์ ๑๓. นายขจรวิทย์ สายวงษ์ ๑๔. นางสาวสุวพัชร เจียมจังหรีด ๑๕. นางสาวมาธวี วิไลสกุลยง ๑๖. นางสาวณัฐวดี โพธิ์ขาว ๑๗. นางสาวภานิชา บุญฤกษ์ ๑๘. นางสาวธัญวรัตม์ ใจโพธิ์ และ ๑๙. นายปฎิพล บูรณรัช 
    มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แพทย์ MD 02 และโครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางวิชาการ (DTX) จำนวน ๕ คน ดังนี้ ๑. นางสาวธัญวรัตม์ ใจโพธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ๒. นายวรวิชญ์ วัฒนาวงศ์เสถียร คณะแพทยศาสตร์ ๓. นายก้องเกียรติ กองกาญจะ คณะแพทยศาสตร์ ๔. นายธนภัทร จุฑาจันทร์ คณะแพทยศาสตร์ และ ๕. นายบัญญวัต ชอบใจ คณะทันตแพทย์ (DTX) 

 

อ.พูนจิตร วนาภรณ์ กับก้องเกียรติ กองกาญจนะ ติดแพทย์ ๓ มหาวิทยาลัย

‘น้องกัน’พิชิต ๓ มหาวิทยาลัย
    นายก้องเกียรติ(กัน) กองกาญจนะ อายุ ๑๘ ปี นักเรียนชั้น ม.๖/๔ ข. ห้องเรียนปกติของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ที่สามารถพิชิตคณะแพทยศาสตร์ได้ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัย กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ผมเป็นคนโคราชโดยกำเนิด คุณพ่อมีตำแหน่งและชื่อว่า พลตรีนุกูล กองกาญจนะ รับราชการทหาร ส่วนคุณแม่ นางอมรศรี กองกาญจนะ เป็นแม่บ้าน ผมมีพี่น้องสามคน เป็นลูกชายคนที่สอง ผมมีความใฝ่ฝันอยากเรียนแพทย์ตั้งแต่แรก หลังจากจบชั้น ม.๓ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา จึงสมัครสอบเข้าชั้น ม.๔ ห้องเรียนพิเศษ วมว. ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เพราะมองว่าจะตอบสนองให้สามารถสอบติดแพทย์ แต่เมื่อผลสอบออกมาปรากฏว่าสอบไม่ติดห้องพิเศษ จึงได้เรียนห้องปกติ ต้องขอบคุณอาจารย์แนะแนว และอาจารย์ผู้สอนทุกท่านที่ใส่ใจกับเด็กนักเรียนห้องปกติทุกคน โดยเฉพาะครูประจำชั้นที่ทำให้รู้จุดบอดของตัวเองว่า จากที่ชื่นชอบวิชาเคมีอย่างมาก แต่ภาษาอังกฤษผมบอด จึงลงเรียนพิเศษเกือบทุกที่แต่ก็ไม่ได้ผล จากนั้นหันมาพัฒนาและฝึกฝนด้วยตัวเองกว่า ๒ ปี และสามารถสอบติดคณะแพทยศาสตร์ได้ถึง ๓ มหาวิทยาลัย ทำให้ผมคิดได้ว่าการเรียนพิเศษไม่ช่วยอะไรมากนัก แต่ในห้องต้องเรียนให้ดี ทำความเข้าใจ เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และนำกลับไปฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ   
    หลังจากตัดสินใจเลือกศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก้องเกียรติ บอกว่า “ผมอยากเรียนอายุรแพทย์ หรือแพทย์รังสี สำหรับน้องๆ ที่ต้องการสอบเข้าคณะที่ใฝ่ฝัน ไม่เฉพาะแพทย์เท่านั้น ขอให้ลุกขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง เพราะผมล้มบ่อย แล้วก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่าอะไรเป็นจุดบอดและจุดแข็งของตัวเอง และต้องประเมินความสามารถตัวเองก่อนว่าไปได้แค่ไหน จากนั้นก็พยายามไปให้ถึง ไม่ต้องไปกลัวอะไร ไม่ต้องคิดว่าใครจะเก่งกว่าเรา แค่คิดว่าเราไปถึงจุดหมายก็พอ มาเรียนที่นี่ผมมีเพื่อนที่ดีและหลากหลาย ได้เรียนรู้พวกเขา และเขาก็ได้เรียนรู้ผม ซึ่งพวกเราได้แบ่งปันซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องพิเศษ แต่ห้องธรรมดาก็ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ถ้ามีความตั้งใจ”  


