29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 27,2015

ถ้าไม่มีการปฏิรูปตำรวจ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย

   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อภิปรายในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ ๒๑ พ.ค.๒๕๕๘ ความตอนหนึ่ง กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจว่า 


    “วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ จะรื้อ จะปรับอย่างไร บอกรัฐบาลหน้า และฝากบอกพี่ๆ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เสนอมาด้วย ถ้าให้รัฐบาลผมทำวันนี้ เรื่องปฏิรูปจะเดินหน้าได้อย่างไร”
    น่าเห็นใจ พลเอกประยุทธ์
    แต่ก็น่าคิดว่า หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจในยุคนี้ แล้วการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ผลักดันไปนั้น จะมีความมั่นคง-ยั่งยืน หรือแม้แต่จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่? อย่างไร? 
    หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย? 

    ๑) นักการเมืองจะยึดกุมตำรวจเป็นเครื่องมือ  เหมือนช่วงก่อนรัฐประหาร
    เมื่อนักการเมืองผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นรัฐบาล ระบบตำรวจก็จะถูกรุกคืบเพื่อใช้ประโยชน์อีก
    ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด
    เนื่องจากระบบตำรวจมีลักษณะรวมศูนย์ กระจุกอำนาจการบังคับบัญชาอยู่ส่วนกลาง หากนักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถควบคุมอำนาจที่จุดรวมศูนย์ได้ ก็สามารถยึดครองระบบตำรวจทั่วประเทศ
    มันหอมหวนยวนใจนักการเมือง ตามสัญชาตญาณนักล่าอำนาจมาก
    จากสายบังคับบัญชายาว รวบอำนาจผูกไว้เสมือนเป็นกองทัพตำรวจ ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจมีอำนาจควบคุมกำลังพลภายใต้สายบังคับบัญชาทั้งหมด เมื่อใดถูกการเมืองครอบงำ ถูกการเมืองบงการ โดยใช้วิธีแต่งตั้งย้ายแบบ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” หรือสมยอมด้วยผลประโยชน์ ก็กลับกลายเป็นว่า ระบบตำรวจจะถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เสมือนเป็นกองกำลังส่วนตัว สร้างปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง ทำลายความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กระทั่งก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรขึ้นมาเสียเอง
    แทนที่จะปฏิรูประบบตำรวจ โดยกระจายอำนาจออกไปจากส่วนกลาง ยกฐานะตำรวจจังหวัดให้สูงจากเดิม อาจจะให้เป็นนิติบุคคลในแต่ละจังหวัด ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศไทย (เหมือนมหาวิทยาลัยที่แยกเป็นอิสระในแต่ละแห่ง) ตำรวจแต่ละจังหวัดก็จะมีอำนาจบริหารจัดการตัวเอง เช่น เปิดรับสมัครบุคลากร จัดการฝึกอบรม บริหารงานบุคคล มอบหมายภารกิจ สร้างระบบผลประโยชน์ สร้างคุณธรรมและจรรยาบรรณ จัดทำงบ จัดทำแผนงาน ฯลฯ อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีการโยกย้ายตำรวจเลวจากจังหวัดหนึ่งข้ามไปดองไว้อีกจังหวัดหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าจังหวัดนั้นๆ จะเสียประโยชน์อย่างไร เพราะแต่ละจังหวัดมีอำนาจพิจารณาบริหารจัดการบุคคลด้วยตนเองว่าจะรับหรือไม่รับใครเข้าทำงาน ประสิทธิภาพการบริหารงานก็จะเกิดขึ้น
    ลองคิดดูว่า การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย แล้วถ้าระบบตำรวจยังไม่ได้ปฏิรูป หรือถูกยึดครองโดยอำนาจของนักการเมืองทุจริตแล้วล่ะก็ การปฏิรูปด้านต่างๆ จะไม่ลงเหวดอกหรือ?

