20thApril

20thApril

20thApril

 

January 29,2015

เสริมเด้งอุตสาหกรรมความงาม จับมือผู้ประกอบการ-นักวิจัย ปั้นไทยสู่บิวตี้ฮับอาเซียน

   เดินเครื่องยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง รับมือกับการแข่งขันในตลาดเสรีที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปลายปี ๒๕๕๘ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือพัฒนา “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง” ให้มีความเข้มแข็ง 

 

    เมื่อเร็วๆ นี้ มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการและด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางระหว่าง ๓ ภาคี คือ กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประกอบการซัพพลายเออร์เครื่องสำอาง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากร สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย ตลอดทั้งการร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการต่อยอดการพัฒนาสร้างนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่งผลให้การประกอบธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสากล 
     นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า ๒.๑ แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดในประเทศประมาณ ๑.๒ แสนล้านบาท หรือร้อยละ ๖๐ และตลาดส่งออกกว่า ๙ หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศไทย โดยครองส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ ๔๐ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ความชำนาญ และคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องสำอางไทยทั้งประเทศมีประมาณ ๗๖๒ ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็กประมาณ ๕๒๐ ราย หรือคิดเป็นร้อยละ ๖๘, ขนาดกลาง ๒๒๐ ราย หรือร้อยละ ๒๙ และขนาดใหญ่ ๒๒ ราย คิดเป็นร้อยละ ๓ โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
     “อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในตลาดเสรีย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน อาทิ ต้นทุนการผลิต นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัด “ตั้งคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster)” เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้มีความเข้มแข็ง และประสานความร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพร่วมกัน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖๘ คลัสเตอร์ที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster Development) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ 

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์

 


     นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยและการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาสร้างนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่จะบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและกิจกรรมจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) กลางน้ำ (MiddleStream) และปลายน้ำ (Downstream) จะส่งผลให้การประกอบธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสากล
    ด้านนายสิระ หล่อทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอนสันแอนด์จาคอบส์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ สกินแคร์ แฮร์แคร์ เมคอัพ ตลอดทั้งผลิตภัณฑ์เฮาส์โฮล หรือของใช้ในบ้าน ซึ่งกว่าร้อยละ ๘๕ เป็นประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยวัตถุดิบที่นำเข้านั้นบริษัทฯ พิจารณาตามความต้องการของการสั่งซื้อจากผู้ผลิตเป็นหลัก สำหรับเทรนด์ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต คือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยเฉพาะพืช และสมุนไพร เช่น สารสกัดจากสาหร่ายทะเล สารสกัดจากสมุนไพร เนื่องจากเฮลตี้เทรนด์กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการเกือบทุกอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไลฟ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น หันมาเลือกใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติแท้จริงที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง โดยกลุ่มลูกค้าที่สั่งซื้อวัตถุดิบจากบริษัทฯ ร้อยละ ๘๐ เป็นผู้ผลิตแบบ OEM นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทีมนักวิจัยที่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนงานวิจัยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การเลือกใช้วัตถุดิบ ตลอดทั้งคิดค้นสูตรเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและตลาดโลก


     “อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การค้าและการลงทุน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางกับ ๓ ภาคี ได้แก่ กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประกอบการซัพพลายเออร์เครื่องสำอางขึ้น โดยมีคณะผู้บริหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกคลัสเตอร์เครื่องสำอางร่วมงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางและความงามชั้นนำของไทย กว่า ๕๐ แบรนด์สินค้า อาทิ จัส โมเดิร์น (Just Modern) สโนว์เกิร์ล (SnowGirl) โพรฟสกิน (Profskin) เนเจอร์ริช (Naturerich) และอเมโทส (Amartos) เป็นต้น นำมาลดราคาสูงถึงร้อยละ ๕๐-๘๐ รวมทั้งยังมีการเจรจาธุรกิจระหว่างสมาชิกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยกับบริษัท เวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด (24 Shopping Co.,Ltd. ในเครือ CP All) อีกด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวในท้ายสุด


ฉบับที่ ๒๒๗๒ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


699 1343