29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

March 21,2015

สรุป‘วงแหวนรอบเมือง’ หวั่นกระทบแหล่งน้ำ อ้างชดเชยเต็มที่

   หลังจากที่เดินหน้าสำรวจและออกแบบ “วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” หวังแก้ปัญหาเส้นทางจราจร พร้อมรองรับ AEC สรุปคัดเลือกปักธงแล้ว ๔ เส้นทาง ด้านประชาชนยังวิตกผลกระทบ ๒ เรื่องหลัก “ปิดทางน้ำและเวนคืนที่” กรมทางหลวงชี้พร้อมจ่ายเงินชดเชย ประกาศย้ำรอผลพิสูจน์กันยายนนี้

แนวเส้นทาง “วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา”

    เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสุรนารี โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช ถนนสุรนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ว่าที่ร้อยตรี ดร.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบ โครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวง ๔ ช่องจราจร “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” ๔ ตอนที่เหลือ ประกอบด้วย ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒, ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๓, ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ รวมระยะทางประมาณ ๖๘ กิโลเมตร เพื่อระบายการจราจรที่คับคั่งในตัวเมืองนครราชสีมา รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมและขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการ เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวสายทางที่เหมาะสม จำนวนกว่า ๓๐๐ คน


หวังบรรเทาการจราจรคับคั่ง
    ว่าที่ร้อยตรี ดร.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวเปิดการสัมมนาว่า กรมทางหลวงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผล กระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา รวมทั้งการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมไว้เบื้องต้น แต่ปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงบริเวณโดยรอบตัวเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคอีสานมีปริมาณจราจรมาก อีกทั้งต้องรองรับปริมาณจราจรในช่วงเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้ตัวเมืองนครราชสีมาเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัย การพัฒนาภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ตัวเมืองนครราชสีมามีการจราจรที่คับคั่งมากขึ้น กรมทางหลวงได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวง ๔ ช่องจราจร ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา โดยแบ่งเป็น ๔ ตอน ประกอบด้วย ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒, ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๓, ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ มีระยะเวลาศึกษา ๓๖๐ วัน (สิ้นสุดเดือนกันยายน ๒๕๕๘)   
    “วันนี้เป็นการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๒ โดยสรุปแนวทางและรูปแบบโครงการฯ ขนาด ๔ ช่องจราจร ซึ่งถ้าดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าแนวเส้นทางที่กรมทางหลวงได้ดำเนินการนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง ก็ถือว่าประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออาจได้รับผลกระทบโดยตรงจะได้ช่วยกระจายข่าวสารประชาสัมพันธ์ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้สอดคล้องกับที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นหรือเสนอแนะแนวเส้นทางนั้น อาจจะติดขัดจากการไม่เห็นด้วยของประชาชน แต่โครงการทั้งหมดนั้นก็เป็นการรองรับและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในอนาคต กับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการขนส่ง ด้านการคมนาคม ฯลฯ อยากให้ประชาชนเปิดใจรับฟัง เพื่อสรุปแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของเมืองโคราชต่อไป” นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าว  

 