    ๒) กระบวนการยุติธรรมยังจะมีปัญหาสืบต่อไป เมื่อ “ต้นธารของกระบวนการยุติธรรมยังไม่ปฏิรูป” 
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบงานสอบสวน หากยังคงขึ้นตรงต่อตำรวจต่อไปอีก ก็จะถูกครอบงำ สั่งการ ถูกบิดเบือนใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ถูกแทรกซึมแทรกแซงผ่านระบบอุปถัมภ์ 
    ผู้ใหญ่ขอมา ผู้ใหญ่สั่งมา ผู้ใหญ่ฝากมา
    สำนวนอ่อน สำนวนหลวม หรือแม้แต่บิดผันสำนวน ก็สุ่มเสี่ยงที่สร้างปัญหาต่อระบบยุติธรรมต่อไปอีก
    อย่าลืมว่า ข้อเสนอที่ให้แยกงานสอบสวนออกจากงานส่วนอื่นๆ ของตำรวจ ก็เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยสายการบังคับบัญชา ป้องกันการก้าวก่าย สั่งการคดี สั่งเป่าคดี บิดเบือนคดีไปจากการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามแบบของ “พนักงานสอบสวน” มืออาชีพ
    และให้เกิดดุลยภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม กับเจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานสอบสวน
    มิใช่ว่า ทั้งจับกุม ทั้งสอบสวน ทั้งตรวจหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ อยู่ใต้บังคับบัญชาของคนเดียวหมด
    ที่สำคัญ เพื่อสร้างพนักงานสอบสวนมืออาชีพ ที่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ มีคุณธรรม เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยมีระบบเงินเดือนและอัตราเงินเดือนแยกจากตำรวจทั่วไป ซึ่งจะทำให้มีค่าตอบแทนเหมาะสมยิ่งขึ้น
    เมื่อระบบยังคงเดิม การทำสำนวนคดีก็คงไม่ต่างจากเดิม 
    ทิศทางของกระแสลมแห่งอำนาจ มีความสำคัญต่อคดี 
    การดำเนินคดี คงจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี ๒ มาตรฐาน หรือหลายมาตรฐาน 
    หากเป็นคนของนักการเมืองผู้มีอำนาจรัฐ การปฏิบัติก็แบบหนึ่ง 
    หากไม่ใช่ การปฏิบัติก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง
    แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว มีการเลือกตั้งใหม่แล้วก็ตาม เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ปัญหาเดิมๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะวนเวียนกลับมาอีก คือ การใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือการปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ตรงข้ามนักการเมืองผู้กุมอำนาจรัฐแบบหลายมาตรฐาน อันจะนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมืองต่อไปอีกแน่แท้

