26thApril

26thApril

26thApril

 

January 28,2015

ขยายวงแหวนรอบเมือง ประปาเลี่ยงบ่อพักน้ำ หวั่นกระทบที่ทำกิน

   เดินหน้าสำรวจออกแบบ “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” หวังแก้ไขปัญหาจราจร รองรับขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ล่าสุด “ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓” เปิดให้ประชาชนร่วมคัดเลือกแนวเส้นทาง เจออุปสรรคต้องหลีกเลี่ยงสระเก็บน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค ด้านผู้นำชุมชนหวั่น! กระทบเกษตรกรรมและชุมชน เสนอชดเชยที่ทำกินและที่อยู่อาศัยใหม่

    ตามที่กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประมาณ ๖๐ ล้านบาท สำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวง ๔ ช่องจราจร “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” ๔ ตอนที่เหลือ ประกอบด้วย ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒, ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๓, ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ รวมระยะทางประมาณ ๖๘ กิโลเมตร มีระยะเวลาดำเนินงาน ๑ ปี โดยนำข้อมูลมาจากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้น จากข้อมูลโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาที่ได้ศึกษาไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ มากำหนดเป็นแนวเส้นทางเลือกของโครงการ โดยมีแนวเส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดใช้งานในปัจจุบัน คือ ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๑ ระยะทางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร และที่ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว คือ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๒ ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร และด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๑ ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองตอนดังกล่าวขณะนี้ยังไม่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืน อยู่ระหว่างการจัดหางบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างนั้น ซึ่ง ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวลงฉบับที่ ๒๒๖๑ วันที่ ๑-๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ 
    ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายจำเริญ เปล้ากระโทก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางเลือกและรูปแบบที่เหมาะสมโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง ๔ ช่องจราจร “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ (การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๑) โดยกรมทางหลวงว่างจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท คอนซัลแต้นส์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท บุญปัญญา เทคโน โลยี จำกัด และบริษัท ออโรร่า เทคโนโลยี แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ดำเนินการสำรวจและออกแบบตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘ โดยมีตัวแทนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการ เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวสายทางที่เหมาะสม จำนวนกว่า ๑๐๐ คน 


จุดเริ่มต้นใกล้หมู่บ้านจัดสรร
    กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยนายทะนงศักดิ์ ทุระพันธ์ วิศวกรงานทาง, นายวิรัตน์ สงศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนายพรศักดิ์ อรุณศิริพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมและประชาสัมพันธ์ นำเสนอสภาพปัจจุบันในพื้นที่โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ ว่า มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดบนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (นครราชสีมา-โชคชัย) เชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๒ ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านพัฒนธานี จากนั้นแนวถนนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านหมู่บ้านพะลานกับหมู่บ้านหนองสมอ ประมาณกิโลเมตรที่ ๓ ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ๓๐๒๔ และตัดผ่านลำช่องโค ต่อจากนั้นตัดผ่านลำน้ำมูลบริเวณใกล้กับบ้านโคกวังวนและบ้านโคกสามัคคี แล้วแนวถนนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ทุ่งนาไปถึงพื้นที่บ่อเก็บน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขานครราชสีมา ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และแนวถนนมุ่งหน้าทางทิศเหนือตัดผ่านทางรถไฟใกล้กับวัดธีรพงษาวาส (วัดระเว) และเข้าบรรจบกับถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (นครราชสีมา-บุรีรัมย์) ซึ่งสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศอยู่ในที่ราบลุ่มและมีบ้านเรือนประปราย รวมระยะทางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร 


เสนอ ๔ เส้นทางให้คัดเลือก
    จากการศึกษาได้กำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการดังกล่าว ๔ แนวสายทาง บริเวณช่วงปลายสายทางไปถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ได้แก่ แนวสายทางเลือกที่ ๑ (สีเหลือง) ยึดตามแนวเส้นทางโครงการฯ จากผลการศึกษาความเหมาะสม ทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ตามที่กรมทางหลวงได้ศึกษาไว้ โดยจุดเริ่มต้นโครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ บนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ช่วงอำเภอเมืองนครราชสีมา-อำเภอโชคชัย ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๒ ใกล้กับหมู่บ้านพัฒนธานี (ห่างจากแนวสายทางประมาณ ๑๐๐ เมตร) จากนั้นแนวถนนวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปประมาณ กม.ที่ ๔+๐๐๐ ช่วงระหว่างหมู่บ้านพะลานและหมู่บ้านหนองสมอ โดยตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข นม.๓๐๒๔ ตัดผ่านช่อง ลำโคที่ประมาณ กม.ที่ ๗+๐๐๐ และตัดผ่านลำน้ำมูลที่ประมาณ กม.ที่ ๙+๐๐๐ บริเวณใกล้กับบ้านโคกวังวนและบ้านโคกสามัคคี จากนั้นแนวถนนจะเบี่ยงขึ้นทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ทุ่งนาถึงพื้นที่สระเก็บน้ำดิบบ่อที่ ๑ มีปริมาณกักเก็บประมาณ ๙ แสนลูกบาศก์เมตร และบ่อที่ ๓ ของการประปาส่วนภูมิภาค ท่าช้าง ที่ประมาณ กม.ที่ ๑๔+๕๐๐ โดยเฉพาะบ่อที่ ๓ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างสระเก็บน้ำดิบปริมาณกักเก็บประมาณ ๑.๒ ล้านลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่กว่า ๓๑๐ ไร่ และแนวเส้นทางพาดผ่านสระเก็บน้ำดิบดังกล่าวถึงจัดตัดทางรถไฟใกล้กับวัดธีรพงษาวาส (ระเว) ที่บ้านตะกุดขอน ที่ประมาณ กม.ที่ ๑๗+๐๐๐ ก่อนเข้าบรรจบที่ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จุดสิ้นสุดโครงการช่วงประมาณ กม.ที่ ๑๕+๕๐๐ ทั้งนี้ แนวเส้นทางของโครงการส่วนใหญ่ผ่านพื้นที่โล่งและทุ่งนาเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แนวสายทางเลือกที่ ๒ (สีฟ้า) ช่วงต้นโครงการยึดตามแนวทางเลือกที่ ๑ กระทั่งช่วง กม.ที่ ๑๑ แนวเส้นทางจึงแยกออกจากแนวเส้นทางเลือกที่ ๑ อย่างชัดเจน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อหลบพื้นที่สระเก็บน้ำดิบบ่อที่ ๒ ของการประปาส่วนภูมิภาค ท่าช้าง แล้วจึงตัดผ่านทางรถไฟก่อนเข้าบรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ประมาณ กม.ที่ ๑๔+๐๐๐ 


