29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 24,2015

ก.อุตฯไฟเขียวประทานบัตร เปิดเหมืองแร่โปแตซอาเซียน พร้อมลงทุนกว่า ๔ หมื่นล้าน

   กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซฉบับแรกของไทย ให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดชัยภูมิ สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท พร้อมผลิตปุ๋ยโปแตซกว่า ๑.๑ ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี หลังรอมานานกว่า ๓๐ ปี หวังช่วยเหลือเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำพิธีส่งมอบประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน เมื่อเร็วๆ นี้

    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซฉบับแรกของประเทศไทย ให้กับโครงการเหมืองแร่โปแตซของอาเซียน ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ประทานบัตรเลขที่ ๓๑๗๐๘/๑๖๑๑๘ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ครอบคลุมพื้นที่ ๙,๗๐๐ ไร่ มีอายุประทานบัตร ๒๕ ปี โดยโครงการเหมืองแร่โปแตซของอาเซียน เป็นโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ ๒๐  
    ทั้งนี้ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการเจาะสำรวจจำนวน ๑๐๐ หลุมเจาะ พบว่า มีปริมาณสำรองแร่โปแตซทางธรณีวิทยาประมาณ ๔๓๐ ล้านตัน และได้ทดลองทำเหมืองแร่โปแตซใต้ดินในฐานะตัวแทนของทางราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๓ ลักษณะเป็นเหมืองปิดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
     “โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโปแตซประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ปุ๋ยโปแตซที่ได้จะต้องขายภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง รวมทั้งจะช่วยสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น นอกจากนี้ภาคเอกชนจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง และเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วย อีกทั้งภาครัฐยังสามารถเก็บเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ และจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ ๗ ซึ่งค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้จะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินส่งให้ส่วนกลางร้อยละ ๔๐ และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร้อยละ ๖๐” นายจักรมณฑ์ กล่าว


     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จะผลิตโปแตซด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) ซึ่งถือเป็นต้นแบบการออกแบบการทำเหมืองแร่โปแตซในอนาคต และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) มูลค่าการลงทุนประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยสามารถผลิตปุ๋ยโปแตซเซียมคลอไรด์ (KCl) ได้ประมาณ ๑.๑ ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ ๑๗.๓๓ ล้านตัน สำหรับแผนการลงทุนตามที่บริษัทฯ นำเสนอจะเริ่มมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานในปี ๒๕๕๙-๒๕๖๑ แบ่งเป็น การลงทุนในปี ๒๕๕๙ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท, ปี ๒๕๖๐ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท และปี ๒๕๖๑ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยโรงงานผลิตปุ๋ยโปแตซจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๒ 
     อนึ่ง โครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนภายหลังจากการลงนามในปฏิญญาสมานฉันท์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้โครงการนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN INDUSTRIAL PROJECT) ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โครงการมีจุดประสงค์ที่จะดำเนินการทำเหมืองและโรงแต่งแร่โปแตซ ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อผลิตปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด หรือ APMC เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยมีกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๒๙ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังร้อยละ ๒๐ โดยที่เหลืออีกร้อยละ ๕๑ เป็นของภาคเอกชน จากนั้นได้มีการพัฒนาโครงการโดยเจาะสำรวจแหล่งแร่ ขุดอุโมงค์ ทำเหมืองทดลองใต้ดิน ศึกษาด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 


    การดำเนินโครงการได้ชะลอมาระยะหนึ่ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและรัฐบาลในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยกระทรวงการคลังได้วางนโยบายที่ชัดเจนให้หาผู้ร่วมลงทุนเอกชนมาเป็น Strategic Investor อีกทั้งยังต้องรอพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำเหมืองใต้ดินซึ่งเพิ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ อีกด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ บริษัทฯ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในนาม บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พร้อมกับได้ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ โดยดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซ พื้นที่รวมประมาณ ๙,๗๐๗ ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศเปิดพื้นที่ตามมาตร ๖ ทวิ บริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตร หลังจากนั้นมาบริษัทฯ จึงสามารถเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการขอประทานบัตร โดยได้ดำเนินการรังวัดขึ้นรูปแผนที่ ปิดประกาศ และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ประทานบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘


685 1334