26thApril

26thApril

26thApril

 

May 27,2015

อธิบดีศิลปากรไม่ฟันธง พระชัยเมืองนครราชสีมา หวั่นประดิษฐานสับสน‘ย่าโม’

    หน.ส่วนราชการเห็นดีสร้าง ‘พระชัยเมืองนครราชสีมา’ องค์จำลอง เลือกประดิษฐานที่ทุ่งสัมฤทธิ์อันดับ ๑ รองลงมาลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แต่จังหวัด ต้องรอหยั่งเสียงประชาชน-คณะสงฆ์ก่อน อดีตปลัดจังหวัดชี้หลักการแจกแบบสอบถามไม่ถูกต้อง ด้านอธิบดีกรมศิลปากรหวั่น สถานที่ประดิษฐานสับสนกับประวัติศาสตร์วีรสตรีคุณย่าโม ความเกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมายังไม่ชัดเจน ชี้หากปชช.ไม่เห็นด้วยก็ต้องถอย

 

 

    ตามที่นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา หรือกำนันเบ้า กำนันตำบลโคกกรวด หมู่ที่ ๖ อ.เมืองนครราชสีมา เสนอเรื่องการจัดสร้าง “พระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง” เพื่อให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมา โดยพระชัยเมืองนครราชสีมาองค์จริง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพ มหานคร และขึ้นเลขทะเบียน อ.ย.๒๕ กรมศิลปากร แต่นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีความเห็นว่าการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนรอบด้าน เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงต้องสืบค้นประวัติความเป็นมาด้วยว่า มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาอย่างไร ซึ่งขณะนี้นายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการแจกแบบสอบถามเรื่องการสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง และสถานที่ประดิษฐานควรเป็นที่ใด ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประมาณ ๓๐๐ คน แต่จากหลักฐานเอกสารหรือประวัติความเป็นมาขณะนี้ไม่ชัดเจน ทั้งยังมี “พระชัย” หลายองค์หลายสมัย ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวลงฉบับที่ ๒๒๘๔ วันที่ ๖-๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ แล้วนั้น

 
ชี้ส่วนราชการต่างเห็นด้วย
    ความคืบหน้าการแจกแบบสอบถาม ล่าสุดนายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า หลังจากแจกแบบสอบถาม เรื่องการสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง และสถานที่ประดิษฐานที่เหมาะสม เพื่อสอบถามความคิดเห็นส่วนราชการในพื้นที่ จำนวน ๓๐๐ ชุด ในคราวการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา เเละหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สรุปความคิดเห็น ดังนี้ ส่วนราชการ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๖.๗๓ เห็นด้วย และให้ประดิษฐานบริเวณอนุสรณ์สถานทุ่งสัมฤทธิ์ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย เนื่องจากประวัติศาสตร์ของพระชัยเมืองนครราชสีมา มีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองพิมายตามข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี และลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อความมีชัยชนะเหนือศัตรูในการศึกสงคราม ซึ่งมีความสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของสถานที่ รองลงมา ส่วนราชการ ร้อยละ ๓๖.๐๕ เห็นด้วยให้ก่อสร้างและประดิษฐานบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เนื่องจากบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจำนวนมาก และยังสามารถไหว้พระชัยเมืองนครราชสีมาได้อีกด้วย และอีกร้อยละ ๒๗.๗๐ ส่วนราชการก็มีความเห็นด้วย แต่เห็นควรประดิษฐานไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของส่วนราชการระดับจังหวัด มีประชาชนมาติดต่อราชการจำนวนมาก 
    “อย่างไรก็ดี จากการประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายวินัย วิทยานุกูล) เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายนที่ผ่านมา มีความเห็นว่าน่าจะสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง แต่ขณะนี้ยังไม่กำหนดรูปแบบ คงต้องสอบถามความคิดเห็นประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา หรืออาจให้นายอำเภอและหน่วยงานรัฐต่างๆ ในระดับอำเภอไปช่วยกันทำ เพราะถ้าไม่ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นภาคประชาชน เกรงว่าความคิดเห็นจะแตกออกไป” นายสมพงษ์ กล่าว  
     วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวด้วยว่า จ.นครราชสีมายังไม่มีพระพุทธรูปประจำเมือง ที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้ไปชมและสักการะพระชัยเมืองนครราชสีมา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้งยังได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ระดับประเทศ แต่ขอสงวนนามไว้ก่อน สำหรับวัตถุโบราณบางชิ้นหรือพระพุทธรูปโบราณบางองค์นั้นอาจไม่มีความชัดเจน การสืบค้นก็จะนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์มารวบรวมกับหลักฐานการค้นพบ หรือข้อสันนิษฐาน ขอยืนยันย่าไม่มีการปั่นกระแสในวงการพระเครื่องแต่อย่างใด และคงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวโคราชด้วย 


