26thApril

26thApril

26thApril

 

February 23,2015

ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง ลูกบ้าน‘จามจุรี เลควิว’ ลุ้นค่าชดเชยน้ำท่วมซ้ำซาก

   ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำฟ้อง ผู้ซื้อบ้านจัดสรร ‘จามจุรี เลควิว’ และราษฎรที่พักอาศัยอยู่ข้างเคียง หลังยื่นฟ้องให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด และอบต.หนองบัวศาลา ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เพราะออกใบอนุญาตจัดสรรมิชอบ ขัดแย้งกับกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ซ้ำยังปล่อยปลูกสร้างติดหนองน้ำ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

หมู่บ้านจามจุรี เลควิว ช่วงที่น้ำท่วม

    ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าว กรณีผู้อยู่อาศัยภายในโครงการหมู่บ้านจัดสรร “จามจุรี เลควิว” ๘๒ ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นจำเลยที่ ๑ พร้อมด้วยผู้บริหาร นายจีระศักดิ์ พันธ์สายเชื้อ ประธานกรรมการบริหาร จำเลยที่ ๒, นางสุรีรัตน์ รังคกูลนุวัฒน์ กรรมการ จำเลยที่ ๓, นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ หุ้นส่วนและฝ่ายการตลาด จำเลยที่ ๔ และนายวีรพล จงเจริญใจ หุ้นส่วนและวิศวกรควบคุมโครงการ จำเลยที่ ๕ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ในความผิดละเมิด และเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากกว่า ๔ ปี ซึ่งหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๒๗ ไร่เศษ บริเวณบ้านหนองตะลุมปุ๊ก หมู่ที่ ๑๐ ถนนราชสีมา-โชคชัย ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จากที่ผ่านมาผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวทั้งหมด ๑๑๔ หลังคาเรือน เคยรวมกลุ่มเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ 


พิพากษาชดใช้ค่าเสียหาย
    กระทั่งเป็นข้อพิพาทในชั้นศาล โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาให้คณะผู้บริหารบริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ชดเชยค่าเสียหายให้กับลูกบ้านจามจุรี เลควิว ตามมูลค่าความเสียหายเป็นรายๆ ไป โดยพิจารณาค่าเสียหายในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๑๓๗๑/๒๕๕๓ กรณีบ้านเลขที่ ๑๙๑/๑ ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว ๒ ชั้น มูลค่า ๒.๒ ล้านบาท ของพันโทยศพนต์ พลตื้อ ฝ่ายเสนาธิการ หน่วยมณฑลทหารบกที่ ๒๑ กองทัพภาคที่ ๒ ที่ศาลพิจารณาค่าเสียหายเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นจำนวนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทเศษ, ปี ๒๕๕๓ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ รวมเป็นเงินที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษที่จำเลยต้องชดใช้ พร้อมทั้งพิจารณาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมตามมูลค่าของบ้านครึ่งหนึ่งอีก ๔๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๑.๒ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๗.๕ นับตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องถึงวันที่ชำระเงิน เป็นคดีหลักที่จะดำเนินการตัดสินในลักษณะเดียวกันกับลูกบ้านซึ่งเป็นโจทก์อีก ๘๑ ราย ที่ให้ชดใช้เป็นเงินรายละประมาณ ๑ ล้านบาท บริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และลูกบ้านที่ได้รับความเสียหาย จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ 


ศาลอุทธรณ์กลับยกฟ้อง
    ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ศาลจังหวัดนครราชสีมานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีผู้บริโภค ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.๔๐๕/๒๕๕๕ และคดีหมายเลขแดงที่ ๓๘๑/๒๕๕๖ โดยมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วว่า ที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งอยู่ในโครงการหมู่บ้านจามจุรี เลควิว ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มต่ำเป็นจุดรองรับน้ำที่ไหลมาจากที่สูง ที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยทั้งห้าไม่ทราบมาก่อนที่จะก่อสร้างหมู่บ้านว่า ที่ตั้งโครงการจำเลยที่ ๑ อยู่ในจุดรองรับน้ำที่ไหลมาจากที่สูง จำเลยทั้งห้าจึงไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงในขณะทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นโมฆียะ สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ อีกทั้งการก่อสร้างหมู่บ้านดังกล่าวก็ได้มีหน่วยงานทางราชการเข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่จะอนุมัติให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินโครงการ จามจุรี เลควิวได้ และไม่มีหน่วยงานใดทักท้วงว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการฯ เป็นจุดรับน้ำที่ไหลมาจากที่สูง นอกจากนี้การก่อสร้างสาธารณูปโภคภายในโครงการก็ไม่มีผู้โต้แย้งว่า ก่อสร้างไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เหตุน้ำท่วมหมู่บ้านจามจุรี เลควิว จึงเป็นเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากจำเลยทั้งห้า เป็นผู้ก่อให้เกิดน้ำท่วม การ กระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 


