26thApril

26thApril

26thApril

 

May 22,2015

‘แอ่งเกลือโคราช’หวาน อดีตรมช.ทุ่ม ๑,๒๐๐ ล. เหมืองแร่โปแตซใต้ดิน

   นักลงทุนไทยและต่างชาติแห่ยื่นขอสำรวจแร่โปแตซ ล่าสุด ‘บจก.ไทยคาลิ’ ของอดีตรมช.อุตสาหกรรม ลุ้นประทานบัตรเปิดเหมืองใต้ดิน ๙,๐๐๕ กว่าไร่ ที่อำเภอด่านขุนทด เขตรอยต่อโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน หลังยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ ๔ หมื่นไร่ พบโปแตซประมาณ ๑๗.๕ ล้านตัน พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น ๑,๒๐๐ ล้านบาท ส่วนที่ชัยภูมิ ล่าสุดขึ้นป้ายประท้วงทั่วเมือง! รับแม่ทัพภาคที่ ๒ วอนขอความเป็นธรรมไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย

    ตามที่บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่มีนายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย อดีต ส.ส.ชัยภูมิ พรรคชาติพัฒนา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ก.ค. ๒๕๔๓–พ.ย. ๒๕๔๓) เตรียมลงทุนเปิดเหมืองโปแตซที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อผลิตปุ๋ยโปแตซเซียม (K) จำหน่าย โดยยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเมื่อปี ๒๕๕๑ เพื่อสำรวจแร่โปแตซในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจพิเศษแร่โปแตซ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๓ แปลง ครอบคลุมพื้นที่ ๓๐,๐๐๐ ไร่ ในตำบลบ้านแปลง, ตำบลหนองไทร, ตำบลหนองบัวตะเกียด, ตำบลโนนเมืองพัฒนา และตำบลหนองบัวละคร อำเภอด่านขุนทด สิ้นสุดระยะเวลาการสำรวจในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจพิเศษอีก ๑ แปลง ครอบคลุมพื้นที่ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ในตำบลบ้านแปลง, ตำบลกุดพิมาน และตำบลหนองบัวตะเกียด อำเภอด่านขุนทด สิ้นสุดระยะเวลาการสำรวจในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘    
    จากการเจาะสำรวจแร่โปแตซของบริษัทฯ พบว่า แร่โปแตซ มีทั้งชนิดแร่ซิลไวต์ และแร่คาร์นัลไลท์ จึงมีความประสงค์จะดำเนินการพัฒนาโครงการทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โปแตซ โดยยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ชนิดแร่โปแตซ คำขอที่ ๕/๒๕๕๕ ในท้องที่หมู่ที่ ๓, ๔, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ตำบลหนองไทร, หมู่ที่ ๖, ๘, ๑๑, ๑๓ ตำบลหนองบัวตะเกียด และหมู่ที่ ๖, ๗ ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ ๙,๐๐๕ ไร่ ๑ งาน ๖๓ ตารางวา ปัจจุบันสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา   

 

‘ไทยคาลิ’ลุ้นประทานบัตร
    ความคืบหน้าเปิดเหมืองแร่โปแตซแห่งใหม่ ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ภายหลังบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ชนิดแร่โปแตซ ตามคำขอที่ ๕/๒๕๕๕ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอประทานบัตร ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ว่าด้วยการขออนุญาตประทานบัตร พ.ศ.๒๕๔๗ ต่อมาวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๘๘/๙ พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้ยื่นความประสงค์ขอให้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพัฒนาทำเหมืองใต้ดินต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่(กพร.) ขณะนั้นคือ นายปณิธาน จินดาภู ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๗ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับไปดำเนินการจัดประชุมปรึกษาตามขั้นตอนที่กำหนดแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ เพื่อดำเนินการคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จำนวน ๒ คน มาร่วมเป็นคณะกรรมการ 


     จากนั้นจึงนำงบประมาณจากกองทุนจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทำการศึกษาเพิ่มเติมข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ต่อรายงาน EIA ซึ่งกรรมการฝ่ายตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียได้เสนอให้ทำการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตร ทั้งสภาพพื้นที่เกษตรกรรมก่อนและหลังเปิดเหมืองโปแตซใต้ดิน เป็นต้น เมื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านนี้แล้วเสร็จได้รวบรวมนำเสนอต่อนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและได้สั่งการให้จังหวัดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๘๘/๑๐ พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีนายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานขณะนั้น ให้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๘ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในท้องที่อำเภอด่านขุนทด จากผู้เข้าร่วมประชุม ๔๐๐-๕๐๐ คน เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีประชาชนบางรายยังกังวลเรื่องน้ำฝนที่ตกลงมาจะสามารถอุปโภค-บริโภคได้หรือไม่ เป็นต้น  
    “ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ หลังจากจังหวัดยื่นผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม และความคิดเห็นของประชาชน เมื่อปลายปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ หากมีมติให้ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซใต้ดินกับบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ดำเนินการในพื้นที่ตามคำขอ จะต้องจัดตั้งกองทุน คือ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนพัฒนาหมู่บ้านและพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูการทำเหมือง กองทุนสนับสนุนตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดิน และกองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยด้านโปแตซ” แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรม กล่าว 