รอหยั่งเสียงปชช.-คณะสงฆ์
    ต่อเรื่องนี้นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า การสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง และการคัดเลือกสถานที่ประดิษฐานที่เหมาะสมนั้น ขณะนี้จังหวัดยังไม่ได้ข้อสรุปหรือข้อยุติ จากการแจกแบบสอบถามส่วนราชการในพื้นที่ ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ดำเนินการสร้าง แต่ทั้งนี้ ต้องสอบถามความคิดเห็นประชาชนและคณะสงฆ์ในพื้นที่ด้วย สำหรับจังหวัดคงต้องสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง แต่การก่อสร้างที่ประดิษฐานนั้นต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการ แนวทางในเบื้องต้นอาจจะทำเป็นรูปหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองก่อน แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพราะผู้ว่าฯ ไม่ต้องการสร้างภาระให้กับคนอื่น หากเตรียมสถานที่และงบประมาณก่อสร้างศาลาหรือหอพระประดิษฐาน ก็ต้องใช้งบประมาณ ๕-๑๐ ล้านบาท และผู้ว่าฯ ก็เหลืออายุราชการอีกไม่กี่เดือน ในเบื้องต้นถ้าจะสร้างองค์จำลองขนาดเล็กสำหรับให้ประชาชนบูชา อาทิ เนื้อทองคำ เนื้อทองแดง หรือเนื้อธรรมดา เป็นต้น อาจใช้งบประมาณไม่มากนัก และอาจนำรายได้จากการจำหน่ายหรือให้บูชา สมทบทุนก่อสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ ๕ จ.นครราชสีมา 

 

เตรียมขออนุญาตกรมศิลปากร
    เมื่อถามว่า ประวัติความเป็นมาของ “พระชัยเมืองนครราชสีมา” มีความชัดเจนว่าเกี่ยวข้องเมืองนครราชสีมาอย่างไร? รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า มีชื่อของเมืองนครราชสีมา พระชัยเมืองนครราชสีมามาจากที่ไหน ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดีคนแรกของกระทรวงมหาดไทย เคยเสด็จมาที่ปราสาทหินพิมาย หรือเมืองนครราชสีมาขณะนั้น คงมีบุคคลใดบุคคลคนหนึ่ง นำพระชัยเมืองนครราชสีมามาถวาย ต่อมาจึงนำเก็บไว้ที่ห้องกลางของกระทรวงมหาดไทย พระชัยเมืองนครราชสีมาจากข้อมูลเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา อาจเป็นไปได้ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ได้ส่งเจ้าเมืองมาปกครองหัวเมืองในภาคอีสาน นั่นคือ เมืองนครราชสีมา หรือเมืองพิมาย จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาด้วย จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ตกถอดกลับมาอยู่เมืองนครราชสีมา และนำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ ชื่อของพระชัยเมืองนครราชสีมาที่มีชื่อเหมือนกับเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันนั้น ถือว่าเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคล 
    “จากนี้ไปจะทำเรื่องหรือหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อขออนุญาตสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองว่า มีความขัดข้องหรือไม่ และยังต้องสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนด้วย อาจจะมอบหมายให้นายอำเภอทั้ง ๓๒ อำเภอดำเนินการ รวมไปถึงคณะสงฆ์ในพื้นที่ว่าเห็นควรที่จะสร้างหรือไม่ ซึ่งขณะนี้จังหวัดยังไม่มีธงว่าการสร้างองค์จำลองจะประดิษฐานไว้ที่ไหน แต่ตั้งใจว่าพระชัยเมืองนครราชสีมาจะเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หรือสร้างองค์จำลองไว้ประดิษฐานที่พุทธมณฑล หากคณะสงฆ์ในพื้นที่จะดำเนินการสร้างพุทธมณฑลขึ้นที่ จ.นครราชสีมา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว 

