25thApril

25thApril

25thApril

 

May 22,2015

สัมมนากฎหมายใหม่การทวงหนี้ ฝ่าฝืนเพิ่มโทษหนักทั้งจำ-ปรับ

    หอการค้าโคราช จัดสัมมนากฎหมายทวงหนี้ และการค้ำประกันฉบับใหม่ ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ระบุเพิ่มสิทธิและคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อการบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนของกฎหมาย เลี่ยงการโดนคุกคามการทวงเงินอย่างไม่เป็นธรรม

    เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ชั้น ๗ ห้องกินรี โรงแรมปัญจดารา ถ.ไชยณรงค์ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏฐ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและคณะ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กฎหมายใหม่ ค้ำประกัน จำนอง และการบริหารจัดการหนี้ การทวงหนี้” เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการธนาคาร เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ฯลฯ ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ปฏิบัติตามภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ทั้งนี้ ยังเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจ และการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมทางธุรกิจ รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ให้ลดความเสี่ยงในการสูญเสียหนี้ และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยยังได้รับเกียรติจาก นายเธียรดนัย ธรรมดุษฎี รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนา พร้อมร่วมฟังบรรยายจากวิทยากรทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายก่อโชค บุตรชัยงาม ผู้พิพากษาศาลแพ่ง และ นางสาวรินทร์ธิยา เธียรธิติกุล นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้เกียรติร่วมบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่องค์กรทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไป
    นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏฐ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ด้วยฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาลหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน หอการค้านครราชสีมา เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ จึงได้กำหนดจัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กฎหมายใหม่ ค้ำประกัน จำนอง และการบริหารจัดการหนี้ การทวงหนี้” ขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสมาชิกหอการค้าฯ ได้ใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจ หรือ ปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมในทางธุรกิจ รวมทั้งการบริหารการจัดการหนี้ ให้ลดความเสี่ยงในการสูญเสียหนี้ และเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 


    ทางด้านนางสาวรินทร์ธิยา เธียรธิติกุล นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติทวงถามหนี้พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ทั้งลูกหนี้ในระบบและนอกระบบ และผู้ติดตามหนี้จะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ และต้องจดทะเบียนต่อทางราชการก่อน โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่ มีดังนี้ ๑.ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ จะไปทวงกับบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นไม่ได้ ทวงได้เฉพาะผู้ค้ำประกันเท่านั้น ๒.ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะละเมิด และคุกคาม เช่น ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาที่ดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี รวมทั้งเปิดเผยความเป็นเจ้าหนี้แก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ๓.ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ๔.ห้ามกระทำในลักษณะเป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการติดตามทวงหนี้ ทั้งที่ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย เช่น ทำให้เข้าใจว่า หากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี อายัดทรัพย์ หรือ อายัดเงินเดือน และ ๕. ห้ามไม่ให้ติดตามทวงหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่ได้ตกลงกันล่วงหน้า
    นิติกรชำนาญการฯ เน้นย้ำอีกว่า การติดต่อลูกหนี้ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้เท่านั้น ยกเว้นติดต่อไม่ได้ นอกจากนี้ยังกำหนดระยะเวลาในการติดต่อลูกหนี้ ในวันทำการ จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ส่วนวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. เว้นแต่ได้ตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนบทลงโทษของคนทวงหนี้ หรือ คนติดตามหนี้ มี ๒ ส่วนคือ โทษทางอาญา เช่นไปทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน หรือ มีพฤติกรรมข่มขู่ ให้ระวังโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ โดยต้องจดทะเบียนต่อทางราชการ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท


     นายก่อโชค บุตรชัยงาม ผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าวถึงสาระสำคัญของเรื่อง พ.ร.บ.การแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่าด้วยเรื่อง การค้ำประกันและจำนอง ว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล สามารถผูกพันเรื่องของตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และยังกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงิน หรือ ค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้ รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันร่างกฎหมาย มีผลใช้บังคับเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่กำหนดไว้ก่อนดังกล่าว และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไข ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ระบุไว้ 


ฉบับที่ ๒๒๙๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


684 1346