หยั่งเสียงตัดผ่านที่ทำการอบต.
    ส่วนแนวสายทางเลือกที่ ๓ (สีแดง) ช่วงต้นโครงการยึดตามแนวสายทางเลือกที่ ๑ กระทั่งช่วง กม.ที่ ๑๑ จึงแยกตัวออกจากแนวสายทางเลือกที่ ๑ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย เพื่อหลบพื้นที่สระเก็บน้ำดิบแห่งใหม่ (บ่อที่ ๓ กำลังก่อสร้าง) ของการประปาส่วนภูมิภาค ท่าช้าง ที่บริเวณช่วง กม.ที่ ๑๕ แล้วจึงเบี่ยงขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย เพื่อหลบพื้นที่หมู่บ้านโนนไม้แดง และหมู่บ้านตะกุดขอน แล้วจึงตัดผ่านทางรถไฟก่อนเข้าบรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ประมาณ กม.ที่ ๑๕+๓๐๐ และแนวสายทางเลือกที่ ๔ (สีชมพู) ช่วงต้นโครงการยึดตามแนวสายทางเลือกที่ ๓ กระทั่งช่วง กม.ที่ ๑๔ ที่แยกออกโดยแนวเส้นทางจะวิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อหลบหลีกไปทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านโนนไม้แดง แล้วจึงตัดผ่านทางรถไฟก่อนเข้าบรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ปริมาณ กม.ที่ ๑๖+๖๐๐ ทั้งนี้ บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการฯ ตามแนวสายทางเลือกนี้จะเข้าใกล้กับสะพานข้ามลำน้ำมูล ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาก่อสร้างทางต่างระดับ (interchange) ทั้งยังต้องตัดผ่านพื้นที่จากด้านหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างกว่าครึ่ง และพื้นที่พุทธสถานเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์วิปัสสนาเอกายนมรรคอนันตา ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณอำเภอเฉลิมพระเกียรติ 


พื้นที่ศึกษา ๒ อำเภอ ๕ ตำบล
    สำหรับถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้าง ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาให้ครบทั้งวง เพื่อระบายการจราจรหรือแก้ไขปัญหาการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ตลอดทั้งการขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งแก่ผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การคมนาคมและการขนส่งของกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม โดยมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ในเขตปกครอง ๒ อำเภอ ๕ ตำบล ของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ตำบลหนองบัวศาลา และตำบลหนองระเวียง, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ตำบลพระพุทธ ตำบลหนองยาง และตำบลท่าช้าง


หวั่น!กระทบเกษตรกรรม/ชุมชน
    ทั้งนี้ ช่วงที่เปิดให้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นความสำคัญการสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่คับคั่งในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา แต่เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ จำเป็นต้องตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและคุณภาพชีวิต ตัวแทนกำนันจากตำบลหนองยาง จึงเสนอว่าควรพิจารณาความเหมาะสมให้รอบด้าน และหากจำเป็นต้องตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมหรือชุมชน ต้องมีมาตรการรองรับโดยจัดหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยใหม่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย และมองว่าแนวสายทางเลือกที่ ๔ (สีชมพู) มีความเหมาะสมมากที่สุด อีกทั้งตัวแทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอให้กรมทางหลวงพิจารณาค่าชดเชยกรรมสิทธิ์ในการเวนคืนที่ดินประเภท ส.ป.ก. เนื่องจากบริเวณตำบลหนองบัวศาลา หนองระเวียง และหนองยาง ที่โครงการพาดผ่านมีที่ดิน ส.ป.ก. ที่ประชาชนใช้ทำการเกษตรจำนวนมาก ขณะเดียวกันการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราชสีมา ต้องการให้กรมทางหลวงหลีกเลี่ยงแนวเส้นทางที่ต้องตัดผ่านสระเก็บน้ำดิบ ๓ บ่อ เพราะหวั่นว่าจะกระทบต่อการผลิตประปาแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา
    ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๒ เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการที่เหมาะสม ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบพร้อมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการดังกล่าวอีกครั้ง


ฉบับที่ ๒๒๗๒ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


683 1342