เคาะ ๔ เส้นทางที่เหมาะสม
    ต่อมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยนายพงษ์พันธ์ ดาวแสงสว่าง วิศวกรงานทาง/การระบายน้ำ, อาจารย์ยิ่งเจริญ คูสกุลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนางเพริศแพรว วงศ์วุฒิกุลธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน สรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบของถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ที่มีความเหมาะสมทั้ง ๔ ตอน โดยเริ่มจากด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒ เลือกแนวเส้นทางเลือกที่ ๔ (สายสีเขียว) มีจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางอยู่ที่หลัก กม. ๖+๔๕๐ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๘ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตำบลขามทะเลสอ แนวเส้นทางจะวกขึ้นไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเข้าสู่ทางด้านเหนือตำบลสีมุม และมุ่งหน้าต่อไปเข้าสู่ทางด้านใต้ของตำบลบึงอ้อและตำบลพันดุง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอนปลูกไร่มันสำปะหลัง หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะค่อยๆ วกไปทางด้านทิศตะวันออก มุ่งหน้าไปด้านเหนือของตำบลพลกรังและตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา แนวเส้นทางจะอยู่ทางด้านเหนือของบึงพุดซา ห่างจากบึงพุดซาประมาณ ๔๐๐ เมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะพาดผ่านไปทางด้านใต้ของตำบลสำโรง ห่างจากบ้านซาดไปทางด้านใต้ประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ เมตร และตำบลกำปัง อยู่ทางด้านใต้ของบึงขี้นาก และห่างจากบ้านกำปังไปทางด้านเหนือประมาณ ๓๕๐ เมตร อำเภอโนนสูง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา และเข้าบรรจบกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ หรือถนนสุรนารายณ์ บริเวณหลัก กม. ๒๑๗+๕๕๐ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ ๒๓.๐๓ กิโลเมตร 
    ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๓ เลือกแนวเส้นทางเลือกที่ ๒ (สีแดง) จุดเริ่มต้นที่ กม. ๒๑๗+๐๕๐ บริเวณบ้านโคกสูง แยกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านตำบลโคกสูง ห้วยคลังเหนือ ผ่านบ้านโกรก และเข้าสู่ตำบลหนองไข่น้ำ ผ่านบ้านหนองไข่น้ำ บ้านหนองไผ่แหลม บ้านหนองกระทุ่ม จากนั้นแนวทางก็วกกลับลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าตำบลด่านคล้า ลงมาทางบ้านหนองสะแก ตัดผ่านทางรถไฟสายขอนแก่น เข้าตำบลใหม่ ผ่านบ้านหนองแมวเหนือ, บ้านหนองกันงา, บ้านสะเดาเอน, บ้านเกรา และบ้านท่าระแวก เฉียดวัดป่าคูเมืองเก่า และไปสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) บริเวณ กม.ที่ ๑๖๘+๘๐๐ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๑๖.๙๒ กิโลเมตร สภาพพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม ผ่านชุมชนหนาแน่นเป็นแห่งๆ ตัดผ่านแหล่งน้ำผิวดินจำนวน ๕ แห่ง มีจำนวนโค้ง ๒ แห่ง มีจุดตัดกับถนนเดิมจำนวน ๙ แห่ง เป็นแยกขนาดใหญ่จำนวน ๓ แห่ง เนื่องจากกำหนดเป็นทางหลวงขนาด ๔ ช่องจราจร เขตทาง ๖๐.๐๐ เมตร 


    ส่วนด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ เลือกแนวเน้นทางเลือกที่ ๔ (สีม่วง) โดยช่วงต้นโครงการยึดตามแนวทางเลือกที่ ๓ กระทั่งช่วง กม.ที่ ๑๔ ที่แยกออกโดยแนวเส้นทางจะวิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อหลบหลีกไปทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านโนนไม้แดง แล้วจึงตัดผ่านทางรถไฟ ก่อนเข้าบรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ที่ประมาณ กม.ที่ ๑๖+๖๐๐ ระยะทางรวมประมาณ ๑๗+๙๑๙ กิโลเมตร  
    และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ เลือกแนวทางเลือกที่ ๒ (สีฟ้า) จุดเริ่มต้นอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ บริเวณ กม. ๑๔+๔๒๕ (บริเวณใกล้เคียงกับทางเข้าโรงแรมวันชัย) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพระพุทธ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา แนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านตำบลพระพุทธ เป็นพื้นที่ราบ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม มุ่งหน้าผ่านเข้าสู่ด้านทิศตะวันตกของตำบลท่าช้าง เป็นพื้นที่ราบ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มุ่งหน้าผ่านเข้าสู่ด้านทิศใต้ของตำบลหนองงูเหลือม เป็นพื้นที่ราบ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเช่นเดียวกัน แนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเขตของตำบลหนองงูเหลือม ด้านทิศตะวันออกแนวเส้นทางจะไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กม.ที่ ๑๖๘+๕๕๐ ทางเข้าวัดป่าคูเมืองเก่า ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ รวมระยะทางประมาณ ๑๐.๓๑๐ กิโลเมตร
    ทั้งนี้ ยังมีการวางรูปแบบทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดตัดถนนสายต่างๆ อีกด้วย โดยการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา บริเวณด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒ ตัดกับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ (ถนนสุรนารายณ์), ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ ตัดกับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ ตัดกับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ)

 
กรมทางหลวงมีธงเส้นทาง
    ภายหลังการนำเสนอแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมทั้ง ๔ ตอน กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้เปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ที่แนวเส้นทางถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาพาดผ่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นความสำคัญการสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่คับคั่งในเขตอำเภอเมืองนคราราชสีมา แต่ยังมีความเป็นห่วงว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ต้องตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน อาจส่งผล กระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคตด้วย และการสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางในวันนี้ (๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘) กรมทางหลวง และบริษัทที่ปรึกษา มีธงแนวเส้นทางไว้แล้วนั้น 