๓) ระบบตำรวจจะไม่มีประสิทธิภาพดังเดิม จากการที่มีภารกิจกว้างขวาง ครอบจักรวาล
    จะยังมีลักษณะ “ตัวยาว-หัวโต-ร่างอ้วน”
    “ตัวยาว” คือ สายการบังคับบัญชาที่ยาวมาก โดยเฉพาะตำรวจที่เกี่ยวพันกับประชาชนในชีวิตประจำวัน คือ ระดับประทวน ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ จราจร ตำรวจที่อยู่ในโรงพัก ฯลฯ เป็นกำลังพลหลักหลายแสนคน มีสายการบังคับบัญชาที่ยาวมาก มีนายหลายคน ต่อขึ้นไปเป็นทอดๆ 
    “หัวโต” คือ ตำรวจระดับบังคับบัญชา ระดับนายพันตำรวจถึงนายพลตำรวจ หรือระดับหัว ก็ปรากฏว่า มีอยู่จำนวนมาก เกินความจำเป็น บางคนกลายเป็นไม่มีงานบริหารให้ทำโดยตรง มียศนายพล แต่ไม่มีหน้าที่ชัดๆ
    “ร่างอ้วน” คือ ระบบตำรวจในภาพรวม มีหน่วยงานแตกแขนง กระจายออกไปจากภารกิจหลักจำนวนมาก เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ
    หากมีการผ่าตัด แบ่งแยกงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรง กระจายออกไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงดูแล ก็จะทำให้ระบบตำรวจไม่อุ้ยอ้าย สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ๔) ลองคิดดูง่ายๆ.... ถ้าสมมติว่า วันพรุ่งนี้ ไม่มี คสช.
    ถามว่า ปัญหาค้ามนุษย์ ประมงผิดกฎหมาย นายทุนรุกป่า บ่อนการพนัน ธุรกิจผิดกฎหมาย ฯลฯ จะถูกจัดการแบบเข้มข้นเหมือนในยุคที่มี คสช.อยู่หรือไม่? 
    จึงน่าเสียดาย หากการปฏิรูประบบตำรวจไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้มีระบบตำรวจที่มีประสิทธิภาพ เป็นเสาหลักอันหนึ่งของการปฏิรูปบ้านเมืองในระยะต่อไป 
    อย่าลืมว่า การปฏิรูปตำรวจนั้น เคยมีการศึกษาวิจัยปัญหาและแนวทางปฏิบัติไว้ชัดเจน และประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสถาบันสำคัญนี้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีการดำเนินการจริงๆ จังๆ 
    ปี ๒๕๔๙ รัฐบาลสุรยุทธ์ตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ” ขึ้น จัดทำร่างกฎหมาย ๒ ฉบับ ว่าด้วยการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนการกระทำอันผิดกฎหมายของตำรวจ ร่างทั้งสองฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ส่งให้กฤษฏีกาพิจารณา แต่ก็เกิดความล่าช้าเมื่อนักการเมืองสมคบผู้บังคับบัญชาระดับสูงเสนอความเห็นแย้ง ขัดขวางกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจดังกล่าวเกิดความล่าช้า ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลเฉพาะกาลในในสมัยนั้นก็หมดอายุลงไปเสียก่อน
    หลังจากนั้น พอมาถึงยุครัฐบาลสมัคร-รัฐบาลสมชาย ก็ไม่ปรากฏว่ามีความคิดที่จะดำเนินการปฏิรูปตำรวจเลยแม้แต่น้อย
     ปี ๒๕๕๒ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีความพยายามปฏิรูปตำรวจ แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจขึ้น แต่รัฐบาลชุดนั้นก็มีอายุสั้น ทำได้เพียงสั่งให้ สตช.เปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบปฏิบัติที่สำคัญๆ เช่น ระเบียบการเลื่อนชั้นยศของนายตำรวจชั้นประทวน (จ่าสิบตำรวจหรือดาบตำรวจ) ขึ้นเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร (ร้อยตำรวจตรี) เป็นต้น
    แล้วรัฐบาลชุดนั้น เมื่อต้องรับมือกับขบวนการก่อความไม่สงบในบ้านเมือง ก็เห็นๆ กันอยู่แล้วว่า ระบบตำรวจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด? ศาลากลางจังหวัดถูกเผากี่แห่ง? รถตำรวจ-ทหาร ถูกทำลายกี่คัน? ตำรวจ-ทหาร เสียชีวิตกี่คน? เกิดความสูญเสียขนาดไหน? 
    หาก คสช.ในยุคนี้ จะรอให้รัฐบาลหน้าเข้ามาดำเนินการ ก็เกรงจะเข้าวงจรเดิม
    วันนี้ คสช. มีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
    หาก คสช. ไม่ลงมือทำ หรือไม่สามารถทำได้สำเร็จแล้ว สังคมไทยยากจะเห็นการปฏิรูปกองทัพตำรวจให้ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง 
    และวันข้างหน้า กองทัพตำรวจอาจกลับมาอิงแอบกับนักการเมืองในระบอบทักษิณอีกคำรบหนึ่งก็เป็นได้
    หากไม่ปฏิรูปตำรวจวันนี้ ในอนาคต บ้านเมืองมีปัญหา การยึดอำนาจเสียของ ผมและประชาชนจะรุมประณามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)! 
.....
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ฉบับที่ ๒๒๙๓ วันอังคารที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


687 1351