19thApril

19thApril

19thApril

 

February 23,2015

๒๐ ปีรพ.กรุงเทพราชสีมา ขยายเครือข่ายรับเออีซี เปิดศูนย์มะเร็งครบวงจร

   ครบ ๒๐ ปีรพ.กรุงเทพราชสีมา เปิดศูนย์บำบัดและรักษามะเร็งครบวงจร พร้อมจับมือรพ.วัฒโนสถ สถานรักษาโรคมะเร็งโดยตรง เสริมทัพความแกร่งด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ และบุคลากรคุณภาพ หวังเป็นศูนย์รวมการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่โรงพยาบาลที่มีเครือข่ายใหญ่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก 

 

งานแถลงครบรอบ ๒๐ ปีโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา

    เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม ๔ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน, พลตรีนายแพทย์นิวัฒน์ บุญยืน รองประธานกรรมการผู้บริหารกลุ่ม ๔ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ และนายแพทย์ธนรัชต์ สมุทรเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุรงเทพราชสีมา ร่วมแถลงข่าว ครบรอบ ๒๐ ปี โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา และเปิดศูนย์บำบัดและรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัยครบวงจร


กว่า ๗ ประเทศให้การยอมรับ
    นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ กล่าวว่า บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชฯ การ ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลในเครือหลายแบรนด์ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และโรงพยาบาลรอยัล ที่ประเทศกัมพูชา รวมทั้งหมด ๔๔ โรงพยาบาลในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพที่ไม่ใช่โรงพยาบาลอีกหลายบริษัท โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็นกลุ่มโรงพยาบาลตามพื้นที่ได้ ๕ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ โรงพยาบาลกรุงเทพในเขตกรุงเทพมหานครและใกล้เคียง กลุ่มที่ ๒ โรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มที่ ๓ โรงพยาบาลภาคตะวันออก และภาคใต้ กลุ่มที่ ๔ โรงพยาบาลในภาคอีสาน ภาคเหนือ และกัมพูชา และกลุ่มที่ ๕ โรงพยาบาลพญาไท–เปาโล ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาถือเป็นโรงพยาบาลหลักในกลุ่ม ๔ 
    นายแพทย์ชาตรี ยังกล่าวถึงทิศทางการลงทุนในต่างประเทศว่า จะโฟกัสไปที่ สปป.ลาว, เวียดนาม, เมียนมาร์, กัมพูชา, จีน และอินโดนิเซีย โดยเฉพาะหลวงพระบางของสปป.ลาว ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพอุดรเปิดคลินิกฉุกเฉินบริการ คนไข้ที่เข้ามารับบริการส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ มาจากเวียงจันทน์ ขณะที่กัมพูชามี ๒ โรงพยาบาลในเครือ คือ รอยัล รัตนะ และรอยัล อังกอร์ ซึ่งเมื่อปี ๒๕๕๗ โรงพยาบาลรอยัล พนมเปญ ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี และประชาชนชาวกัมพูชาบางส่วนก็ยังเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาอีกจำนวนไม่น้อย
    ส่วนที่เมียนมาร์ (พม่า) เปิดศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อในประเทศไทย และพร้อมเปิดโรงพยาบาลทันที เมื่อกฎหมายของพม่าอนุญาตให้เปิดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ รวมถึงการลงทุนเปิดโรงพยาบาลที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งการลงทุนเปิดโรงพยาบาลใหม่ในต่างประเทศจะพิจารณาประเทศที่ใกล้กับไทย เพราะสามารถสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ได้สะดวก เพราะโมเดลของธุรกิจที่ต้องใช้ทีมงานและบุคลากรทางการแพทย์เป็นคนไทยทั้งหมด ถือเป็นจุดแข็งที่มีทีมงานรักษามาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ส่วนประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจะพิจารณารับบริหารเพียงอย่างเดียว คนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น ปีที่ผ่านมา ๗ อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เมียนมาร์, กาตาร์, คูเวต, ญี่ปุ่น, เอธิโอเปีย และบังคลาเทศ