ลงทุน ๘๗ ล้านเหรียญสหรัฐ
    สำหรับการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ชนิดแร่โปแตซ คำขอที่ ๕/๒๕๕๕ ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ครอบคลุมท้องที่หมู่ที่ ๓, ๔, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ตำบลหนองไทร, หมู่ที่ ๖, ๘, ๑๑, ๑๓ ตำบลหนองบัวตะเกียด และหมู่ที่ ๖, ๗ ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ ๙,๐๐๕ ไร่ ๑ งาน ๖๓ ตารางวา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ ๘๗ ล้านเหรียญสหรัฐ (๒,๙๒๔.๗๗๔๗ ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๘) ขนาดเหมืองประมาณ ๒๕๐-๒๖๐ เมตร และคาดว่าจะได้อายุประทานบัตร ๒๕ ปี โดยบริษัทฯ เตรียมแผนก่อสร้างเหมืองโปแตซใต้ดินระยะเวลา ๒ ปี จากนั้นในปีสุดท้ายของอายุประทานบัตรจะดำเนินการปิดเหมือง ซึ่งคาดว่าระยะเวลาที่เปิดทำเหมืองจะได้แร่โปแตซปีละประมาณ ๑ แสนตัน ส่วนผลประโยชน์ที่รัฐคาดว่าจะได้รับตลอดโครงการ ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงร้อยละ ๗ เป็นเงิน ๑,๗๐๐.๖๕ ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐรวม ๒๐๗.๙ ล้านบาท และเงินกองทุน ๓๖๖ ล้านบาท รวม ๒๕ ปี รัฐได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๒๗๔.๕๕ ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ ๙๐.๙๘๒ ล้านบาท 


เพิ่มทุนจดทะเบียน ๑,๒๐๐ ล.
    ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลของ ‘โคราชคนอีสาน’ พบว่า บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมีทุนจดทะเบียนระยะแรก ๑๐ ล้านบาท ต่อมาเพิ่มทุนจดทะเบียน ๙๕๐ ล้านบาท และล่าสุดทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑,๒๐๐ ล้านบาท  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจหาแร่ทุกชนิด รวมทั้งขุดเจาะและตีราคาผลการสำรวจ มีกรรมการ ๒ คน คือ ๑. นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย และภริยา นางอินทิรา สงวนวงศ์ชัย ที่ตั้งบริษัทเลขที่ ๕๘๙/๑ ซอยรามคำแหง ๓๙ (เทพลีลา ๑) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๔๔ และอดีตส.ส.ชัยภูมิ พรรคชาติพัฒนา แต่ภายหลังย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในกลุ่ม ๑๑๑ คน เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ก่อนจะมีข่าวมาลงทุนขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ ที่จังหวัดนครราชสีมา  


อนุมัติเอกชนสำรวจอีก ๔ ราย
    อย่างไรก็ตาม นอกจากบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่เตรียมเข้ามาลงทุนเปิดเหมืองโปแตซขนาดใหญ่ ล่าสุดคณะกรรมการตามพ.ร.บ.แร่ ได้มีมติเห็นชอบให้กลุ่มนักลงทุนทั้งชาวและต่างชาติเข้าสำรวจแร่โปแตซในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๔ ราย ได้แก่ ๑) บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด อนุญาตตามคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ จำนวน ๒ แปลงๆ ละ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลหนองบัวละคร อำเภอด่านขุนทด ระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ – ๑๘ มกราคม ๒๕๖๓ ขณะนี้ลงพื้นที่เข้าดำเนินการสำรวจแล้ว ๒) บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลอปเมนท์ จำกัด อนุญาตตามคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ ครอบคลุมพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่ตำบลสระพระ อำเภอพระทองคำ และตำบลโนนเมืองพัฒนา และตำบลหนอง อำเภอด่านขุนทด ระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ – ๑๘ มกราคม ๒๕๖๓
    ๓) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด และบริษัท อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด ทั้งสองบริษัทเป็นกลุ่มทุนเดียวกัน อนุญาตตามคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ จำนวน ๑๓ แปลงๆ ละ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนไทย ตำบลด่านจาก อำเภอโนนไทย และตำบลเมืองปราสาท ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง ระหว่างวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ – ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ปัจจุบันยังไม่ได้เข้าสำรวจ และล่าสุด ๔) บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด อนุญาตตามคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ จำนวน ๒ แปลง ครอบคลุมพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ไร่ ในตำบลบ้านโพธิ์ และตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา, ตำบลด่านคล้า, ตำบลใหม่ และตำบลโตนด อำเภอโนนสูง รวมทั้งตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ปัจจุบันยังไม่ได้เข้าสำรวจ 