ยื่นฎีกาสู้-ฟ้องศาลปกครอง   
    ล่าสุดความคืบหน้าการเรียกร้องความเป็นธรรม เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ พ.อ.ดร.กานต์ธิพงษ์ พลตื้อธนะกูล หรือชื่อเดิมพันโทยศพนต์ พลตื้อ ฝ่ายเสนาธิการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตัวแทนผู้ฟ้องคดี เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า สำหรับการต่อสู้ในกระบวนการศาลยุติธรรม ภายหลังศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาให้บริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และคณะผู้บริหาร ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำพิพากษากลับยกฟ้องแล้วนั้น ผู้ซื้อบ้านจัดสรรในโครงการจามจุรี เลควิว ที่ได้รับความเสียหายต้องเดินหน้าต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะเดียวกันเมื่อปี ๒๕๕๔ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา โดยผู้ซื้อบ้านจัดสรรโครงการดังกล่าว จำนวน ๗๙ คน นำโดยตน และชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ข้างเคียงโดยรอบหมู่บ้านจามจุรี เลควิว อีกจำนวน ๑๕ คน รวมทั้งสิ้นจำนวน ๙๔ ราย เป็นผู้ฟ้องคดี ระหว่างคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ที่มีนายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ผวจ.นครราชสีมาขณะนั้น เป็นประธาน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับอบต.หนองบัวศาลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ


ออกใบอนุญาตจัดสรรมิชอบ
    ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินโครงการหมู่บ้านจามจุรี เลควิว ให้แก่ บริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยมิชอบ ขัดแย้งกับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๒ (๖) และ (๘) ที่ห้ามดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเกินร้อยละ ๕ ของพื้นที่โครงการทั้งหมดที่ยื่นขออนุญาตจัดสรร ทั้งไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยปล่อยให้ก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรในบริเวณพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งรองรับน้ำและกีดขวางลำรางน้ำไหลตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังละเลยให้มีการก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต และไม่ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคและระบบระบายน้ำให้ครบถ้วนถูกต้องตามแผนผังโครงการ” พ.อ.ดร.กานต์ธิพงษ์ กล่าว 


ปล่อยปลูกสร้างติดหนองน้ำ
    ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (สมัยนายจำเริญ เปล้ากระโทก เป็นนายกอบต.หนองบัวศาลา) ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างติดกับอ่างหนองน้ำตะลุมปุ๊ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๔๒ วรรคสอง ที่กำหนดให้การก่อสร้างอาคารต้องห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร รวมทั้งละเลยไม่ตรวจสอบ ปล่อยให้ผู้จัดสรรที่ดินขุดดินบริเวณด้านหลังโครงการเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ติดกับทางสาธารณประโยชน์ แล้วนำดินมาถมสร้างบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ และกฎกระทรวง กำหนดมาตรการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการขุดดินหรือถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ทำให้ทางสาธารณประโยชน์ถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย และน้ำได้ไหลเซาะใต้กำแพงหมู่บ้านเข้าท่วมหมู่บ้าน เป็นต้น 

 

เรียกชดเชย ๑๗๑ กว่าล้าน
    คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คน ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้ ๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีรายละเอียดค่าเสียหายตามบัญชีท้ายฟ้อง รวมเป็นเงิน ๑๗๑,๑๘๒,๔๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการให้โครงการหมู่บ้านจัดสรร “จามจุรี เลควิว” ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๔๗ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของบ้านให้แก่ผู้ฟ้องคดี ที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวต่อไป และ ๓. ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งหมดไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล และโดยสถานะของผู้ฟ้องคดี ถ้าไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะทำให้เดือดร้อนเกินสมควร 

 

ไม่รับคำฟ้องจำหน่ายคดีออก
    ตัวแทนผู้ฟ้องคดี เปิดเผยอีกว่า ศาลปกครองนครราชสีมารับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินโครงการฯ ให้แก่บริษัท จามจุรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และโครงการดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๔๙ หลังจากนั้นได้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนผู้ฟ้องคดีและราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบหมู่บ้านในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ และร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ แสดงว่าผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ที่เกิดน้ำท่วม หรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ทั้งคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี มีลักษณะที่ให้ประโยชน์เป็นการเฉพาะต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คน จึงไม่เป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะโดยตรง หรือผลของคดีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา ๕๒ แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันแต่อย่างใด ศาลปกครองนครราชสีมาจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  

 

เฮ!ให้ศาลปกครองรับฟ้องคดี
    “จากนั้นผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ซื้อบ้านจัดสรรโครงการดังกล่าว และชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ข้างเคียงโดยรอบโครงการฯ จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ศาลปกครองนครราชสีมาได้นัดฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คน เฉพาะในส่วนที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คน ในระหว่างวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ตามคำขอข้อที่ ๑ ไว้พิจารณา เมื่อศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๙๔ คนแล้ว ทั้งนี้ ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายทั้ง ๙๔ คน รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนต่างก็ต่อสู้จากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและตามกระบวนการกฎหมาย โดยมุ่งหวังที่จะได้รับการเยียวยา” พ.อ.ดร.กานต์ธิพงษ์ พลตื้อธนะกูล ตัวแทนผู้ฟ้องคดี กล่าวในที่สุด


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘


692 1344