 

หวั่น!เรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค
    ตัวแทนประชาชนจากตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒ ว่า สิ่งที่พวกเราประชาชนกลัวที่สุดในขณะนี้ จากการคัดเลือกแนวเส้นทางเลือกที่ ๔ (สายสีเขียว) และคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เรื่องน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เพราะหากแล้งขึ้นมาประชาชนในพื้นที่ลำบากที่สุด ซึ่งตำบลโคกสูงมีประชากรประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ในพื้นที่ที่ต้องตัดผ่าน หากกระทบเรื่องน้ำขึ้นมาจะเดือดร้อน และถ้าเลือกเส้นทางนี้แล้วเกิดปัญหาตามมาจะทำอย่างไร โดยส่วนตัวตนเห็นด้วยกับความเจริญที่จะเข้ามา แต่หากก่อสร้างแล้วต้องไม่ส่งผลกระทบระยะยาว เพราะจะทำให้เดือดร้อนถึงลูกถึงหลาน

 

ยืนยันเส้นทางเหมาะสมที่สุด
    ทางด้านนายพงษ์พันธ์ ดาวแสงสว่าง วิศวกรงานทาง/การระบายน้ำ ชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการคัดเลือก กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ออกสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะสามารถเยียวยาทางด้านวิศวกรรมได้แค่ไหน ซึ่งต่อจากนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจและรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มย่อยอีก ๒ ครั้ง ส่วนเรื่องที่ว่าเราตั้งธงเส้นทางไว้แล้วนั้น จากการสำรวจและศึกษารายละเอียดเป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด และส่งผลกระทบน้อยที่สุด หากมีโครงการก่อสร้างจริงก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจ วิเคราะห์ ทั้งสภาพดิน สภาพคลองน้ำ หรือประโยชน์การใช้สอยพื้นที่ต่างๆ และจะนำมารวบรวมข้อมูลเพื่อออกแบบและหาทางเลือกที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน เพราะฉะนั้น อยากให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจได้ เราจะทำทุกอย่างให้ออกมาดี และจะลงพื้นที่สอบถามอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนตามแนวเส้นทางตัดผ่าน

 

ให้ปชช.สบายใจพร้อมชดเชย
    ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ อาจารย์ยิ่งเจริญ คูสกุลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า จากนี้ไปจะลงพื้นที่ประชุมย่อย พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการที่เหมาะสมอีกครั้ง แต่ขณะนี้แนวเส้นทางที่ได้คัดเลือกไว้แล้วนั้น ถือว่ามีความพร้อมเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อประชาชน แหล่งชุมชน และสภาพแวดล้อมภายในชุมชนน้อยที่สุด ส่วนเรื่องที่ว่าหากมีการตัดแนวเส้นทางผ่านที่ดินทำกินนั้น ทางกรมทางหลวงได้ฝากย้ำมาว่าจะจ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสมที่สุด ขอให้ประชาชนสบายใจได้ อย่างไรก็ดี โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทั้ง ๔ ตอนที่เหลือ กรมทางหลวงเล็งเห็นว่า เป็นโครงการที่จะช่วยลดปัญหาการจราจรในตัวเมืองนครราชสีมา หรือในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ให้การจราจรติดขัด ประกอบกับรองรับการขยายพื้นที่พักอาศัย การขยายธุรกิจ พัฒนาภาคเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมไปถึงการเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปลายปี ๒๕๕๘     
    อนึ่ง กรมทางหลวงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ๔ ตอน ประกอบด้วย ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๒, ด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๓, ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๓ และด้านทิศใต้ ตอนที่ ๔ ในวงเงินประมาณ ๖๐ ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน ๓๖๐ วัน สิ้นสุดในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ โดย “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา” มีแนวเส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และเปิดใช้งานในปัจจุบัน คือ ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๑ ระยะทางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร และที่ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว คือ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านทิศใต้ ตอนที่ ๒ ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร และด้านทิศเหนือ ตอนที่ ๑ ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองตอนดังกล่าวขณะนี้ยังไม่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืน อยู่ระหว่างการจัดหางบประมาณมาดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาจะก่อสร้างแล้วเสร็จครบทุกตอนภายใน ๑๐ ปี รวมระยะทางประมาณ ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร


ฉบับที่ ๒๒๘๑ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


710 1378