19thApril

19thApril

19thApril

 

May 27,2015

ผลักดันซินโครตรอนไทย ศูนย์กลางอาเซียน

   ผนึกกำลังพัฒนาดำเนินการสถานร่วมวิจัย เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน ระยะที่ ๒  ตั้งเป้าขยายบริการนักวิจัยอาเซียน ผลิตเน้นงานวิจัยใช้ประโยชน์ได้จริง หวังเป็นเครือข่ายการวิจัยและแบ่งปันการใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีขั้นสูง

    ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) และสถาบันวิจัยแสงซินโคร ตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงนามขยายเวลาความร่วมมือพัฒนาการดำเนินการสถานร่วมวิจัยด้านเพื่อการใช้แสงซินโครตรอนต่ออีก ๕ ปี หลังประสบความสำเร็จในสร้างระบบลำเลียงแสง เพื่อการใช้แสงซินโครตรอนในเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นเทคนิควิเคราะห์วัสดุขั้นสูง สามารถวิเคราะห์สถานะทางเคมีและโครงสร้างอะตอมโดยรอบของธาตุที่สนใจได้หลากหลายชนิด  มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพในระดับสากล และมุ่งเน้นงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น
    ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)  เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมจัดการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ ๖๙ (The 69th  ASEAN Committee on Science and Technology Meeting : ASEAN COST) และการประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มต่างๆ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีเครือข่ายและโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และยกระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทยในกรอบ ASEAN COST  โดยประเทศสมาชิกมีทั้งหมด ๑๐ ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, สปป.ลาว, สหพันธรัฐมาเลเซีย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐสิงคโปร์, ไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม


    “การประชุม ASEAN COST ในครั้งนี้ สถาบันฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมย่อยคู่ขนาน (side meeting) ในหัวข้อ “Synchrotron Applications, Collaborations and Opportunities with SLRI'” ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยและแบ่งปันการใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยระหว่างกันกับสถาบันอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในสาขางานวิจัยต่างๆ เข้าร่วมบรรยาย ได้แก่ Dr. Thomas Whitcher, University of Malaya ประเทศมาเลเซีย, ดร.วันเฉลิม รุ่งสว่าง, SCG Chemical Co., Ltd., ศ.ดร.วิมล ตันติไชยากุล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, Dr.Muhayatun Santoso, National Nuclear Energy Agency of Indonesia (BATAN), ประเทศอินโดนิเซีย ทั้งยังได้จัดการบรรยายในส่วน General Assembly ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่องการใช้แสงซินโครตรอนในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับเกียรติจาก Prof.Nguyen Quang Liem, Vietnam Academy of Science and Technology, Institute Materials Sciences (VAST-IMS) ประเทศเวียดนาม และ Prof. Dr.Norlida Kamarulzaman, Centre for Nanomaterials Research, Institute of Science, Universiti Teknologi MARA, ประเทศมาเลเซีย กิจกรรมทั้งหมดของสถาบันฯ ณ การประชุม ASEAN COST ครั้งที่ ๖๙ จะเป็นบทสำคัญอีกบทหนึ่งในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ และใช้ทรัพยากรทางการวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน” ดร.สมชาย กล่าว
    ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมนั้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีห้องปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์ให้บริการแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในสถาบันฯ ที่ปฏิบัติงานสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้าน วทน. ในโอกาสนี้ที่มีความร่วมมือจากหน่วยงานของภาครัฐทั้ง ๓ ฝ่าย มทส. – นาโนเทค - ซินโครตรอน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมสร้างเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การบริการด้าน วทน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของแสงซินโครตรอน และเข้ามาร่วมสร้างและใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน  ซึ่งจะเป็นจุดหนึ่งในการเชื่อมต่อการใช้บุคลากรร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Ttalent Mmobility)”
    ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมบริหารสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค-สซ. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ได้ร่วมทุนจัดตั้งสถานร่วมวิจัยแบบไตรภาคี เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ โดยเป็นการร่วมลงทุนฝ่ายละ ๑๕ ล้านบาท รวมเป็นเงิน ๔๕ ล้านบาท โดยระยะที่ ๑ ใช้เวลา ๓ ปี ในการออกแบบ โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นหัวหน้าสถานร่วมวิจัย ได้ดำเนินการสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy (XAS)) กระทั่งแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ  โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดระบบลำเลียงแสงที่ ๕.๒ : มทส.-นาโนเทค-สซ.ใช้ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕  ถึงปัจจุบันสถานีทดลองแห่งนี้ สามารถให้บริการแสงแก่ผู้ใช้บริการได้ถึง ๘,๒๐๖ ชั่วโมง ได้รับการจัดสรรการให้บริการจำนวนทั้งสิ้นแบ่งให้กับ ๑๔๔ โครงการ มีผู้เข้าใช้บริการรวมทั้งสิ้นผู้ใช้ ๒๑๘ คน จาก ๑๔๔ โครงการวิจัย  เป็นที่น่ายินดีคือ โครงการที่ได้รับการจัดสรรมีผลสัมฤทธิ์ทำให้เกิดผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้ว จำนวนกว่า ๒๐ เรื่อง และได้มีการยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน ๑ เรื่อง แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลงานวิจัยที่ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ  นอกจากนี้ การดำเนินการสถานร่วมวิจัยฯ ยังสามารถพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการทำวิจัยโดยใช้เทคนิคด้านแสงซินโครตรอนในการวิจัยขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน จากผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานข้างต้น ทั้งสามหน่วยงานจึงมีความเห็นพ้องกันที่จะขยายระยะเวลาการดำเนินงานไปสู่ระยะที่สอง เพื่อต่อยอดและขยายผลความร่วมมือระหว่างไตรภาคีในการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงโดยจะขอระดมเงินทุนเพิ่ม ฝ่ายละ ๑ ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา ๕ ปี รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๕ ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการของสถานร่วมวิจัยในระยะที่สองต่อไป” 


    ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  (ศน.) กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีกำลังเป็นที่สนใจและตื่นตัวอย่างมากในทุกวงการ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนาโนได้เข้ามามีบทบาทความสำคัญต่อการวิจัยในระดับสากลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับสากลแทบทุกด้าน  การที่นักวิจัยไทยได้เข้าถึงห้องปฏิบัติการวิจัยวัสดุขั้นสูง เช่นการมีสถานีทดลองเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถวิเคราะห์สถานะทางเคมีและโครงสร้างอะตอมโดยรอบของธาตุที่สนใจได้หลายชนิด ทั้งยังสามารถวิเคราะห์สารตัวอย่างได้ทั้งในสภาวะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยไม่ทำลายสารตัวอย่าง ซึ่งได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ วัสดุศาสตร์ วัสดุนาโน ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม พลังงาน และโบราณคดี เป็นต้น การมีเครื่องมือชั้นแนวหน้าอันทันสมัยนี้จึงเป็นเสมือนตัวขับเร่งให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยออกสู่สังคมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมานักวิจัยไทยมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในระดับนาชาติ  การผลิตผลงานวิจัยต่อจากนี้จะให้ความสำคัญมุ่งไปที่การวิจัยและพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น”
    ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “จากผลสำเร็จในการสร้างระบบแสงและสถานีทดลอง มทส.-นาโนเทค-มทส. ภายในห้องปฏิบัติการแสงสยามนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจร่วมกันคือ ระบบลำเสียงแสงนี้ได้ทำการออกแบบทางวิศวกรรม ดำเนินการจัดสร้างโดยทีมนักวิจัยและวิศวกรไทยทั้งสิ้น ซึ่งในตลอดระยะเวลา ๓ ปีของการดำเนินการจัดสร้างได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพของทีมงานบุคลากรได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง สถาบันฯ ยังได้จัดทีมนักวิจัย วิศวกร ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าใช้บริการแสงการดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับรองการใช้งานอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรวิจัยชั้นนำของประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วยแสงซินโคร ตรอนในการร่วมสถานีผ่านการพัฒนาสถานร่วมวิจัยนี้ ก่อให้เกิดมิติใหม่ในด้านการร่วมใช้งบประมาณ การร่วมสร้างสรรค์ผลงานวิจัย  และในระยะที่ ๒ จะมีการพัฒนาระบบสร้างระบบลำเลียงแสงที่ ๕.๑: X-ray Photoemission Spectroscopy (XPS) เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระบบลำเลียงแสงสำหรับการวิเคราะห์พื้นผิวของวัสดุ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน  และเพิ่มจำนวนโครงการวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรร่วมของหน่วยงานไตรภาคี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”


ฉบับที่ ๒๒๙๓ วันอังคารที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


682 1342