25thApril

25thApril

25thApril

 

December 22,2014

รองนายกฯพบผวจ.นครชัยบุรินทร์ สั่งรับมือสถานการณ์ภัยแล้งเต็มที่

  รองนายกรัฐมนตรี ‘ยงยุทธ’ ตรวจราชการนครชัยบุรินทร์ ‘ผู้ว่าฯเบิร์ด’ เผยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ๒๑๒,๖๕๒ ล้านบาท จัดอยู่อันดับที่ ๑๐ ของประเทศ พร้อมรับมือภัยแล้ง ‘ชัยภูมิ’ บุกรุกป่ายังเป็นปัญหาใหญ่ ‘บุรีรัมย์’ ดันเมืองกีฬามาตรฐานโลก ชูปัจจัย ๙ ประการรองรับ ‘สุรินทร์’ ยังขาดถนน ๔ ช่องจราจร

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา นำรองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา

    เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครราชสีมา นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังรายงานของจังหวัด ในเขตตรวจราชการที่ ๑๔ ประจำปี ๒๕๕๗ และมอบนโยบายการปฏิบัติราชการในภูมิภาคประจำปี ๒๕๕๘ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดนครชัยบุรินทร์เข้าร่วมรายงานการดำเนินการด้านต่างๆ ได้แก่ นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ, นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และนายเฉลิมพล พลวัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ 


‘โคราช’พร้อมรับมือภัยแล้ง
    นายธงชัย(เบิร์ด) ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปว่า จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ๒๑๒,๖๕๒ ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ ๑๐ ของประเทศไทย อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖) ร้อยละ ๒.๖ รายได้เฉลี่ยต่อหัว ๑๐๔,๗๙๐ บาท เป็นอันดับที่ ๔๐ ของประเทศไทย และอันดับ ๒ ของภาคอีสาน รองจากจังหวัดขอนแก่น ๑๐๖,๕๘๓ บาทต่อคนต่อปี อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ ๓.๑ อยู่ในอันดับ ๓๖ ของประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญและเร่งรัดการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลทุกด้าน โดยเฉพาะในส่วนผลการดำเนินงานสำคัญเร่งด่วน ๓ ประการดังนี้ ๑. การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ณ อาคารศาลากลางจังหวัดชั้น ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยจัดบริการและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ อาทิ การชำระค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา/ภาษีรถยนต์/งานทะเบียนและบัตร มีผลดำเนินงาน ๑๐,๕๔๙ ราย รวมถึงการรับร้องเรียนหรือร้องทุกข์จำนวน ๙๐๕ ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ ๖๗๓ ราย ยุติเรื่อง ๒๓๒ เรื่อง สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญโดยใช้หลักการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ปกครอง และป่าไม้ คือการสนธิกำลังปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในจำนวนนี้มีราษฎรผู้ยากไร้ที่ถูกเคลื่อนย้ายออกมาพักอาศัยอยู่ชั่วคราวที่บ้านบ่อลิง ตำบลกระชาย อำเภอครบุรี ๓๙ ครอบครัว ทางจังหวัดยังได้ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านอุปโภค บริโภค และสิ่งสาธารณูปโภค รวมถึงการเสนอ ส.ป.ก.อนุมัติการจัดซื้อที่ดินเอกชน จำนวน ๕๒๘ ไร่ (อนุมัติแล้วเมื่อ ๒๘ พ.ย. ๕๗) เพื่อจัดสรรให้กลุ่มผู้ยากไร้กลุ่มนี้ต่อไป
    สำหรับมาตรการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง นายธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมการแก้ไข โดยการสร้างฝายกระสอบทราย ๕ แห่ง ปริมาณกับเก็บน้ำ ๘ ล้านลบ.ม. และกำลังดำเนินการอีก ๔๗ แห่ง มีเป้าหมาย ๔.๗ ล้านลบ.ม. ขณะนี้ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ภัยแล้งไปแล้วกว่า ๑๐ อำเภอ ๔๙ ตำบล ๖๕๙ หมู่บ้าน ๑๖ ชุมชน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๓๕,๖๘๐ ครัวเรือน ๑๕๓,๔๒๔ คน โดยพบพื้นที่แล้ง ๓ ปีย้อนหลังคือ อำเภอบัวใหญ่ สูงเนิน และห้วยแถลง รวมทั้งสิ้น ๙๖ หมู่บ้าน และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว เป็นต้น


