24thApril

24thApril

24thApril

 

January 24,2015

ดัชนีความเชื่อมั่น... ผปก.พัฒนาที่อยู่อาศัย

   ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่ อาศัย ประจำไตรมาส ๔ ปี ๒๕๕๗ มีผู้ประกอบการตอบแบบสอบถามจำนวน ๑๖๖ บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ๓๐ บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ๑๓๖ บริษัท ในการคำนวณดัชนีรวมจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนและบริษัทไม่จดทะเบียน ๕๐:๕๐ เท่ากัน

นายสัมมา  คีตสิน


    นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ แถลงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ ๕๐ ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางมีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ดี ในทางตรงข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลางมีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี 
    ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส ๔ ปี ๒๕๕๗ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ ๕๕.๔ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส ๓/๒๕๕๗) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ ๕๔.๕
    เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน (Non-Listed) มาก โดยผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ ๖๐.๑ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ ๕๐.๗ ซึ่งสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลางเท่ากับ ๕๐) แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนยังมีความเชื่อมั่นที่ดี
    ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยภาพรวมมีค่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุน การจ้างงาน และต้นทุนประกอบการ แต่ค่าความเชื่อมั่นของผลประกอบการและยอดขายลดลงแม้จะยังอยู่ในระดับดี ในขณะที่การเปิดโครงการใหม่หรือเฟสใหม่โดยภาพรวมทั่วประเทศลดลง แม้ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะกระเตื้องขึ้น
    สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก ๖ เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ประจำไตรมาส ๔/๒๕๕๗ มีค่าเท่ากับ ๖๙.๙ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส ๓/๒๕๕๗) ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๖๙.๐ 
    เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก ๖ เดือนข้างหน้าสูงมากเท่ากับ ๗๘.๖ ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ ๗๕.๐ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก ๖ เดือนข้างหน้าเท่ากับ ๖๑.๑ ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ ๖๓.๐
    ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่ง มองอนาคต ๖ เดือนนับจากนี้ว่าจะดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากปี ๒๕๕๗ และความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หักกลบกับปัจจัยลบจากความอ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยการเมือง และหนี้ครัวเรือน


ฉบับที่ ๒๒๗๑ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


684 1344