ไม่ย่อท้อ..เรียนเก่ง-แบ่งปัน
    ด้านอาจารย์พูนจิตร วนาภรณ์ อาจารย์ประจำชั้น ม.๖/๔ ข. กล่าวว่า เราสู้ด้วยกันมาตลอด น้องกันมากับความคาดหวัง เพราะสอบมัธยมต้นเป็นอันดับต้นของโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา แต่ครูเป็นพยาบาลมาก่อนจึงใช้หลักจิตวิทยาพูดคุยกับเขาหลังโฮมรูม แล้วบอกว่า “กัน” อย่าท้อ ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรียนห้องเรียนอะไร เราก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ถ้ามุ่งมั่น จากนั้นน้องกันก็เริ่มปรับตัวและเข้ากับเพื่อนได้ดี เราลุยด้วยกันตั้งแต่ปิดเทอม โดยแนะแนวให้น้องกันซื้อหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และให้ทำโจทย์ข้อสอบทุกวัน เพราะครูชอบเปิดอินเทอร์เน็ตหาความรู้ แม้ไม่ได้จบสายครูมาโดยตรง แต่มองว่าเด็กต้องได้รับการพัฒนาและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครูเคยลองทำกับลูกชาย ซึ่งขณะนี้กำลังเรียนชั้นปีที่ ๒ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกล้าบอกว่าสนามไหนก็ไม่พลาดถ้าทำได้แบบนี้ กระทั่งน้องกันประสบความสำเร็จ
    “น้องกันเป็นโมเดลที่อยากให้เด็กรุ่นน้องปฏิบัติตาม เขาทำให้เราค้นพบว่า สิ่งที่เราพยายามปลูกฝังเขามันเป็นจริง และเป็นกำลังใจให้ครู เพราะต้องอยู่กับเด็กรุ่นน้องอีกหลายรุ่น ซึ่งนอกจากความเรียนเก่งแล้ว น้องกันยังมีน้ำใจแบ่งปันหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้แล้วมาให้เพื่อนร่วมห้อง เพราะเด็กราชสีมาวิทยาลัยบางคนไม่ได้มีความพร้อมทุกคน บางครั้งไปทานข้าวก็เจอลูกศิษย์มาเสิร์ฟอาหารให้ จึงสอนเขาให้ภูมิใจว่า ยังมีอีกหลายคนไม่มีโอกาส ในฐานะครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อยากให้ลูกศิษย์ทุกคนค้นหาตัวเองและมีเป้าหมายที่ชัดเจน จากนั้นเดินตามเป้าหมายที่วางไว้ทีละขั้นๆ เช่น อยากเป็นแพทย์ วิศวกร หรือผู้สื่อข่าว เป็นต้น ต้องวางแผนอย่างไร ซึ่งวันนี้ไม่เฉพาะน้องกัน แต่นักเรียนในห้องเดียวกันอีก ๒ คน ยังสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ (อินเตอร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทุนการศึกษา มทส. ศักยบัณฑิต” อาจารย์พูนจิตร กล่าว


