26thApril

26thApril

26thApril

 

January 29,2015

สนข.ฟังความเห็นคนขอนแก่น ยกระดับสร้างรถไฟทางคู่ โคราช-หนองคาย ๓๕๕ กม.

   สนข.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ขอนแก่น ยกระดับความร่วมมือสร้างรถไฟทางคู่ที่ได้มาตรฐาน ส่วนต่อขยาย ระยะที่ ๒ โคราช-หนองคาย ๓๕๕ กม. เชื่อมโยงระบบขนส่งทั่วไทยรองรับประชาคมอาเซียน อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-เวียงจันทน์

    เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. วันที่ ๒๑ ม.ค.๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมชั้น ๒ โรงแรมเซนทารา คอนเวนชั่น เซนเตอร์ ขอนแก่น นายศิวโรจน์  มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๑ ว่าด้วยโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดขึ้น โดยมีหน่วยงานราชการ,รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน รวมไปถึงประชาชนในเขต จ.นครราชสีมา และขอนแก่น เข้าร่วมระดมความคิดเห็นรวมกว่า ๔๐๐ คน
    นายศิวโรจน์  มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๙ และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้กำหนดแผนการเร่งผลักดันให้โครงการดังกล่าวนั้นสามารถดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาดมาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ รมว.คมนาคม ของไทยและผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาปฏิรูปแห่งชาติของจีนได้มีการทำพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันไปแล้วและขณะนี้อยู่ในการออกแบบให้สามารถรองรับระบบความเร็วสูงได้ในอนาคต


    “ส่วนต่อขยายระยะที่ ๒ นั้นแนวเส้นทางของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจะผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัดประกอบ นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานีและหนองคาย โดยที่ได้กำหนดเกณฑ์การออกแบบในเบื้องต้นให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน การก่อสร้างจะเป็นอิสระภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางบริเวณ เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้”
    รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ที่ขอนแก่น และจะจัดไปในเขตพื้นที่ ๔ จังหวัดตามแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงการดำเนินงานของรัฐบาลและโครงการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับระบบรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เชื่อมต่อแบบโยงใยครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งยังคงจะรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้อีกด้วยสำหรับเขตทางโดยทั่วไปจะกว้าง ๘๐ เมตร โดยมีแนวรางปัจจุบันอยู่กึ่งกลาง ส่วนบริเวณสถานีมีเขตทางกว้าง ๑๖๐ เมตร มีจุดตัดทางรถไฟกับถนนใน ๔ จังหวัดรวม ๒๔๘ แห่ง แยกเป็นจุดผ่านที่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ๑๗๙ แห่ง ในจำนวนนี้เป็นจุดตัดต่างระดับและจุดตัดเสมอระดับ ๑๖๕ แห่ง ทางลักผ่าน ๖๗ แห่ง ซึ่งการเปิดเวทีดังกล่าวนี้จะเป็นการศึกษาความเหมาะสมของโครงการครอบคลุมทั้งด้านผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแนวทางของการลงทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามรถไฟสายดังกล่าวในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุณหมิง-เวียงจันทน์ และเมื่อการก่อสร้างในไทยสำเร็จและสมบูรณ์แบบก็จะสามารถเชื่อมต่อเข้าประเทศไทย ในเส้นทางแรกคือ หนองคาย-นครราชสีมา-กรุงเทพฯ และ หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือมาบตาพุด ได้โดยทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มโครงข่ายการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและยังคงจะเป็นการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคไปยังท่าเรือได้โดยสะดวก นำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทยที่มีศักยภาพเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียนที่ได้มาตรฐานต่อไปในอนาคต


ฉบับที่ ๒๒๗๒ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


683 1342