19thApril

19thApril

19thApril

 

February 24,2015

แนะพฤติกรรมการเงินคนอีสาน ผ่อนไม่ไหวไม่กู้และลดซื้อหวย

   อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “พฤติกรรมทางการเงินของชาวอีสาน” ผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมทางการเงินที่คนอีสานต้องปรับปรุงตัวเพื่อทำให้สุขภาพทางการเงินดีขึ้น ได้แก่ วางแผนออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ออมเงินสม่ำเสมอ ทำบัญชีครัวเรือน ไม่กู้ยืมเงินหากมีรายรับไม่พอผ่อนจ่าย และลดการซื้อหวย นอกจากนี้ยังพบว่า ถึงแม้คนอีสานจะมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในประเทศ แต่ครัวเรือนอีสานส่วนใหญ่ยังไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้นอกระบบเป็นหลัก


    ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของคนอีสาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๕-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๐๗๖ ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด
    เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมทางการเงินของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๒ ข้อ และประมวลผลการวิเคราะห์ เป็นดังนี้
    พฤติกรรมทางการเงินที่คนอีสานได้คะแนนต่ำ (ต่ำกว่า ๖๐) ซึ่งควรมีการปรับปรุงพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่  
    - การวางแผนออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ (๕๑.๑) โดยกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ ๒๒.๔ เท่านั้นที่ตอบว่าใช่เลย ร้อยละ ๕๒.๗ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    - การออมเงินสม่ำเสมอ (๕๒.๔) โดยกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ ๒๑.๓ เท่านั้นที่ตอบว่าใช่เลย ร้อยละ ๖๒.๓ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    - รับผิดชอบตัดสินใจการเงินของครัวเรือนและทำบัญชีครัวเรือน (๕๒.๗) โดยกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ ๒๘.๗ เท่านั้นที่ตอบว่าใช่เลย ร้อยละ ๔๘.๐ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    - ไม่กู้ยืมเงินหากมีรายรับไม่พอผ่อนจ่าย (๕๕.๒) โดยกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ ๒๖.๐ เท่านั้นที่ตอบว่าใช่เลย ร้อยละ ๕๘.๔ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    - ไม่ชอบซื้อหวยใต้ดิน (๕๕.๓) โดยกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ ๓๒.๑ เท่านั้นที่ตอบว่าใช่เลย ร้อยละ ๔๖.๔ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    พฤติกรรมทางการเงินที่คนอีสานได้คะแนนปานกลาง (๖๐-๗๙.๙) ได้แก่ 
    - ไม่ชอบซื้อลอตเตอรี่ (๖๑.๓) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๕๐.๕ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๓๖.๑ ตอบว่าใช่เลย
    - ตั้งเป้าหมายการเงินระยะยาวและพยายามทำตามเป้า (๖๑.๔) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๖๒.๔ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๓๐.๒ ตอบว่าใช่เลย
    - จ่ายบิลและชำระหนี้ตรงเวลา (๖๒.๖) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๕๙.๐ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๓๓.๑ ตอบว่าใช่เลย
    - ดูแลการเงินด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด (๖๔.๙) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๕๖.๖ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๓๖.๖ ตอบว่าใช่เลย
    - ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อเสมอ (๖๕.๐) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๕๒.๓ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๓๘.๘ ตอบว่าใช่เลย
    - เปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อสินค้า (๖๖.๑) โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ ๕๑.๘ ตอบว่าค่อนข้างใช่ และร้อยละ ๔๐.๒ ตอบว่าใช่เลย
    พฤติกรรมทางการเงินที่คนอีสานได้คะแนนสูง (๘๐ -๑๐๐)
    - ไม่พึ่งพาเงินกู้นอกระบบเป็นหลัก (๘๗.๔) โดยกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ร้อยละ๗๖.๙ ตอบว่าใช่เลย และร้อยละ ๒๑.๐ ตอบว่าค่อนข้างใช่
    ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ ๙๙%และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ ๔% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ ๕๒.๐ เพศชาย ร้อยละ ๔๘.๐ ส่วนใหญ่อายุ ๓๖-๔๕ ปี ร้อยละ ๓๐.๓ รองลงมา ร้อยละ ๒๘.๒ อายุ ๔๖-๕๕ ปี ร้อยละ ๒๒.๗ อายุ ๒๖-๓๕ ปี ร้อยละ ๗.๒ อายุ ๕๖-๖๐ ปี ร้อยละ ๖.๗ อายุ ๑๘-๒๕ ปี และร้อยละ ๕.๐ อายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป 
    ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ ๓๙.๙ รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ ๑๙.๔   มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๗.๘  มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ ๑๓.๖ อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๖.๗  ปริญญาโทหรือสูงกว่า ร้อยละ ๒.๖ ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ ๓๘.๘ รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ ๑๖.๑ อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ ๑๒.๘ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๐.๓ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๐.๓ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๖.๒ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๒.๙ อื่นๆ ร้อยละ ๒.๖       
    ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ ๕,๐๐๑-๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๓๒.๓ รองลงมามีรายได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๐.๗ รายได้ระหว่าง ๑๐,๐๐๑-๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๙.๒  รายได้ ๑๕,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๖.๘ รายได้ ๒๐,๐๐๑-๔๐,๐๐๐ ร้อยละ ๘.๙ และรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไป ร้อยละ ๒.๐  


ฉบับที่ ๒๒๗๖ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘


683 1342