รับรางวัลแชมป์วงโยธวาทิต

คว้าแชมป์วงโยธวาทิต
    ไม่ใช่แค่ผลงานทางวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น แต่ “วงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย” ยังสามารถคว้า “รางวัลชนะเลิศ ระดับ International Thailand World Music Championship 2014 ประเภท Brass battle” ในการแข่งขันวงโยธวาทิตโลก ครั้งที่ ๕ ประจำปี ๒๕๕๗ Thailand World Music Championships 2014 (TWMC 2014) เมื่อวันที่ ๒-๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ สนามไอ-โมบาย สเตเดี้ยม จังหวัดบุรีรัมย์ โดยจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสมาคมการวงโยธวาทิตโลก ประเทศไทย และสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด จัดการประกวดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยกระดับมาตรฐานการประกวด วงโยธวาทิตโลกของประเทศไทยสู่สากล และเป็นศูนย์กลางการประกวดในภาคพื้นเอเชีย 

อาจารย์จริยวรรณ ยินดีรัมย์ ผู้ควบคุมการฝึกสอน กับนักเรียนบางส่วนในวงโยธวาทิต


ชูคอนเซ็ปต์‘อีสานโมเดิร์น’
    อาจารย์จริยวรรณ ยินดีรัมย์ ผู้ควบคุมการฝึกสอน กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า วงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยห่างหายจากการประกวดมานาน จากที่เคยสร้างชื่อเสียงระดับโลกเมื่อปี ๒๕๓๒ คือ การประกวดดนตรีโลก ณ เมืองเกอร์กาเด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทดิสเพลย์และมาร์ชชิ่ง ซึ่งครูก็เป็นหนึ่งในนั้น สำหรับวงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า ๖๐ คน ประกอบด้วย นักเรียนชั้น ม.๑-ม.๕ ซึ่งนอกจากครูแล้ว ยังมีอาจารย์เอกพล ประเสริฐศิลป์ ทำหน้าที่ผู้ควบคุมวง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราจะเข้าค่ายฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าอยู่โรงเรียนมากกว่าบ้าน ความสำเร็จที่ได้มาผ่านการฝึกซ้อมเป็นปี มีเป้าหมายในแต่ละสัปดาห์ที่ทำการฝึกซ้อม กระทั่งสามารถคว้ารางวัลดังกล่าวได้ โดย Drum Corps International (DCI) ประเทศสหรัฐอเมริการับรองการจัดการประกวด และส่งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ มีวงโยธวาทิตจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และประเทศไทย จำนวน ๔๔ วง และวงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยสามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ประเภท Brass battle ซึ่งชนะรุ่นใหญ่อย่างมรภ.มหาสารคามได้ โดยครูและอาจารย์อีกคนได้ร่วมกันวางคอนเซ็ปต์ “อีสานโมเดิร์น” ซึ่งนอกจากการ battle จังหวะสนุกสนานแบบลูกทุ่งแล้ว การแต่งกายยังเน้นสีสัน รวมถึงทรงผมมหาดไทยด้วย ตรงนี้เป็นจุดเด่นของทีมทำให้กรรมการจากต่างประเทศชอบ  


 

