29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 22,2015

บสย.ดึง ๒๒ ธ.ปล่อยกู้กระตุ้นศก. ยอดค้ำอีสานกว่า ๔,๕๐๐ ล้าน

   บสย.เคลื่อน“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการค้ำประกัน” นำร่องที่โคราช ดึง ๒๒ ธนาคารพันธมิตรปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี หวังช่วยเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ เผยอนุมัติค้ำประกันผปก.อีสานแล้วกว่า ๔,๕๐๐ ล้านบาท 

นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร - นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข

    เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องสุรนารี เอ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นำโดยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา เปิดแถลงข่าวโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของบสย.” โดยร่วมกับ ๒๒ สถาบันการเงินช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายหลังจัดสัมมนาเชิญผู้บริหารธนาคารระดับสูงและเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs จาก ๒๒ ธนาคารพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. ซึ่งภาคอีสานกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องที่จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และเป็นเมืองหน้าด่านประตู่สู่ผู้ประกอบการ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ในภูมิภาคนี้ 


เร่งแจงแบงก์ปล่อยกู้เอสเอ็มอี
    นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บสย. เปิดเผยว่า ตลอดไตรมาส ๒ และ ๓ บสย. กำหนดแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้ชื่อโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของบสย.” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆ ถึงระดับเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs และมี บสย.ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ โครงการนี้ บสย.กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ๔ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี โดยนำร่องพื้นที่แรกที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเป็นอันดับต้นในภาคอีสาน ทั้งยังมียอดค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs เป็นอันดับ ๑ ในภาคอีสานอีกด้วย ส่วนครั้งที่ ๒ จะในวันที่ ๑๗ มิถุนายนนี้ กำหนดจัดสัมมนาในรูปแบบเดียวกันที่กรุงเทพฯ, ครั้งที่ ๓ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ และครั้งที่ ๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ 
    นายเกรียงไกร ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี ๒๕๕๗ ตัวเลขสินเชื่อ SMEs ในระบบอยู่ที่ ๔.๓๗๙ ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๖ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อย ดังนั้น บสย.จึงต้องทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะปัญหาอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ตลอดทั้งแนวทางการแก้ไขและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน จากสถาบันการเงินในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งการจัดกิจกรรมในปี ๒๕๕๘ จะช่วยผลักดันให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งจำนวนราย จำนวนวงเงิน รวมถึงจำนวนลูกค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระจายการค้ำประกันช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างทั่วถึง ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ 


มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
    นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวค่อนข้างคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยให้ผู้ประกอบกอบการภาคเอกชนมีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หวังว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อและผ่อนปรนบางเรื่อง โดยมีบสย.ช่วยค้ำประกันและรับความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ สถาบันการเงินหรือธนาคารยังสามารถรักษาและป้องกัน NPL (หนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) การสัมมนาในวันนี้จึงพยายามชี้แจงพร้อมทั้งให้ความรู้กับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs เข้าใจตรงกัน เพราะเชื่อว่าขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ  
    “อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารธนาคารทั้งจากส่วนกลาง ผู้บริหารในพื้นที่และเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสาขาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้ง ๔ จังหวัดเป้าหมายดังกล่าว จำนวนกว่า ๘๐๐ คน โดยภายในงาน บสย.ได้เปิดคลินิกให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย และคาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันของ บสย.ได้มากขึ้น โดยในปี ๒๕๕๘ บสย.ตั้งเป้าหมายยอดค้ำประกันสินเชื่อทั่วประเทศ ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ ๒๗,๐๐๐ ราย และทำให้เกิดสินเชื่อในระบบ ๑๒๐,๐๐๐ บาท” นายเกรียงไกร กล่าว 


ค้ำประกันอีสานกว่า ๔,๕๐๐ ล.  
     ต่อข้อซักถามของ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงการนำร่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.ในปีนี้ นายเกรียงไกร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการนำร่องในพื้นที่ภาคอีสานเป็นแห่งแรกที่จังหวัดนครราชสีมาในปีนี้ เพราะต้องยอมรับว่าภาคอีสานมีผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มใหญ่ของประเทศจำนวนมาก โดยในปี ๒๕๕๘ บสย.อนุมัติค้ำปะกันแล้วประมาณ ๓๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับภาคอีสานอยู่ที่ประมาณ ๔,๕๐๐ ล้านบาท จะเห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่หน้าด่านหรือประตู่สู่ภาคอีสาน นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคนี้ ทั้งจำนวนประชากร กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมหรือรายย่อยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก ที่สำคัญคือ บสย.มีที่ตั้งสำนักงานสาขา ๓ แห่งในภาคอีสาน คือ สาขาอุดรธานี นครราชสีมา และอุบลราชธานี ประมาณร้อยละ ๑๕ ของแต่ละสาขา ช่วยกระตุ้นยอดค้ำประกันให้ใกล้เคียงเป้าหมาย ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ตามที่ตั้งไว้ในปี ๒๕๕๘”  
    เมื่อถามอีกว่า บสย.มีนโยบายหรือผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี ๒๕๕๘ หรือไม่? นายเกรียงไกร ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า “ตามนโยบายค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ ๕ ของ บสย. ได้รองรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และพื้นที่ภาคอีสานก็ติดกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ถึงแม้ว่าโคราชจะไม่ใช่จังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยศักยภาพต่างๆ สามารถรองรับโอกาสจากการเปิด AEC ทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ” 

 

เตรียมมหกรรมเข้าถึงแหล่งทุน
    ด้านนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา กล่าวว่า บสย.สำนักงานนครราชสีมา ให้บริการค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรธนาคารในพื้นที่แล้ว ในส่วนของกิจการสาขานครราชสีมายังได้เตรียมจัดงานใหญ่ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) จัดงาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน จ.นครราชสีมา” ณ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช ภายในงานประกอบด้วย ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจของโคราช ทั้งในปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต โดยธปท. และมีการเสวนา เรื่อง “กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา โทร. ๐๔๔-๒๖๒๑๐๔ หรือ E-mail : korat@tcg.or.th 

 

‘โคราช’ค้ำสินเชื่อสูงสุด ๕๙๓ ล. 
     นางปิยะธิดา เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี ๒๕๕๘ ของบสย.สำนักงานสาขานครราชสีมาว่า ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม – ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้รวม ๑,๑๒๐ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๑,๕๐๒.๙๖ ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด จำนวน ๔๘๙ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๕๙๓ ล้านบาท รองลงมาคือ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน ๑๗๓ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๓๓๖ ล้านบาท, จังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๑๔๙ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๒๕๒ ล้านบาท, จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๑๖๒ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๑๘๐ ล้านบาท และจังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๑๔๗ ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๑๔๒ ล้านบาท ตามลำดับ  

 

ธุรกิจบริการเกาะกลุ่มอันดับต้น
    สำหรับประเภทธุรกิจที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด ๕ อันดับ ได้แก่ ๑. กลุ่มการบริการ ประเภทรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ห้องพักให้เช่าและรีสอร์ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๒๕๕ ล้านบาท ๒. กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ ประเภทจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รับซื้อของเก่า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๒๒๗ ล้านบาท ๓. สินค้าอุปโภคบริโภค วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๒๐๘ ล้านบาท ๔. กลุ่มเกษตรกรรม ประเภทจำหน่ายพืชผล และสินค้าทางการเกษตร วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๑๙๒ ล้านบาท และ ๕. กลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ประเภทจำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ๑๓๔ ล้านบาท


ฉบับที่ ๒๒๙๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


682 1333