28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

February 24,2015

บีโอไอเสริมศักยภาพธุรกิจไทย ชี้ลู่ทางลงทุน ๔ ประเทศใหม่

   บีโอไอเผยข้อมูลการลงทุนในประเทศใหม่ คาซัคสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ และปากีสถาน ชี้เหมาะที่จะสร้างเครือข่ายธุรกิจเพิ่มเติม หลังพบข้อดีและความเหมาะสมหลากหลายด้าน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ ที่เน้นให้นักลงทุนออกไปขยายการลงทุนในต่างประเทศ

นายโชคดี แก้วแสง

    นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงานนําเสนอผลการศึกษา “โอกาสลู่ทางและระเบียบการลงทุน การทำธุรกิจในสาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน” ว่า  บีโอไอทำการศึกษารวบรวมข้อมูลขั้นตอนและระเบียบการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนไทยได้ข้อมูลพื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดทั้งขั้นตอนการทำธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถ และสร้างโอกาสให้ผู้ ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเหตุผลที่บีโอไอเลือกศึกษาข้อมูลของทั้ง ๔ ประเทศ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่ตลาดกำลังขยายตัวและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕ นอกจากนั้นยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ แรงงาน และสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ได้รับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเหมาะที่นักลงทุนไทยจะออกไปสร้างเครือข่ายการลงทุนเพิ่มเติม
    “ภารกิจสำคัญของบีโอไอ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้พบว่า ประเทศตลาดใหม่ทั้งในเอเชียและแอฟริกามีความน่าสนใจ โดยมีโอกาสเข้าไปลงทุนได้จริงแต่ปัญหาของนักลงทุนไทยขณะนี้ คือ ขาดข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น และไม่ทราบขั้นตอนของประเทศเป้าหมายที่จะออกไปลงทุน ผลการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้นักลงทุนรู้กระบวนการก่อนทำธุรกิจจากผู้มีประสบการณ์หลากหลายสาขา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การไปลงทุนในต่างประเทศคล่องตัวมากขึ้น” รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว 
    ทั้งนี้ สรุปผลการศึกษาการทำธุรกิจแยกเป็นรายประเทศ สาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแหล่งน้ำมันดิบ โครเมียม เหล็ก ทองแดง และยูเรเนียม ปัจจุบันรัฐบาลคาซัคสถานมีการเชิญชวนให้เกิดการลงทุนในสาขาอื่นๆ นอกจากเรื่องพลังงาน โดยได้ลงนามความตกลงเพื่อจัดตั้งสหภาพศุลกากรระหว่างประเทศกับรัฐบาลเบลาลุส คาซัคสถาน และรัสเซีย ซึ่งอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป การเลี้ยงสัตว์แปรรูป ข้าวสาลี การทำผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น นอกจากนั้น ในปี ค.ศ. ๒๐๑๗ คาซัคสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Expo 2017 Future Energy” ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุน


    สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มีความต้องการโครงการลงทุนจากต่างชาติสูง ในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จากสัดส่วนความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีสําหรับนักลงทุนไทย นอกจากนั้น ยังมีความคล้ายคลึงระหว่างไทยกับศรีลังกา ด้านพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้โอกาสการร่วมลงทุน หรือจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับคนศรีลังกาง่ายกว่าชาติอื่น ๆ โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุนในศรีลังกานั้น ได้แก่ สิ่งทออัญมณี เครื่องประดดับ ซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม ยาง ยาและเวชภัณฑ์
     สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มีศักยภาพด้านประชากรที่มากถึง ๑๖๐ ล้านคน ทำให้มีความต้องการซื้อสูง ประกอบกับค่าแรงงานที่ต่ำประมาณ ๒,๓๐๐ บาทต่อเดือน ส่งผลใหต้นทุนการทำธุรกิจต่ำ จึงเหมาะที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปขยายการลงทุน นอกจากนั้นบังกลาเทศยังได้ปรับเปลี่ยนนโยบายหลากหลาย เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติ อนุญาตให้ส่งผลกำไรและรายได้ออกไปต่างประเทศได้โดยเสรี และมีมาตรการให้ความสําคัญกับบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศนั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต สปา และธุรกิจประเภทการดูแลสุขภาพ (health care) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เครื่องหนัง เหล็กเครื่องใชไฟฟ้า ซึ่งบังกลาเทศต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจในประเภทเหล่านี้ 
    สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองในแง่การค้าและการลงทุนของไทย จากจำนวนประชากรที่มากถึง ๑๘๐ ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ ๖ ของโลก จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นประตูการค้าไทยไปสู่ประเทศอัฟกานิสถาน เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ที่ผ่านมาไทยและปากีสถานได้ลงนามความร่วมมือที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยตั้งเป้าหมายการค้าให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า ภายใน ๕ ปี สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยเหมาะที่จะขยายการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ เพราะปากีสถานเป็นแหล่งแร่ที่มีคุณภาพดี อาทิ ทับทิม แซฟไฟร์ มรกต โกเมน และควอตซ์ เป็นต้น ประกอบกับไทยมีความรู้ด้านการแปรรูปอัญมณี ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ดังนั้น การร่วมมือกันในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับจะส่งผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย ในการขยายตลาดและมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘

เครดิตภาพ :  www.tnamcot.com


683 1333