ธงขยับถ้วยรางวัลใหญ่ขึ้น 
    อาจารย์จริยวรรณ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ สามารถคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในงานมหกรรมการแข่งขันสุดยอดวงโยธวาทิตระดับนานาชาติ Beach Parade ประจำปี ๒๕๕๕ ที่เมืองพัทยา และรางวัลชนะเลิศ ประเภท ง. หรือวงขนาดเล็ก การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นักศึกษา ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ ๓๓ ประจำปี ๒๕๕๗ ที่สนามกีฬาศุภชลาศัย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป้าหมายต่อไป คือการขยับถ้วยรางวัลเป็นประเภท ค. ซึ่งรางวัล ประเภท ก. ข. ค. ง. ต่างกันที่จำนวนคนกับจำนวนเครื่องดนตรีบรรเลง เพราะฉะนั้น ถ้าจะยกระดับเพื่อคว้าประเภท ก. หรือ ข. ได้นั้น ต้องสะสมเด็กและทุ่มงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีและอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม จากที่ผ่านมาในสมัยผอ.อุทัย หวังอ้อมกลาง โรงเรียนจัดสรรงบประมาณกว่า ๑๐ ล้านบาท ซื้อเครื่องดนตรีมาจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ถ้าจะกลับมาสร้างชื่อเสียงระดับโลกอีกครั้ง คงต้องทุ่มงบประมาณซื้อเครื่องดนตรีและอุปกรณ์เพิ่มอีกหลายสิบล้านบาท และต้องใช้เวลาฝึกซ้อมเด็กอีกกว่า ๒ ปี 
    “กิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้เป็นการพัฒนาทางด้านทักษะ สังคม และสมาธิ เด็กกลุ่มนี้จึงต้องเสียสละเวลามากกว่าเด็กปกติทั่วไป เพราะต้องเรียนและฝึกซ้อมดนตรีด้วย และไม่ใช่เล่นดนตรีอย่างเดียว ต้องแบ่งเวลารับผิดชอบตัวเองและไม่ทิ้งการเรียนด้วย ครูจะเน้นมากเรื่องนี้ แต่ละเทอมจะเช็คผลการเรียนไม่ให้ตกหล่น ที่สำคัญคือ ระหว่างฝึกซ้อมทุกอย่างต้องเป็นระบบ มีทั้งความมานะ และมีวินัย เพราะคำว่า “ความสำเร็จ” ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่การได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ให้กับคณะกรรมการ DCI ระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ถือว่าเราประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว” 
แบ่งเวลาเรียน-เล่นดนตรี
    นายธิติวุฒิ กษมาวุฒิ อายุ ๑๖ ปี นักเรียนชั้น ม.๔/๔ หนึ่งในทีมวงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณพ่อและแม่ทำไร่อ้อย และสวนยางพารา ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เหตุที่สนใจด้านนี้เพราะเป็นการฝึกใช้สมาธิและทักษะในการบรรเลงดนตรีหลายด้าน ผมสมัครเข้าวงมาตั้งแต่ ม.๑ เริ่มจากการเป่า Clarinet (คาร์ลิเนต) ปัจจุบันเล่น Tuba (ทูบา) เป็นเครื่องดนตรีที่มีท่อลมขนาดใหญ่ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวปกติแตรทูบาทำหน้าที่เป็นแนวเบส ให้แก่กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง หากแบ่งเวลาและมีระเบียบวินัยกับตนเองก็ไม่ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ เพราะเทอมที่ผ่านมาผมก็ได้เกรดเฉลี่ย ๓.๗๖ และยังเคยได้ผลการเรียนเฉลี่ยถึง ๔.๐๐ 
    จากนั้น ‘โคราชคนอีสาน’ ติดตามไปดูการฝึกซ้อมของวงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยสมาชิกในวงทุกคนซึ่งล้วนเป็นนักเรียนชายทั้งสิ้น ต่างขอให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดและประเทศสู่ระดับสากล โดยมีคำพูดของเด็กตอนหนึ่งว่า “...ถ้าไม่มีวงโยธวาทิตก็ไม่มีคนบรรเลงเพลงชาติ...” 
    นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวในท้ายสุดว่า “จะสนับสนุนวงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยต่อไป เพราะเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน และอยากส่งเสริมเด็กที่มีใจรักด้านดนตรี ซึ่งตนพร้อมที่จะส่งเสริมลูกแสดขาวทุกคน ทั้งฟุตบอล หรือแม้แต่การประกวดร้องเพลง เพราะทุกวันนี้มีอาชีพหลากหลายสาขา ไม่จำเป็นต้องมุ่งศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น ล่าสุดจึงเตรียมจัดสรรงบประมาณตัดชุดให้กับวงโยธวาทิตของโรงเรียนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากชุดเดิมเก่ามากแล้ว” 
    “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ความสำเร็จในครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูอาจารย์ผู้สอนมีส่วนสำคัญยิ่ง เรามาติดตามกันต่อไปว่า “ราชสีมาวิทยาลัย” จะกลับมายืนระยะผู้นำได้นานเท่าไร


ฉบับที่ ๒๒๖๕ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗


704 1345