ยันยังไม่มีรายใดได้เปิดเหมือง
    ส่วนที่มีรายงานว่า คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ ได้มีมติเห็นชอบให้ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ ๒ แห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น ประกอบด้วย ๑) บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม และอำเภอขามสะแกแสง จำนวน ๒๘ แปลง เนื้อที่ ๒๘๐,๐๐๐ ไร่ และ ๒) บริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จำนวน ๓ แปลง เนื้อที่ ๓๐,๐๐๐ ไร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ยืนยันกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ล่าสุดมีเพียง ๔ บริษัทเอกชนดังกล่าวที่ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น ส่วนบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ชนิดแร่โปแตซ ของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่     

 

‘ด่านขุนทด’เป้าหมายนักลงทุน
    ทั้งนี้ มีรายงานอีกว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนพยายามจะยื่นขอใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อขอสำรวจแร่โปแตซในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด และคาดว่าจะมีแหล่งแร่โปแตซประมาณแสนไร่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่แอ่งโคราช (Korat Basin) อีกทั้งยังอยู่ใกล้พื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖ ทวิ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.๒๕๑๐ เพื่อสงวนไว้เพื่อการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัทเอกชนจึงหยุดดำเนินการต่อ นอกจากนี้ พื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ในเขตเชื่อมต่อกับโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ APMC ซึ่งล่าสุดในสมัยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ได้เห็นชอบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซกับบริษัทดังกล่าว พื้นที่รวมประมาณ ๙,๗๐๗ ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากโครงการเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่ยื่นคำขอประทานบัตรขณะนี้ ด้วยระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จึงคาดว่าจะมีความพยายามทำให้พื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็น Chemical Complex ขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเกลือ ผลพลอยได้จากแร่โปแตซ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 


ชาวชัยภูมิติดป้ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บมจ.เหมืองแร่โปแตซ อาเซียน

ชัยภูมิ’ขึ้นป้ายประท้วงทั่วเมือง 
    ส่วนที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. พลโทธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ ๒ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานและการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดเร่งดำเนินงานตามโครงการตำบลละ ๑ ล้านบาทของรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ เพื่อช่วยกระจายรายได้ลงไปสู่ประชาชนให้มีรายได้เสริม เพื่อบรรเทาเยียวยาผู้ที่ไม่มีอาชีพในช่วงหน้าแล้งปีนี้อีกจำนวนมาก ซึ่งจังหวัดชัยภูมิได้รับงบประมาณมาทั้งหมดรวม ๑๒๑ ตำบล รวมกว่า ๑๒๐ ล้านบาท โดยเฉพาะล่าสุดกรณีประชาชนในพื้นที่ออกมาต่อต้าน โดยการประกาศขึ้นป้ายคัดค้านไว้หน้าบ้านตามชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งอำเภอบำเหน็จณรงค์ จากการดำเนินการโครงการทำเหมืองแร่โปแตซ อาเซียน ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ APMC ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซใต้ดินเป็นครั้งแรกของประเทศในรอบ ๓๐ ปี นับเป็นเหมืองแร่โปแตซใต้ดินที่ใหญ่สุดแห่งแรกในอาเซียน และจะเริ่มขุดเจาะเฟสแรกในระยะเวลาจากนี้ไปอีก ๓ ปี จึงจะสามารถนำแร่โปแตซขึ้นมาจากใต้ดินได้ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้งบประมาณลงทุนไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท แยกเป็น ฝ่ายใต้ดิน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท  และฝ่ายบนดิน จากขบวนการจัดคัดแยกแร่ขนส่งอีกกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งทาง บริษัทฯ มีสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนใหญ่