มุ่งมั่นพัฒนาสู่สากล
    นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม ๔ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือนั้น เน้นการให้บริการที่ดี ดูแลเอาใจใส่ มุ่งมั่นกับการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มประสิทธิภาพเสมอมา กระทั่งเป็นที่นิยม และสามารถขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อมุ่งมั่นการให้บริการที่ดีทั่วประเทศ และด้วยทีมบุคลากรของโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาที่มีความรับผิดชอบต่องานได้ดี เต็มใจกับการให้บริการจึงได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ที่เดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาเป็นจำนวนมากอยู่พอสมควรในปีที่ผ่านมา
    นายแพทย์สมอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบัน โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือมีบุคลากรทางการแพทย์รวมแล้วเกือบสองพันคน คือมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคเฉพาะทางกว่า ๑๐๐ คน แพทย์ที่ให้คำปรึกษา ๒๐๐ คน พยาบาลวิชาชีพอีก ๑๕๐ คน บุคลากรสหสาขาวิชาชีพและพนักงานอีก ๗๕๐ คน โดยโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพการดูแลผู้ป่วยสูงสุดในปัจจุบันและมีเป้าหมายพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในการบริการ เช่น การบริการด้านการรักษาโรคมะเร็ง ด้านการรักษาโรคหัวใจ โรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น สำหรับทิศทางในการดำเนินงานของโรงพยาบาลในกลุ่ม ๔ ปีนี้จะเน้นความร่วมมือของทั้งโรงพยาบาลในกลุ่ม ๔ และการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลในส่วนกลางมากขึ้น โดยมีนโยบายการรักษาที่มีคุณภาพในระดับสากล และราคาเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่


มาตรฐานการรักษาเพื่อคนทุกระดับ
    ทางด้าน นายแพทย์ธนรัชต์ สมุทรเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล Joint Commission International (JCI) ซึ่งโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิควรต้องได้สิ่งนี้ ขณะนี้ในเครือมี ๑๑ โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ และ ๔๔ โรงพยาบาลในเครือ ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล HA (Hospital Accreditation) ของประเทศไทย การศึกษาวิจัย และการ training แพทย์พยาบาลร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ อาทิ MD Anderson, Texas สถาบันมะเร็งอันดับ ๑ ของโลก กับโรงพยาบาลวัฒโนสถ ส่งดูแลผู้ป่วยด้านมะเร็ง, Mount Sinai Hospital, New York ประสานการดูแลกับศูนย์อายุรวัฒน์กรุงเทพ ดูแลผู้สูงอายุ และด้านเวชศาสตร์การกีฬา (Sport Medicine) ของมหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (Bangkok Academy of Sports and Exercise Medicine) ซึ่งเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับการรับรองจาก FIFA ว่า เป็น FIFA Medical Centre of Excellent แห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
    นายแพทย์ธนรัชต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ เชี่ยวชาญเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งทางเครือโรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรกลุ่มนี้มาก แม้โรงพยาบาลจะมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่เมื่อไม่มีแพทย์มาใช้เครื่องมือเหล่านั้น ก็ถือว่าสูญเปล่า ดังนั้น จะเห็นว่าหัวใจสำคัญอีกประการที่จะขาดไม่ได้ในการที่จะเป็น Medical Hub หรือศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ คือการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาคนไข้นั่นเอง ทั้งนี้การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าจะผลิตบุคลากรเหล่านี้เพิ่มอย่างไร อีกทั้งอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการแลกเปลี่ยนการบริการ อาทิ โรงพยาบาลไหนขาดเหลืออะไร อีกโรงพยาบาลก็จะส่งบุคลากรไปช่วย โรงพยาบาลรัฐมีแพทย์ผ่าตัด แต่ไม่มีแพทย์วางยาสลบ(วิสัญญีแพทย์) ก็อาจส่งแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนไปช่วย แต่คิดค่าผ่าตัดในอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐบาล พร้อมทั้งในอนาคตจะเปิดรับสิทธิการรักษา เช่น บัตรทอง ๓๐ บาท บัตรข้าราชการ และสิทธิ์การรักษาอื่นๆ ต่อไป

 

เปิดศูนย์มะเร็งครบวงจร
    พลตรีนายแพทย์นิวัฒน์ บุญยืน รองประธานกรรมการผู้บริหารกลุ่ม ๔ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และของภาคอีสาน และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาจึงก่อตั้งศูนย์มะเร็ง และก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับผู้ที่จะเข้ามารับบริการด้านการรักษาโรคมะเร็งให้ครบวงจร โดยในระยะแรกของการก่อตั้งศูนย์มะเร็ง จะเน้นที่การคัดกรองเพื่อวินิจฉัยมะเร็งขั้นต้น เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลวัฒโนสถ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคมะเร็งโดยตรง จึงได้ใช้ชื่อว่า “ศูนย์รักษามะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา” เริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารเพื่อรองรับเครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) ในอนาคต ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาและทำลายเซลล์มะเร็ง รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผลการรักษาได้มาตรฐาน ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร
    จากนั้นเวลา ๑๑.๓๐ น. นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาป็นประธานในพิธีเปิด ศูนย์รักษามะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา คณะผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ตัดริบบิ้นทำพิธีเปิดศูนย์รักษาโรคมะเร็ง และพร้อมให้บริการ ท่ามกลางผู้มีเกียรติจำนวนมาก


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘


696 1343