บุกรุกป่าปัญหาใหญ่‘ชัยภูมิ’
    นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า การเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี ๒๕๕๘ ขณะนี้จังหวัดชัยภูมิ มีอ่างเก็บน้ำ/เขื่อน จำนวน ๑๓ แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้จำนวน ๓๓๙.๔๗ ล้านลบ.ม. ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำปริมาณ ๒๕๘.๘๐ ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ ๗๖.๒๖ สามารถใช้ได้ ๒๐๖.๖๕ ล้านลบ.ม. ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค และเลี้ยงระบบนิเวศน์ ในช่วงฤดูแล้งโดยกำหนดปล่อยน้ำเป็นช่วงๆ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านลบ.ม./วัน และขอการสนับสนุนรถสูบน้ำระยะไกล จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ (นครราชสีมา) จำนวน ๑ คัน เพื่อสูบน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม โครงการป้องกันลดผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่ม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ จำนวน ๑๒ โครงการ เป็นเงิน ๒๒,๕๑๖,๐๐๐ บาท สำหรับน้ำใช้เพื่อการเกษตรคาดว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากทางจังหวัดได้ประกาศงดส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน โดยให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและงดปลูกข้าวนาปรัง แนะนำให้ปลูกพืช ผัก ที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคชัยภูมิ มีจำนวน ๖ แห่ง ยังสามารถสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคแจกจ่ายให้ราษฎรได้
    ในส่วนผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมินั้น ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ กล่าวสรุปว่า ได้จัดห้องสำหรับให้ประชาชน ที่มีกรณีพิพาทระหว่างเอกชน และราชการ มาใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยจัดเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เฉพาะกรณีร้องเรียน/ร้องทุกข์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นประจำทุกวัน ปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่าไม้เขตหวงห้าม  การกำจัดขยะมูลฝอย หรือการถือครองที่ทำกินที่มีความลาดชัน ขาดความสมบูรณ์ และขาดความชัดเจนในการออกแบบเอกสารสิทธิ์ จึงต้องการให้มีการออกเอกสารในรูปแบบของโฉนด หรือ น.ส.๓ เพื่อให้ประชาชนได้สามารถนำไปแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนในการประกอบอาชีพได้


‘บุรีรัมย์’เมืองต้องห้าม...พลาด
    นายเฉลิมพล พลวัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ปฏิบัติราชการแทน นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า บุรีรัมย์เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณ และเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรปลอดภัย ทางด้านสังคมและคุณภาพชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี ร่มเย็นเป็นสุขดี ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติต่างๆ ทั้งด้านรักษาความมั่นคง ความสงบ และการบริหารจัดการที่ดี บนพื้นฐานธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๑๒ เมืองต้องห้าม...พลาด ในการท่องเที่ยว เมืองปราสาท ๒ ยุค คือปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทสายฟ้า หรือสนามฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่าแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยสามารถจุคนได้ ๓๒,๐๐๐ คน และสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จุผู้ชมได้ ๕๐,๐๐๐ คน ถือเป็นไฮไลต์ที่น่าสนใจยิ่ง อีกทั้งกำลังผลักดันให้บุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬามาตรฐานโลก ด้วยปัจจัย ๙ ประการ ประกอบด้วยที่พัก อาหารปลอดภัย ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค พนักงานต้อนรับ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของที่ระลึกสินค้าประณีต โซนนิ่งสถานบริการ และการเป็นเจ้าบ้านที่ดี สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีคำสั่ง ๑๖๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม ตามโครงสร้างที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน จังหวัดมี นโยบายและแนวทางในการปฏิบัติงานของศูนย์ดำรงธรรมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ทำให้รับทราบปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายบุคคล โดยมีกรอบธรรมนูญหมู่บ้านที่ชาวบ้านร่วมกันปฏิญาณตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อร่วมแก้ปัญหาช่วยกันกับภาครัฐต่อไป ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สิน ตัดไม้ทำลายป่า และผู้มีอิทธิพล เป็นต้น 
    ในส่วนของแผนการดำเนินงานเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งนั้น รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับปรุงเพิ่มระดับกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ปรับปรุงระบบสูบน้ำโครงการสูบน้ำลำปลายมาศ ปรับปรุงคลองชักน้ำสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ งบประมาณ ๑๔๐ ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำโดยมีน้ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ ๑๗.๓๙๑ ล้านลบ.ม. และยังจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้น เพื่อบรรเทาสาธารณภัยและรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคอย่างประหยัดและถูกวิธี ติดตามและประสานงานการบริหารจัดการน้ำสำหรับบริการประชาชน ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับรายงานว่า มี ๒ อำเภอที่มีความแห้งแล้งมาก คือ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ พื้นที่ประสบภัยจำนวน ๕ ตำบล ๕๔ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๒,๕๗๑ ครัวเรือน ๑๐,๒๘๔ คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ(นาข้าว) ๒๔,๑๖๑ ไร่ และอำเภอนาโพธิ์ พื้นที่ประสบภัย ๕ ตำบล ๕๐ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๓,๑๔๕ คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ(นาข้าว) ๒๒,๒๐๗ ไร่ พร้อมทั้งประกาศให้เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง และจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามลำดับต่อไป


