27thApril

27thApril

27thApril

 

February 23,2015

รัฐมอบสัมปทานเหมืองโปแตซ อ้างชาวบ้านถูกมัดมือชก

   กระทรวงอุตสาหกรรม มอบประทานบัตรเหมืองโปแตซอาเซียน ที่ชัยภูมิเรียบร้อย พร้อมแถลงข่าว ๓๐ ปีที่รอคอย ชาวบ้านชี้เหมือนถูกมัดไม้มัดมือ ไม่สามารถเรียกร้องคัดค้านได้ เพราะอยู่ใต้กฎอัยการศึก ซ้ำยังแย่งน้ำประชาชน เกิดความคุ้มค่าน้อย 

    หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ ในโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ให้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด (มหาชน) และจัดแถลงข่าวเรื่อง “ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซใบแรกของไทย ๓๐ ปีที่รอคอย” ที่ห้องประชุมทองคำ ชั้น ๑ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
    ข้อมูลโครงการฯ ระบุว่า ได้รับประทานบัตรเลขที่ ๓๑๗๐๘/๑๖๑๑๘ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ครอบคลุมพื้นที่ ๙,๗๐๐ ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า ๔ หมื่นล้านบาท มีอายุประทานบัตร ๒๕ ปี โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ ๑.๑ ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า ๑ หมื่นล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ ๑๗.๓๓ ล้านตัน ด้านสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทจะประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ๒๔.๑๗% กรมธนารักษ์ ๑๑.๕๐% บมจ.บางจาก ๑๑.๓๒% ประเทศอินโดนีเซีย ๙.๘๑% มาเลเซีย ๙.๘๑% กลุ่มไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง ๒๒.๔๖% อาซาฮี ๑.๘๔% เครือเจริญโภคภัณฑ์ ๐.๘๐% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ ๐.๗๕% โดยรวมแล้วฝ่ายไทยถือหุ้นสูงสุด ๖๗.๓๐% ประเทศสมาชิกอาเซียน ๒๑.๘๗% และอื่นๆ ๑๐.๘๓%           
    ขณะเดียวกันก็มีมุมมองของนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เฝ้าติดตามปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ต่อกรณีการออกประทานบัตรทำเหมืองแร่ โครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียนดังกล่าว 


    เริ่มต้นที่นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน มีการผลักดันกันมานานก่อนโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี ปี ๒๕๒๗ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แสวงหาความร่วมมือกับบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจจากประเทศอื่นในอาเซียนมาร่วมลงทุน ดังนั้นจึงเรียกว่าเหมืองของรัฐบาลก็ว่าได้
    “ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ก็ผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การได้มาซึ่งประทานบัตรก็ยิ่งไม่มีปัญหา อีกทั้งโครงการนี้ มีการซื้อที่ดินทั้งแปลงกว่า ๙,๐๐๐ ไร่ เพื่อทำเหมืองทั้งบนดินและใต้ดินขุดชอนไชลงไป ซึ่งไม่มีพื้นที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ข้างบน ห่างไกลเมือง และหากจะถือเอาผู้มีส่วนได้เสียที่อาจจะได้รับกระทบในเขตเหมืองตามกฎหมายแร่ ก็คงไม่มี”
    อาจารย์สันติภาพ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ เคยทำการทดลองขุดเอาเกลือไปขายแล้ว ตั้งโรงงานผลิตแร่โปแตซ แต่ปัญหาสำคัญก็คือได้มีนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ท้วงติงว่าเป็นแร่โปแตซคุณภาพต่ำ มีสัดส่วนของแร่แมกนีเซียมและเกลือสูง ซึ่งจะมีอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า อีกปัญหาหนึ่งของโครงการนี้ก็คือเรื่องน้ำ เพราะในกระบวนการทำเหมืองจะใช้น้ำมาก แต่ปรากฏว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่ค่อยมีแหล่งน้ำ หรือถ้ามีก็จะเป็นการแย่งน้ำชุมชน


    ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า การให้ประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน ของกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งนี้  เป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลไทยให้กับนายทุนจากจีนที่กำลังขอสัมปทานแหล่งแร่โปแตซทั่วภาคอีสาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งหากมองในเรื่องความคุ้มค่าเฉพาะการทำเหมืองคงได้น้อย เพราะเป็นแร่โปแตซชนิดคัลนาไลท์ ที่มีคุณภาพต่ำ แต่ตนมองว่า น่าจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเคมีคอล คอมเพล็กซ์ ตามมามากกว่า
    “กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานอีไอเอ และการรับรู้ข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่มีน้อยมาก ส่วนการผ่านรายงานก็เป็นไปอย่างเงียบเชียบ เนื่องจากว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะคอยกุมสภาพในพื้นที่ โดยมีนักการเมืองและผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนเหมือง ข่มขู่คุกคามชาวบ้านไม่ให้มีการคัดค้าน หรือออกมาแสดงความคิดเห็นต่างได้”
    นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะแย่งน้ำชาวบ้าน เพราะเหมืองพูดชัดว่า จะมีการใช้แหล่งน้ำในเขื่อนลำคันฉู ซึ่งกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเคยเรียกร้อง และรัฐบอกว่าเป็นแหล่งน้ำใช้ในการทำเกษตร


    สุดท้ายนางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี มาเป็นเวลากว่า ๑๔ ปี ได้สะท้อนแนวคิดว่า ตนไม่แปลกใจอะไรที่เหมืองแร่โปแตซอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จะได้รับประทานบัตรทำเหมือง เพราะภายใต้สถานการณ์ของกฎอัยการศึก ชาวบ้านเหมือนถูกมัดไม้มัดมือ ไม่สามารถเรียกร้องคัดค้านได้ แต่ขณะที่ฝ่ายบริษัทสามารถเดินหน้าขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างสบาย ทั้งนี้ ตนก็เคยไปดูงานที่เหมืองโปแตซอาเซียน ซึ่งพบว่าเหมืองดังกล่าวไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ เพราะบริษัทเขาซื้อที่ดินทั้งหมด แต่บริเวณรอบเหมือง ก็มีปัญหาดินเค็มแพร่กระจาย แห้งแล้ง และต้นไม้ก็ไม่ค่อยมี 
    “สภาพพื้นที่มีความแตกต่างกันมากกับโครงการเหมืองแร่โปแตซที่อุดรฯ เพราะที่นี่พื้นที่ตั้งโรงแต่งแร่เป็นสันปันน้ำ มีทางหลวง ทางรถไฟ ทางน้ำ และลำห้วยต่างๆ ในเขตเหมือง ที่สำคัญคือมีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และพื้นที่ทำเกษตรโดยรอบ ซึ่งชาวบ้านก็ได้คัดค้านมาตลอดทุกกระบวนการ”
    ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนจัดตั้งกลุ่มตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย ว่าจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ผ่านความเห็นชอบจากสผ.(สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และการจัดประชุมประชาคมชาวบ้านในเขตคำขอประทานบัตร ที่ยังเหลือในพื้นที่ ตำบลห้วยสามพาด และตำบลหนองไผ่ อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และติดปัญหาการคัดค้านของชาวบ้าน


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘

เครดิตภาพ : posttoday.com


684 1344