24thApril

24thApril

24thApril

 

March 23,2015

เปิดงาน“พัฒนาสินค้าข้าวสู่มาตรฐาน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๓๐ น. ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ นายชาญพิทยา  ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดงาน “พัฒนาสินค้าข้าวสู่มาตรฐานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘” จัดขึ้นโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์  หลังจากกรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ดำเนินการจัดงาน “พัฒนาสินค้าข้าวสู่มาตรฐานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘” ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างสูงสุดหาที่เปรียบมิได้ โดยเฉพาะกิจการด้านข้าวและชาวนา พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในเรื่องข้าวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การพัฒนาสินค้าข้าวให้ได้มาตรฐาน GAP  โรงสีข้าว GMP สินค้าข้าวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และข้าวอินทรีย์ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าข้าว ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP โรงสีข้าว GMP สินค้าข้าวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวอินทรีย์ โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้จำหน่ายในคราวเดียว และเพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการด้านข้าวแก่ชาวนา ประชาชนทั่วไป


     โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก อาทิ การจัดเสวนาแนวทางการผลิตสินค้าข้าวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยมีเกษตรจังหวัดสุรินทร์ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไชนี่ อินเตอร์คอร์เปอเรชั่น จำกัด และตัวแทนภาคเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา, การเจรจาธุรกิจการตลาด ผลิตภัณฑ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน การเชื่อมโยงเครือข่าย ระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้จำหน่าย, การแสดงนิทรรศการ และการถ่ายทอดความรู้จากสถานีต่างๆ, สถานีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สถานีองค์ความรู้เรื่องการผลิตสินค้าข้าวที่ได้มาตรฐาน, สถานีการลดต้นทุนการผลิตข้าว, สถานีองค์ความรู้เรื่องข้าว, สถานีนวัตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งมีหน่วยงานราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุรินทร์ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์, การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโดยภาครัฐ และภาคเอกชน, สาธิตการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีตัวแทนภาคเกษตรทุกตำบล ทั้งหมด ๑๕๘ ตำบลของจังหวัดสุรินทร์  ประชาชนทั่วไป ตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผู้ประกอบการร้านค้า บุคลากรของกรมการข้าว หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมงานกว่า ๑,๐๐๐ คน
     นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ตนมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง  ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานเปิดงาน “พัฒนาสินค้าข้าวสู่มาตรฐานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘” ในครั้งนี้ ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย เนื่องจากพลังงานที่คนไทยได้รับจากข้าวมีถึงประมาณร้อยละ ๕๕-๖๐ ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละวัน บางพื้นที่ในชนบทห่างไกลพลังงานที่ได้จากข้าวอาจสูงถึงร้อยละ ๗๐  ขณะที่ในปัจจุบันการทำการตลาดข้าวในเวทีการค้าโลก  มีการกำหนดมาตรฐานกีดกันทางการค้า โดยใช้ข้อกำหนดทางเทคนิคขึ้นแทนการกำหนดภาษีนำเข้า ประเทศที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการและการพัฒนาระบบการผลิตให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จะมีความได้เปรียบในเวทีการค้าระดับต่างๆ มาตรการดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารส่งออกโดยตรง รวมทั้งการส่งออกข้าวของประเทศไทย ซึ่งประสบภาวการณ์แข่งขันสูงอยู่แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทย โดยการพัฒนาระบบการผลิตและการรับรองคุณภาพข้าวเพื่อผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ข้าว GI) และข้าวที่มีตรารับรอง Q ซึ่งต้องใช้ข้าวเปลือก GAP เป็นวัตถุดิบ และสีแปรสภาพในโรงสีข้าวที่มีมาตรฐาน GMP


     ในวันนี้กรมการข้าว ได้ร่วมกับหน่วยงานภูมิภาคในจังหวัดสุรินทร์ จัดงาน “พัฒนาสินค้าข้าวสู่มาตรฐานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘” ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเฉพาะด้านข้าวและชาวนา การจัดเสวนาแนวทางการผลิตสินค้าข้าวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน การเจรจาธุรกิจการตลาด ผลิตภัณฑ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน องค์ความรู้เรื่องข้าว การลดต้นทุนการผลิต การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้จำหน่าย การสาธิตการแปรรูปข้าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกรมการข้าวในฐานะเป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐที่กำกับดูแลงานด้านการผลิตข้าวของประเทศ ชมผลิตภัณฑ์ข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของข้าว ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของประชาชนทั้งประเทศ  จัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและวิวัฒนาการของภาคการเกษตร ซึ่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งการแสดงด้านต่างๆ จะเป็นสิ่งเสริมสร้างความภาคภูมิใจ และสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ในการศึกษาและพัฒนาการปลูกข้าวต่อไป
     นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ "อีสานใต้" มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้าง การทอผ้าไหม  มีผู้คนหลายเผ่า หลายภาษา เช่น ไทยอีสาน เขมร กูย มีประชากรมากเป็นอันดับที่ ๙ และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๔  มีคำขวัญประจำจังหวัด คือ “สุรินทร์ถิ่น ช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”  ถิ่นช้างใหญ่ หมายถึง สุรินทร์มีศูนย์คชศึกษา มีช้างอยู่มาก เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ผ้าไหมงาม หมายถึง สุรินทร์มีการทอผ้าไหมที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทอผ้าไหมปักทอง ที่สวยงามมากติด ๑ ใน ๑๐ เมืองทอผ้าไหมในประเทศไทยที่บ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ปะคำสวย หมายถึง สุรินทร์มีการประคำเงินขึ้นชื่อ ที่อำเภอเขวาสินรินทร์ ร่ำรวยปราสาท หมายถึง สุรินทร์ มีปราสาทกระจายอยู่มากที่สุดในประเทศไทย และมีปราสาทที่อายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยคือปราสาทภูมิโปน ผักกาดหวาน หมายถึง สุรินทร์มีการทำผักกาดดองที่หวานอร่อยขึ้นชื่อ ข้าวสารหอม หมายถึง สุรินทร์มีข้าวสารที่ปลูกที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และอร่อยหอมที่สุดในโลก งามพร้อมวัฒนธรรม หมายถึง งานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามจากชนเผ่าต่างๆ ที่สืบทอดกันมามากมาย 


    อนึ่ง จังหวัดสุรินทร์มีการปกครองแบ่งออกเป็น ๑๗ อำเภอ ๑๕๘ ตำบล ๒,๑๒๐ หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตร มีการทำนาข้าวเจ้า ทำสวน และเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มีพื้นที่ทำนา จำนวน ๓,๓๒๙,๙๑๙ ไร่ หรือประมาณร้อยละ ๘๕.๘๓ ของพื้นที่ทำการเกษตรของสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีสุดในประเทศและของโลก โดยมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย และกำลังพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มผลผลิตและปริมาณส่งออกต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น


ฉบับที่ ๒๒๘๑ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


683 1345