 

นักโบราณคดียังไม่ชัดเจน 
    นางชุติมา จันทร์เทศ นักโบราณคดีชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “พระชัยเมืองนครราชสีมา” เป็นโบราณวัตถุในสมัยอยุธยา อาจได้มาจากคราวเสด็จตรวจราชการของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ปราสาทหินพิมาย เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๒ และพ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้รับมอบมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีคนแรกของกระทรวงมหาดไทย ได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” มีผลงานด้านประวัติศาสตร์และการบุกเบิกงานโบราณคดี ทั้งยังเป็นนักอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย ทั้งนี้ ลักษณะพระชัยเมืองนครราชสีมาเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น เพื่อความมีชัยชนะเหนือศัตรูในการศึกสงคราม ต่อมาพระชัยยังได้อัญเชิญในพิธีกรรมเรียกว่า “พระชัยพิธี” สำหรับขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล
    อย่างไรก็ตาม สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา ระบุว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หรือข้อมูลอ้างอิงในเบื้องต้นที่นำเสนอต่อนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยหลักการต้องดำเนินการสืบค้นความเป็นมาพื้นบ้าน หอจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นำมาประกอบกันกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนพระชัยเมืองนครราชสีมาของกรมศิลาปากรด้วย 

 

อดีตปลัดแนะต้องให้ความรู้ปชช.
    นายประเทศ อุตตมะบูรณ อดีตปลัดจังหวัดยโสธร และอดีตประธาน กกต.จว.ยโสธร ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา อายุ ๗๒ ปี แสดงความคิดเห็นกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า พระชัยเมืองนครราชสีมาเคยทราบข้อมูลมาบ้าง แต่เป็นเพียงตำนานหรือคำบอกเล่าเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง การค้นคว้าจะต้องมีการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ แต่เท่าที่ทราบเป็นเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดจะต้องค้นหาความจริงต่อไป ส่วนการจำลองพระพุทธรูปเก่าแก่ ในอดีตที่เคยดำเนินการหล่อพระพุทธรูปจำลอง อาทิ พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่กับประวัติศาสตร์ของเมืองนครราชสีมานั้น หากจะหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง สถานที่ประดิษฐานควรจะอยู่ที่ศูนย์กลางของจังหวัด คือ อ.เมืองนครราชสีมา เพราะเป็นศูนย์กลางหรือศูนย์รวมของคนทั้งจังหวัด ในอดีตที่ผ่านมาปรากฏว่าพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญจำนวนมากมีการเดินทางยาวไกล เช่น พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ เป็นต้น 
    “เพราะฉะนั้น ถ้าจะดำเนินการหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองหลักฐานต้องมีอยู่จริง ซึ่งขณะนี้พระชัยเมืองนครราชสีมาองค์จริงปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่ต้องสืบค้นข้อมูลและให้ความรู้ ที่สำคัญคือต้องฟังเสียงของประชาชนหรือการทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ไปแจกแบบสอบถามในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เพราะหัวหน้าส่วนราชการส่วนใหญ่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่โคราช หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองโคราช ดังนั้น การฟังเสียงเฉพาะส่วนราชการยังไม่ตรงกับความต้องการของปfระชาชน เริ่มต้นทั้งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาข้อมูลและประวัติศาสตร์ว่า เกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาอย่างไร โดยเฉพาะที่มาของพระชัยเมืองนครราชสีมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่ดำเนินการแจกแบบสอบถามไปยังขาดหลักการวิจัยที่แท้จริง ปรากฏการณ์ทั่วไป ความเป็นมาต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการวิจัย ขั้นตอนในการศึกษาวิจัยตามกระบวนการดังกล่าว ไม่มีอะไรถูกต้องเลย อย่างน้อยที่สุดต้องให้ความรู้ประชาชนก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะต้องให้ความรู้ด้วยการค้นคว้าประวัติศาสตร์ หรือหาข้อมูลที่แท้จริงก่อน โดยเฉพาะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลพื้นฐานจากคนรุ่นเก่าในโคราชที่มีความรู้หรือทราบประวัติความเป็นมา” นายประเทศ กล่าวย้ำ  