อย่ามัดมือชกโรงไฟฟ้าถ่านหิน
    ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียนได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในเขตพื้นที่รอบโครงการ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผล กระทบเพียง ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเพชร ตำบลหัวทะเล และตำบลบ้านตาล มีเพียงการเกณฑ์ตัวแทนประชาชนมาเข้าร่วมรับฟังหมู่บ้านละไม่เกิน ๑๐ คนเท่านั้น ณ หอประชุมอาคารเมตตาการกุศล ของเทศบาลตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ เพื่อเตรียมที่จะเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง ในการขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในที่ตั้งโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน เพื่อคัดแยกแร่ในพื้นที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนในพื้นที่จำนวนมากหลังทราบข่าว เพราะไม่เคยมีการบอกกล่าวกับประชาชนมาก่อน ประชาชนบางส่วนทราบข่าวเองจากตัวแทนผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถูกขอให้ไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เพียงชุมชนละไม่เกิน ๑๐ คน ว่าจะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเท่านั้น แต่กลับกลายมาเป็นโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แทน ซึ่งประชาชนและผู้นำชุมชนที่ทราบข่าวถึงกับไม่พอใจ จึงนำป้ายออกมาติดตั้งไปตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งอำเภอเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ไม่ให้มาตั้งในพื้นที่โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังได้เตรียมรวมตัวประชาชนทั้งอำเภอ ซึ่งคาดว่าจะมีไม้น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน เพื่อออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังของชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์ครั้งใหญ่อีกครั้ง หากยังเดินหน้าพยายามจะมาขอตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ โดยผ่านการอนุญาตเข้ามาตั้งในพื้นที่เพิ่มเติมได้อีก เพื่อเรียกร้องผ่านไปถึงรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ปิดโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียนดังกล่าว หรือถอดถอนใบประทานบัตรทำเหมืองทั้งหมด 
    ซึ่งในวันนี้ (๑๙ พ.ค. ๕๘) ประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมรอพบพลโทธวัช  สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ ๒ ที่มีกำหนดการเดินทางมาตรวจพื้นที่ ณ อบต.บ้านตาล อำเภอบำเหน็จณรงค์ แต่หน่วยงานราชการในพื้นที่กลับเข้าไปแจ้งไม่ให้ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำหรือตัวแทนชุมชนผู้เดือดร้อนโดยตรง ที่ต้องการแสดงพลังเรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินของโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียน ที่มีการเตรียมพร้อมว่าจะเดินหน้าอนุญาตให้ก่อสร้างในพื้นที่ได้อีกไม่เกิน ๔๕ วันนับจากนี้ไป ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างพากันหวาดผวาทั่วทั้งอำเภอที่จะต้องเป็นเมืองหนูลองยา และถูกจับมัดมือชก ถูกยัดเยียดโครงการที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรงตามมา
    แหล่งข่าวตัวแทนประชาชนชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์รายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า ครั้งนี้หวังเพียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านไปถึงแม่ทัพภาคที่ ๒ ช่วยให้ความเป็นธรรมแทนชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์ด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดได้มีการขอห้ามไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวในวันนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อึดอัดใจและไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ทางจังหวัดไม่ยอมให้ประชาชนออกมาขอความเป็นธรรมต่อแม่ทัพภาคที่ ๒ จึงต้องหันไปเคลื่อนไหวในลักษณะกลุ่มพลังเงียบแทน โดยนำป้ายคัดค้านออกมาติดประณามผู้นำท้องถิ่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องและโจมตี ยืนยันว่าชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์จะไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่โดยเด็ดขาดต่อไป หากมีคำสั่งหรืออนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ได้ ก็พร้อมที่จะออกมาแสดงพลังปกป้องศักดิ์ศรีชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์ทั่วทั้งอำเภอ  


แม่ทัพภาคที่ ๒ ต้องหยั่งเสียง
    ด้านพลโทธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ ๒ เปิดเผยถึงกรณีการออกมาคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของประชาชนชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์ครั้งนี้ว่า “จะให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ตัดสินใจเอง โดยไม่ไปบังคับหรือกระทำการใดๆ ที่นอกเหนือจากความเห็นชอบของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเด็ดขาด ตนพูดคุยและกำชับในที่ประชุมแล้วว่าทุกอย่างขอให้ตัดสินด้วยหลักการและเหตุผลที่ต้องอยู่ร่วมกันได้ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินขณะนี้ก็ขอให้ทุกฝ่ายไปตัดสินร่วมกันก่อน กองทัพภาคที่ ๒ หรือตนนั้น จะยังไม่ลงมาก้าวก่ายตัดสินให้เองได้ ต้องให้ทางพื้นที่หรือจังหวัดลงไปดำเนินการให้จบก่อน”


ฉบับที่ ๒๒๙๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


692 1358