26thApril

26thApril

26thApril

 

May 28,2015

“นายกฯคนนอก” ออกแบบเพื่อแก้วิกฤติจริงหรือ

ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของส.ส. โดยไม่ได้กำหนดว่านายกฯ จะต้องมาจากส.ส. 


    โดยกรรมาธิการยกร่างฯ อธิบายว่า ที่เขียนเปิดกว้างไว้อย่างนี้เป็นหลักการทั่วไปในการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะไม่ระบุชัดเจนว่า นายกฯ ต้องเป็นส.ส. และอ้างว่า ทุกประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาก็เขียนอย่างนี้ 
    ซึ่งข้ออ้างนี้ไม่เป็นจริง เพราะอย่างน้อยรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา” ส.ส.และส.ว.ของญี่ปุ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
    เหตุผลที่เปิดกว้างให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ ก็เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ที่ประเทศมีวิกฤติโดยยกตัวอย่างวิกฤติในสมัยรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้ประกาศยุบสภา ทำให้ไม่มีส.ส. เมื่อผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงอ้างว่า ทำไม่ได้ เพราะไม่มีส.ส.ที่จะแต่งตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี
    ถ้ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกก็จะไม่เป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ร่างแนวทางป้องกันไว้แล้ว โดยกำหนดไว้ว่า 
    “เมื่อนายกฯ ยุบสภาแล้ว ให้รัฐบาลพ้นสภาพไปด้วย และให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงรักษาการรัฐมนตรี และให้ปลัดเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ”
    ดังนั้น วิกฤติการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ประชาชนเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา และนายกฯ ไม่ยอมยุบสภา และไม่ยอมลาออก ถ้าเกิดวิกฤติการเมืองขึ้นแบบนี้ก็เป็นไปไม่ได้ที่สภาจะใช้เสียง ๒/๓ เพื่อเลือกคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการที่นายกฯ ไม่ยอมยุบสภาก็แสดงว่า นายกฯ ได้ตกลงกับส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแล้วว่า จะ “สู้” ดังนั้น ถ้าฝ่ายค้านจะเสนอให้เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ โดยใช้เสียง ๒/๓ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
    แสดงว่า ถ้าเกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นจริงๆ โอกาสที่จะแก้ไขวิกฤติโดยใช้คนนอกมาเป็นนายกฯ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
    ถ้าอย่างนั้น การเปิดโอกาสให้คนนอกเป็นนายกฯ จะเกิดขึ้นได้ในกรณีไหน? 
    โอกาสที่คนนอกจะเป็นนายกฯ อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก เช่น พรรคใหญ่สองพรรคคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองพรรคไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าพรรคขนาดกลางหลายพรรครวมตัวกันและยื่นคำขาดให้พรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่ง หากยอมให้คนนอกเป็นนายกฯ จะยอมร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลได้ 
    ดังนั้น รัฐบาลผสมที่มีคนนอกเป็นนายกฯ ก็จะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ปกติ โดยไม่ต้องรอให้มีวิกฤติทางการเมืองแต่อย่างใด  นอกจากจะเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า เป็นวิกฤติ
    คงต้องถามกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า แท้จริงแล้วมีเจตนาเช่นนี้หรือเปล่า???


ฉบับที่ ๒๒๙๓ วันอังคารที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


682 1345