 

นายบวรเวท รุ่งรุจี 
อธิบดีกรมศิลปากร


อธิบดีกรมศิลปากรให้น้ำหนัก ๕๐%
    ต่อมาวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๖ พิมาย ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า พระชัย หรือพระไชย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อใช้ในการออกศึกสงคราม สำหรับพระชัยเมืองนครราชสีมาอยู่ในอายุสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนแบบศิลปะตามลักษณะนั้น เป็นศิลปะอู่ทอง รุ่น ๒ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อาจได้รับมอบมาจากประชาชนในพื้นที่ขณะเสด็จตรวจราชการ ที่ปราสาทหินพิมาย แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องโถงกลางของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาจึงส่งมอบพระชัยเมืองนครราชสีมาให้กรมศิลปากรทำการขึ้นทะเบียนและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน ซึ่งในคราวเสด็จตรวจราชการที่ปราสาทหินพิมายมีภาพถ่ายปรากฏเป็นหลักฐาน แต่ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงการได้มาของพระชัยเมืองนครราชสีมา ถ้าดูจากประวัติที่ทางกรมศิลปากรรวบรวมมามีเพียงเท่าที่ปรากฏ หากสอบถามคงไม่มีใครทราบว่า พระชัยองค์นี้ได้มาจากที่เมืองนครราชสีมาหรือเมืองโคราชจริงหรือไม่ นอกจากชื่อ “พระชัยเมืองนครราชสีมา” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน และหากได้มาจากเมืองอื่นก็คงใช้ชื่อเมืองอื่น และไม่ใช้ชื่อเมืองนครราชสีมา อย่างน้อยร้อยละ ๕๐ พระชัยองค์นี้มาจากเมืองนครราชสีมา แต่จากหลักฐานที่ปรากฏพอสังเขปคงตอบยากว่ามาจากสถานที่ใด 
    นายบวรเวท กล่าวต่อไปว่า เมืองพิมายในอดีต เป็นเมืองที่มีความสำคัญเรื่อยมากระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่าในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) แผ่นดินไม่มีกษัตริย์ปกครอง หัวเมืองต่างๆ จึงตั้งตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกันกับที่เมืองพิมาย ขณะนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธ (พระองค์เจ้าแขก) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ข้าหลวงกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ได้ยกทัพหนีพม่าตอนกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่สองมาตั้งหลักฐานที่เมืองพิมาย และตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย เรียกว่า ก๊กหรือชุมนุมเจ้าพิมาย อาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นได้นำพระชัยองค์นี้ติดมาจากกรุงศรีอยุธยาและนำมาประดิษฐานไว้ที่เมืองพิมาย จากนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเสด็จตรวจราชการที่ปราสาทหินพิมายพบเห็นพระชัยองค์นี้ จึงนำมาเก็บไว้ที่ห้องโถงกลางของกระทรวงมหาดไทย ก่อนส่งมอบให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนและเก็บรักษาไว้  

 

