24thApril

24thApril

24thApril

 

May 27,2015

มทส.-ธ.ก.ส.ร่วมเผยแพร่ความรู้ พัฒนาเกษตรกรก้าวไกล

   มทส.จับมือธ.ก.ส.ร่วมมือด้านวิชาการ แลกเปลี่ยน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร หวังยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้เป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีความมั่นคงในอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ อาคารเรียนรวม (อาคาร ๓๕) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมมือด้านวิชาการในการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร เพื่อพัฒนาอาชีพและธุรกิจในชุมชน อาทิ การเลี้ยงไก่โคราช การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิว การปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย แสงอาทิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มทส. และนายจรุงค์ กู้เกียรติกูล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 
    รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย แสงอาทิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยได้ประกาศตัวเป็นสถาบันคู่เคียงสังคม เพื่อดำเนินภารกิจช่วยเหลือและบริการสังคม ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในฐานะสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นเสมือนแหล่งทรัพยากรทางความรู้และผู้เชี่ยวชาญ มทส. มีผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่โดดเด่น อาทิ โคเนื้อพันธุ์โคราชวากิว ไก่เนื้อโคราช มันสำปะหลัง การผลิตพืชด้วยระบบน้ำหยด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการ “การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช” เพื่อการผลิตเป็นอาชีพของวิสาหกิจชุมชนนั้น บัดนี้ผลผลิตจากงานวิจัยได้นำไปสู่การขยายผลไปในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา และในจังหวัดอื่นๆ รวม ๑๐ จังหวัด มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้โดยตรงประมาณ ๘๐ ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ มทส. และธ.ก.ส.จะได้ร่วมมือกันนำผลงานวิจัยไก่เนื้อโคราชนี้ไปขยายผลให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของธนาคาร เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของเกษตรกรต่อไป
    สำหรับแนวทางความร่วมมือทางด้านวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และนวัตกรรมที่เหมาะสมไปสู่พี่น้องเกษตรกร อาทิ การเลี้ยงไก่โคราช การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิว การปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด โดยจะดำเนินการผ่านชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของ ธ.ก.ส. จำนวน ๑,๒๔๑ ชุมชน ในพื้นที่ ๘ จังหวัด เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนและพัฒนาธุรกิจในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป”


ฉบับที่ ๒๒๙๓ วันอังคารที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


694 1343