27thApril

27thApril

27thApril

 

March 21,2015

โพลชี้คนไทยหนุนภาษีที่ดิน แต่ขอจ่ายในอัตราต่ำ กังวลมูลค่าเพิ่ม ๑๐%

   อีสานโพล เผยผลสำรวจเรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บเท่าไหร่ดี” พบว่า คนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเก็บในอัตราที่ไม่สูงมากและลดหย่อนให้กับกลุ่มรายได้น้อย ถ้าครอบครองน้อยกว่า ๑๕-๒๐ ไร่ ควรงดเว้นภาษี นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนกลัวการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ๑๐% มากกว่าการบังคับใช้ภาษีที่ดินฯ

    ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการสำรวจเรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บเท่าไหร่ดี” เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๔-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๘ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ๑,๓๗๙ ราย ทั่วประเทศ โดยการสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๕๖.๖ ทางครอบครัวมีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นประจำทุกปี ร้อยละ ๒๘.๙ ไม่ได้เสียภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และอีกร้อยละ ๑๔.๕  ไม่แน่ใจว่าทางครอบครัวมีการเสียภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือไม่   
    เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะถูกนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในอัตราต่างๆ  ผลการสำรวจ พบว่า สำหรับที่ดินเพื่อการเกษตร อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๕๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๔๗.๐ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๓.๐ ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๑๕๐ บาท/ปี ทั้งนี้เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๑๓.๔ และกลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยเห็นว่า หากมีการครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรน้อยกว่า ๑๕-๒๐ ไร่ ควรได้รับการงดเว้นภาษี 
    ที่ดินและสิ่งก่อสร้างเชิงพาณิชย์ อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๒,๐๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๒.๐ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๓๘.๐  ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๕๘๐ บาท/ปี  เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๓.๒  
    ที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๒,๐๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่าง กว่าร้อยละ ๕๖.๒ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๔๓.๘ ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๕๕๐ บาท/ปี เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๗.๙  
    ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรก ในเขต กทม.และปริมณฑล ไม่เกิน ๒.๕ ล้าน ไม่ต้องมีการจ่ายภาษี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๕.๘ เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๑๔.๒ ไม่เห็นด้วย โดยเสนอมูลค่าของที่อยู่อาศัยหลังแรก ควรมีมูลค่าประมาณไม่เกิน  ๖.๗  ล้านบาท จึงจะไม่ต้องเสียภาษี 
    ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรก ในต่างจังหวัด ไม่เกิน ๑.๕ ล้านไม่ต้องมีการจ่ายภาษี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๑.๙ เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๑๘.๑ ไม่เห็นด้วย โดยเสนอว่าที่อยู่อาศัยหลังแรก ควรมีมูลค่าประมาณไม่เกิน ๔.๙ ล้านบาท จึงจะไม่ต้องเสียภาษี


    สำหรับที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรก ในเขต กทม.และปริมณฑล ที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๒.๕-๕ ล้านบาท การเก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๕๐๐ บาท/ปี   กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๖.๐ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๒๔.๐ ไม่เห็นด้วย  โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๓๐๐  บาท/ปี เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๑๒.๓  
    ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรก ในต่างจังหวัด  ที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๑.๕-๕ ล้าน อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๕๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๐.๐ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๓๐.๐ ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๑๖๐ บาท/ปี เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๑๕.๔  
    ที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่หลังแรก ต่ำกว่า ๕ ล้าน อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๑,๐๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๗.๑ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๓๒.๙ ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๓๖๐ บาท/ปี เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๓.๙ 
    และที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๕ ล้านขึ้นไป โดยอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ ๑,๐๐๐ บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๘.๓ เห็นด้วยกับการเก็บอัตราภาษีดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ ๓๑.๗ ไม่เห็นด้วย  โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ ๕๔๐ บาท/ปี และเมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีร้อยละ ๓.๑ 


    นอกจากนี้อีสานโพลสอบถามต่อไปว่า บ้านและที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย ควรได้รับการลดหย่อนหรืองดเว้นภาษีหรือไม่อย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ ๖๗.๓ เห็นว่าควรงดเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี  ร้อยละ ๒๒.๑ เห็นว่าควรลดหย่อนภาษี ๕๐% ร้อยละ ๗.๓  เห็นว่าควรลดหย่อนภาษี ๒๕% และอีกร้อยละ ๓.๓ เห็นว่าไม่ควรลดหย่อน 
    ท้ายสุดอีสานโพลได้สอบถามว่า หากต้องเลือกระหว่าง การถูกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ๑๐% ท่านจะเลือกข้อใด กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ ๕๔.๙ จะเลือกการถูกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ ๑๙.๐ เลือกการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ๑๐% และอีกร้อยละ ๒๖.๑ ยังไม่แน่ใจ
    สำหรับข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ ๙๙% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ ๓.๕% ประกอบด้วย เพศชาย ร้อยละ ๕๒.๔ เพศหญิง ร้อยละ ๔๗.๖ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๒๘.๐  อายุ ๓๖-๔๕ ปี รองลงมา ร้อยละ ๒๖.๓ อายุ ๒๖-๓๕ ปี ร้อยละ ๒๒.๙ อายุ ๔๖-๕๕ ปี ร้อยละ ๘.๘ อายุ ๕๖-๖๐ ปี ร้อยละ ๗.๗ อายุ ๑๘-๒๕ ปี และร้อยละ ๖.๒ อายุมากกว่า ๖๑ ปีขึ้นไป 
    ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๒.๖ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาร้อยละ ๒๑.๒ ระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่าร้อยละ ๑๘.๓ มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๓.๗ อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๑๑.๓ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ ๒.๘  ปริญญาโทหรือสูงกว่า  
    ด้านอาชีพส่วนใหญ่ร้อยละ ๑๙.๔ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาร้อยละ ๑๕.๔  ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ ๑๕.๑ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๓.๘ รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๓.๓ รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ ๑๐.๙ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๖.๐ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๖.๑ อาชีพอื่นๆ     
    ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่ร้อยละ ๒๔.๑ อยู่ที่ ๕,๐๐๑-๑๐,๐๐๐ บาท รองลงมาร้อยละ ๑๘.๙  มีรายได้ระหว่าง ๑๕,๐๐๑ - ๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๗.๖ มีรายได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๗.๕ มีรายได้ ระหว่าง ๒๐,๐๐๑ - ๔๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๗.๐ มีรายได้ระหว่าง ๑๐,๐๐๑ - ๑๕,๐๐๐ บาท และร้อยละ ๔.๘ มีรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไป


ฉบับที่ ๒๒๘๑ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

เครดิตภาพ  www.brighttv.co.th


685 1343