29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 22,2015

‘รมต.’ให้โคราช ๕๘๐ ล. กำจัดขยะ มิย.เริ่มทวงคืนป่า ๕ แสนไร่

   ‘ดาว์พงษ์’ รมต.ทรัพยากรฯ ตรวจราชการ ร่วมรับฟังบรรยายสรุปโครงการสร้างระบบกำจัดขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง และปุ๋ยอินทรีย์ครบวงจร ให้งบฯ โคราช ๕๘๐ ล้าน พร้อมเร่งมอบนโยบายแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในเขตภาคอีสาน ๕ แสนไร่ ตามมติ คสช. ประกาศเดินหน้ามิถุนายนนี้

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ติดตามโครงการสร้างระบบการจัดการขยะ และมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้

 

    เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ศูนย์บำบัดขยะด้วยวิธีการเชิงกลและชีวภาพ (MBT) แบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมาติดตามงาน และรับฟังบรรยายสรุปโครงการสร้างระบบการจัดการขยะ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์  โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รอต้อนรับพร้อมคณะ
    ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยา ลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเป็นมหาวิทยาลัยที่คู่เคียงสังคม สิ่งใดที่เป็นปัญหาต่อประเทศ จะเป็นโจทย์วิจัยให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายในการบริหารจัดการขยะ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเร่งผลักดันให้เกิดพื้นที่นำร่องในการแปรรูปขยะมูลฝอย มาผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) เพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด”    
    จากนั้น ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี/ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล กล่าวถึงเทคโนโลยีการบำบัดขยะว่า “ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองการจัดการขยะมาตลอด พบว่าปัญหาในการจำกัดขยะของเทศบาล คือพยายามจะคัดแยกขยะสดออกมาเป็นเชื้อเพลิง แล้วนำมาผลิตปุ๋ย โดยหลักการคือ นำขยะสดมาทิ้ง และทำการร่อนขยะ แต่ไม่สามารถร่อนขยะออกมาได้ เพราะขยะจะเกาะตัวติดกันมาก ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีการแยกขยะแบบครบวงจร กระบวนการทำงานเริ่มโดยการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยใช้แรงงานคนบนสายพานคัดแยกทำการสับขยะให้เล็กลงก่อน และนำมาหมัก ๑ เดือน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ซึ่งจะทำให้กองขยะที่อยู่ด้านล่างได้สัมผัสอากาศมากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพได้ดีขึ้น และยังป้องกันการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งจะมีเสถียรภาพปราศจากกลิ่นเน่า เหม็น และแมลงวัน อีกทั้ง กระบวนการกำจัดขยะพลาสติก และยังมีระบบการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก (Porolysis Palnt) ซึ่งใช้ขยะพลาสติก หรือเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel :RDF) สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันดิบ และแปรรูปเป็นน้ำมันดีเซลตามลำดับ”
    “ในปี ๒๕๕๘ ทางจังหวัดนครราชสีมาได้งบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ๕๘๐ ล้านบาท ในการกำจัดขยะได้ตั้งโรงงานภายใต้โครงการไปแล้วที่ตำบลแชะ ครบุรี, อำเภอเสิงสาง, อำเภอพิมาย และอำเภอสีคิ้ว ซึ่งหากในปี ๒๕๕๙ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก เราจะมีพื้นที่โรงงานกำจัดขยะลักษณะนี้อีก ๒๑ จุด ใน ๑๕ จังหวัด ครอบคลุมปริมาณขยะกว่า ๑,๐๐๐ ตันต่อวัน เกี่ยวพันกับประชาชนหลายล้านคน” ผศ.ดร.วีรชัย กล่าว 

    พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีพูดเสมอถึงผลการวิจัย ซึ่งในประเทศไทยทำกันมากมาย และอยากเห็นผลวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และผมเห็นว่า โครงการกำจัดขยะนี้นำมาสู่การปฏิบัติที่ตรงกับนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาได้มีบริษัทเอกชน และจากต่างชาตินำโครงการมาเสนอรัฐบาลเยอะมาก ซึ่งใช้เงินลงทุนมากทั้งสิ้น แต่โครงการกำจัดขยะนี้สามารถแสดงผลลัพธ์ ที่เห็นผลได้ทันที และหากเพิ่มพื้นที่จำกัดขยะได้อีก ๒๑ จุด ซึ่งผมได้เสนอท่านนายกฯ ไปแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น ส่วนสำคัญคือต้องดูความพร้อมของท้องถิ่น จากที่เคยตรวจสอบมาแล้ว พบว่าในท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม เสนอโครงการมาแล้วไม่มีพื้นที่สำหรับจัดการ ฉะนั้นถือเป็นโอกาสอันดีแล้ว ขอให้ทางท้องถิ่นเตรียมความพร้อม เมื่อทางหน่วยงานมาตรวจสอบจะได้อนุมัติโครงการจึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างมหาศาล”

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ติดตามโครงการสร้างระบบการจัดการขยะ และมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้


    ต่อมาเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. ที่ห้องประชุม ๔ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พล.ต.วิชัย แชจอหอ รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ปฏิบัติราชการแทนแม่ทัพภาคที่ ๒ พ.อ. (พิเศษ) สมหมาย บุษบา ผู้บังคับการกรมพัฒนาที่ ๒ และหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กองทัพภาคที่ ๒ นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย ข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติและป่าไม้ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนหลายร้อยคน ร่วมรับฟังการมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)
    พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาการบุกรุกที่ดินของภาครัฐ ที่เป็นปัญหามายาวนานอันเนื่องมาจากบุคคล หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพล แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำธารถูกบุกรุกทำลายลงเป็นจำนวนมาก และปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนคือ การทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกเพื่อทำการปลูกยางพารา พบว่าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการบุกรุกเป็นจำนวนมากประมาณ ๕ แสนไร่เศษ รวมทั่วประเทศคาดว่า ๔ ล้านไร่ ทั้งจากกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล และกลุ่มบุคคลที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ พร้อมจะเร่งดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาขั้นแรก ๙ หมื่นไร่ เริ่มภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘  


    พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือระหว่าง กองทัพภาคที่ ๒ คณะทำงานด้านกฎหมายกองทัพภาคที่ ๒ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้ากรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมปรึกษาหารือเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่บุกรุกผืนป่าภาครัฐโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ การแก้ปัญหาอาจจะจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้เข้ามาทำการปลูกยางพาราหรือทำการเกษตรอื่นๆ ได้ อีกส่วนคือเรื่องของกลุ่มผู้มีอิทธิพลนั้น จะเร่งให้ทหารและตำรวจ ร่วมปรึกษาและเร่งหาหลักฐานของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ เพื่อง่ายต่อการจับกุมเพื่อมาดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นการจงใจบุกรุกผืนป่าของเขตพื้นที่อนุรักษ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายและไม่มีความผิดชอบชั่วดี 
    “อย่างไรก็ตาม นโยบายการเร่งการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ชัดเจนขึ้นแล้ว พร้อมที่จะปฏิบัติการกวาดล้างเพื่อคืนผืนป่าธรรมชาติให้แก่อุทยานแห่งชาติต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป และยังได้รับความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ ๒ ทหาร ตำรวจ จึงไม่เป็นห่วงเรื่องผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากมีการขัดขืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะปฏิบัติการขั้นรุนแรงอย่างเด็ดขาด” รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวทิ้งท้าย
    ทั้งนี้ สถิติของกรมป่าไม้ ประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ ข้อมูล ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ – ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พบคดีบุกรุกป่าจำนวน ๑,๗๖๒ คดี ผู้ต้องหา ๔๓๘ คน พื้นที่ทั้งหมด ๔๘,๔๑๙ ไร่ ๘ ตารางวา โดยได้รับความร่วมมือจาก ๙ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑.กองอำนวยการรักษาความสงบทุกจังหวัด ๒.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ๓.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๔.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๕.กระทรวงกลาโหม ๖.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ๗.สำนักงานคณะกรรมการและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ๘.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และ ๙.ศูนย์ประสานการปฏิบัติการที่ ๔ (กองอำนวยการรักษาความสงบ และความมั่นคง)


ฉบับที่ ๒๒๙๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


684 1336