หล่อเนื้อสำริดศิลปะอู่ทอง ๒
    “สำหรับแบบศิลปะของพระชัยเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศิลปะอู่ทอง รุ่น ๒ นั้น ตามประวัติพระพุทธรูปโบราณตามลักษณะศิลปะอู่ทองนั้น อยู่ระหว่างศิลปะทวารวดีกับอยุธยา ปรากฏอยู่มากในเขตภาคกลางของประเทศไทย และส่วนใหญ่หล่อด้วยเนื้อสำริด และสำหรับพระชัยเมืองนครราชสีมาก็หล่อด้วยเนื้อสำริด ถามว่าในภาคอีสานมีปรากฏให้เห็นไหม มีแต่จะหล่อด้วยเนื้อหิน ส่วนที่องค์พระโดยรอบจารึกอักษรขอมและภาษาบาลี ก็เป็นคาถากาสลัก หัวใจพระรัตนตรัย และคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นต้น ไม่มีข้อมูลที่มากกว่านี้ ประวัติความเป็นมาของพระชัยเมืองนครราชสีมาจึงมีเพียงเท่านี้ ภายหลังกรมศิลปากรรับมอบมาขึ้นทะเบียนและเก็บรักษาไว้ที่ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเรียกพระชัยองค์นี้ว่า “พระชัยเมืองนครราชสีมา” จึงสันนิษฐานว่าได้มาจากเมืองนครราชสีมาตามชื่อเมืองในปัจจุบัน และตามคติความเชื่อ “พระชัย” หรือ “พระไชย” เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา เพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ ใช้เชิญไปในกระบวนเสด็จเพื่อประทับแรมนอกพระนคร และอัญเชิญตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่า “พระชัยพิธี” สำหรับขจัดอุปสรรคต่างๆ และอำนวยพรให้พิธีกรรมสำเร็จผล” นายบวรเวท กล่าว 

 

ถ้าปชช.ไม่เห็นด้วยต้องยอมรับ
    นายบวรเวท กล่าวถึงการขออนุญาตสร้าง/หล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองว่า จังหวัดสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชีสำคัญของกรมศิลปากรที่ห้ามสร้างหรือจำลองได้เลย แต่มีเงื่อนไขตามระเบียบกรมศิลปากรว่าต้องมีขนาดไม่เท่าองค์จริง คือ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕.๓ เซนติเมตร สูง ๒๒.๒ เซนติเมตร ดังนั้น จะดำเนินการสร้างหรือหล่อให้มีขนาดหน้าตักใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเดิมก็ได้ รวมถึงขนาดที่สูงกว่าองค์จริงก็สามารถดำเนินการได้ และถ้าจังหวัดจะดำเนินการหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองจริงๆ ทางกรมศิลปากรก็ยินดีให้ความร่วมมือในการดูรูปแบบ ส่วนเรื่องการจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นนั้น ต้องสอบถามความคิดเห็นประชาชนทุกระดับหรือทุกภาคส่วน  ถ้าเสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ที่จะสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองก็ต้องยอมรับด้วย     

 

หวั่น!สับสนวีรสตรี‘ท้าวสุรนารี’
    ต่อข้อซักถามว่า หากมีการก่อสร้างหรือหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง เห็นว่าสถานที่ประดิษฐานควรเป็นที่ใด ระหว่างหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา, บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) หรือบริเวณอนุสรณ์สถานทุ่งสัมฤทธิ์ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย ตามที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมาขอความคิดเห็น นายบวรเวท อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “เกรงว่าจะปะปนกับประวัติศาสตร์วีรสตรีผู้มีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ หากจะประดิษฐานพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองบริเวณลานอนุสาวรียร์ท้าวสุรนารี เช่นเดียวกับบริเวณอนุสรณ์สถานทุ่งสัมฤทธิ์ ดังนั้น ต้องหาสถานที่ประดิษฐานที่มีความเหมาะสม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดที่จะนำไปผูกหรือเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เมืองนครราชสีมา”


ฉบับที่ ๒๒๙๓ วันอังคารที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


689 1350