‘สุรินทร์’ขาดถนน ๔ ช่องจราจร
    นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ดำเนินการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ปี ๒๕๕๗–๒๕๖๐ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า เมืองเกษตรอินทรีย์ วิถีช้างไทย ผ้าไหมสุรินทร์สู่สากล ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑. ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ๒. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ๓. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ๔. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคนและสังคม และ ๕. ยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมความมั่นคงของเขตชายแดน ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่จังหวัดสุรินทร์ประสบมาตลอด คือ ด้านการคมนาคม เพราะปัจจุบันการจราจรแออัด เนื่องจากไม่มีถนน ๔ ช่องจราจรเชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของจังหวัด จังหวัดสุรินทร์จึงขอสนับสนุนงบประมาณ ดังต่อไปนี้ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๔ จากอ.ปราสาท–อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณ หากได้ดำเนินการก่อสร้างถนนแล้ว และเป็น ๔ ช่องจราจรทั้งสาย จะทำให้การเดินทางสู่จ.อุบลราชธานี ผ่านจ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา เพื่อเขาสู่กรุงเทพฯ มีความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสนามบินสุรินทร์ภักดี ซึ่งเป็นสนามบินใช้ในราชการทหาร ตั้งอยู่ในเขตอ.เมืองสุรินทร์ ได้พยายามผลักดันต่อกรมการบินพลเรือนแล้ว เพื่อเปิดใช้เป็นสนามบินพาณิชย์ และมีสายการบินที่พร้อมจะบินเรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป สามารถส่งเสริมการค้า การลงทุน และกระจายรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
    “สำหรับด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม อ.กาบเชิง ซึ่งอยู่ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา มีการเติบโตทางธุรกิจสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับในอดีต และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากไม่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในอนาคตจะเกิดความแออัดทางด้านการขนส่งเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันอาคารด่านพรมแดนช่องจอม ยังไม่มีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามจุดพรมแดน ห้องสุขาสำหรับประชาชน และผู้พิการ การขยายถนนการจราจรสำหรับแยกประเภทรถสินค้า และรถยนต์ส่วนบุคคล ตู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านพรมแดน เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ และรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน จึงจำเป็นที่จะต้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าอย่างเร่งด่วน” ผู้ว่าฯ สุรินทร์ กล่าว


 

ชื่นชมผู้ว่าฯใส่ใจประชาชน
    ท้ายสุดนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “จากการรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๔ จังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ รู้สึกภูมิใจที่ให้ความสำคัญในการดูแลประชาชน และพัฒนาด้านต่างๆ ให้กับจังหวัดที่ปกครองดูแล เสมือนญาติพี่น้อง จึงทำให้การดำเนินการแก้ไข พัฒนา หรือช่วยเหลือประชาชน ต่างได้รับความร่วมมือจากข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ จึงขอขอบคุณที่ร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อประชาชนมาตลอดปี ๒๕๕๗ หรือปีต่อๆ ไป และอยากฝากเรื่องการเตรียมรับมือภัยแล้ง เพราะภาคอีสานนั้นปัญหาใหญ่สุดคือความแห้งแล้ง จึงต้องเร่งมือพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อที่จะได้รองรับหากเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง”  
    จากนั้นเวลา ๑๓.๓๐ น. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปดูความเสียหายของสะพาน (มูลมะดันรัฐ) ข้ามแม่น้ำมูล ที่บ้านมะดัน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และนางจุรีพร เศวตอมรกุล นายกเทศมนตรีตำบลท่าช้าง ให้การต้อนรับ และนำลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเนื่องมาจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๓ เพราะสะพานเชื่อมตัดผ่านถนนสายหลัก และมีประชาชนสัญจรโดยรถยนต์ไม่ต่ำกว่าวันละ ๔,๐๐๐ คัน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชน จึงได้รับสนับสนุนงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ เพื่อก่อสร้างสะพาน คสล. ข้ามลำน้ำมูล บริเวณต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ขนาดกว้าง ๙ เมตร ไหล่ทางข้างละ ๑๕๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๒๒.๕๐ ล้านบาท เพื่อทดแทนสะพาน คสล. เดิมที่เสียหาย โดยสะพานแห่งนี้ได้งบประมาณเงินกู้จากญี่ปุ่นและเงินสมทบ เมื่อปี ๒๕๒๕ จำนวน ๒,๑๘๘,๐๘๔ บาท ขณะนี้ชำรุดใช้ไม่ได้ ต้องใช้สะพานแบริ่งจากศูนย์สร้างสะพานขอนแก่นที่ ๒ กรมทางหลวง ซึ่งเป็นสะพานเหล็กชั่วคราวมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จึงถือเป็นความสำคัญเร่งด่วน เนื่องจากเป็นสะพานที่เชื่อมเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น กับเส้นทางหมายเลข ๒๒๖ (นครราชสีมา-บุรีรัมย์) และยังเป็นเส้นทางลักษณะวงแหวนระบายการจราจรจากภาคอีสานเหนือและอีสานใต้เพื่อเลี่ยงจากตัวเมืองอีกด้วย


ฉบับที่ ๒๒๖๕ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗


697 1347