19thMay

19thMay

19thMay

 

June 18,2015

เร่งรถไฟความเร็วสูงอีสาน เชื่อมไทย-ลาว-จีน เล็งย้ายผู้บุกรุก

เร่งศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร ‘โคราช-หนองคาย’ รองรับความเร็วสูงในอนาคต ผู้นำชุมชนขอความชัดเจนแนวเส้นทางและค่าชดเชย พร้อมจัดสรรพื้นที่ใหม่ ๘๐ ไร่ ย้าย ๔๘๐ ครัวเรือน หมู่บ้านจัดสรรหวั่น! ได้รับผลกระทบ พบพื้นที่ ‘ขอนแก่น’ กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือนบุกรุกพื้นที่รถไฟ ล่าสุดกำหนดสถานีหลัก ๕ แห่ง พร้อมลานกองเก็บสินค้า ที่โคราช และขอนแก่น ส่วนเส้นทางนำร่อง ‘กรุงเทพฯ-นคร ราชสีมา’ บริษัทที่ปรึกษาต้องส่งรายงาน EIA ให้ สผ.พิจารณาเพิ่มเติม

 

       เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๕ อาคาร กาญจนาภิเษก เทศบาลนครนครราชสีมา นายบำรุง เจริญพจน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ที่มีต่อ “โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย” ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม  เพื่อเตรียมก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร ซึ่งจะนำรถไฟความเร็วระหว่าง ๑๘๐-๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) มาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ได้รับความสนใจจากผู้นำชุมชนและตัวแทนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นจำนวนกว่า ๘๐ คน  

ทุ่มงบศึกษา ๘๖.๙๒ ล้าน

       ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ รับทราบรายงานแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ ได้มีพิธีลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยช่วง “นครราชสีมา-หนองคาย” จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบกรอบรายละเอียด มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา ๑๔ เดือน วงเงิน ๘๖.๙๒ ล้านบาท 

ดังนั้น โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ ๒ นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๓๕๕ กิโลเมตร จึงได้เพิ่มเติมขอบเขตงานศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงให้รวมถึงงานศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อให้สามารถรองรับระบบรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ในอนาคตได้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท EGIS RAIL, บริษัท พีเคเอส คอนซัลแทนส์ จำกัด, บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว โดยกำหนดให้บริษัทที่ปรึกษาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ เป็นต้นมา พร้อมทั้งดำเนินการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคายไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้การศึกษาอยู่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

‘โคราช-หนองคาย’ผ่าน ๔ จว. 

      กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยนายธนากร ไชยธีรภิญโญ รองผู้จัดการโครงการ, นายบุญพา สิบสินสัจวงศ์ วิศวกรโยธา, นายกานต์ กิ่งแก้ว วิศวกรออกแบบ และนางสาวธัญพรรณพร พัฒนเจริญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะที่ ๒ แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัดของภาคอีสาน ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา, โนนสูง, คง, บัวใหญ่ และบัวลาย, จังหวัดขอนแก่น ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอพล โนนศิลา บ้านไผ่ บ้านแฮด เมืองขอนแก่น น้ำพอง และเขาสวนกวาง, จังหวัดอุดรธานี ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสะอาด กุมภวาปี ประจักษ์ศิลปาคม เมืองอุดรธานี และเพ็ญ, จังหวัดหนองคาย ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอสระใคร และเมืองหนองคาย 

จุดสิ้นสุดใกล้สะพานมิตรภาพ

      สำหรับจุดเริ่มต้นเส้นทางรถไฟสายนี้ อยู่บริเวณ กม.ที่ ๒๕๓+๐๓๒.๘๙๘ หลังจากออกจากสถานีรถไฟนครราชสีมาและจุดตัดห้าแยกหัวรถไฟมาแล้ว และเลยช่วงทางโค้งก่อนเข้าสู่สถานีรถไฟจิระ และมาสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณ กม.ที่ ๖๐๗+๐๗๓.๘๗๕ ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ (หนองคาย-เวียงจันทน์) ห่างจากสถานีรถไฟหนองคายไม่มากนัก รวมระยะทางประมาณ ๓๕๕ กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อรองรับในอนาคตเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-สปป.ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว และเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานช่วงนครราชสีมา-หนองคายเสร็จสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดแนวเส้นทาง ๓๕๕ กิโลเมตร และพื้นที่โดยรอบ ในระยะจากกึ่งกลางแนวเส้นทางออกไปข้างละ ๕๐๐ เมตร ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวใน ๔ จังหวัด

 

๕ สถานี ๒ ลานกองเก็บสินค้า

     จากการศึกษาและออกแบบรายละเอียดแนวเส้นทาง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้กำหนดตำแหน่งไว้ ๕ สถานีหลัก ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย นอกจากนี้ยังรองรับระบบโลจิสติกส์เพื่อการขนส่งสินค้าสายอีสานเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยกำหนดจุด CY (Container Yard) หรือลานกองเก็บสินค้า บริเวณบ้านกระโดน อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และบ้านหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น จากก่อนหน้านี้จะเลือกใช้พื้นที่บริเวณตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น เนื่องจากมีชุมชนและความหนาแน่นของประชากรซึ่งต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมาก ทางกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจึงขยับสถานที่ตั้งลานกองเก็บสินค้ามายังบริเวณบ้านหนองเม็ก พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ ที่จังหวัดหนองคาย 

‘เมืองโคราช’วิ่งยกระดับ ๑๘ จุด 

      ส่วนการเตรียมความพร้อมของสถานีโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับในการเดินรถไฟสายนี้ ตลอดแนวเส้นทางทุกๆ ๕๐ กิโลเมตรนั้น ในเบื้องต้นกำหนดไว้จำนวน ๘ สถานีโรงไฟฟ้า ซึ่งจากการออกแบบเส้นทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตรนั้น จะนำรถไฟความเร็วระหว่าง ๑๘๐-๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) มาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถนำรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ที่มีความเร็ว ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปมาวิ่งในรางรถไฟดังกล่าวได้เช่นกัน ทั้งยังต้องมีการแก้ปัญหาหรือวิเคราะห์โครงสร้างทางวิศวกรรม จากจุดตัดทั้งหมด ๒๔๘ จุดตลอดแนวเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย  โดยเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา ในแนวเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เบื้องต้นมีจำนวน ๑๘ จุด ที่รถไฟจะต้องวิ่งยกระดับในระดับ ๓ คือ สูงจากพื้นที่ดินประมาณ ๑๘-๒๐ เมตร เนื่องจากต้องวิ่งคร่อมแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ และสะพานรถยนต์ข้ามทาง โดยพิจารณาโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทร่วมด้วย  

ขอ ๘๐ ไร่ย้าย ๔๘๐ ครัวเรือน 

      ทั้งนี้ จากการติดตามการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ของ ‘โคราชคนอีสาน’ ผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาต่างเห็นดีด้วยที่จะมีการพัฒนาคมนาคมระบบราง โดยยกระดับก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แต่ยังกังวลเรื่องแนวเส้นทางที่จะถูกเวนคืนและค่าชดเชย โดยเฉพาะผู้นำชุมชน “ราชนิกูล ๓” ที่ต้องถูกเวนคืนราว ๔๘๐ ครัวเรือน ต้องการให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยแห่งใหม่ เนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่ หากมีความชัดเจนในเรื่องนี้พร้อมยินดีย้ายออก รวมไปถึงโครงการหมู่บ้านวรารมณ์วิลล์ ทั้งยังมีปัญหาชุมชนติดทางรถไฟ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการออกโฉนดที่ดินครั้งแรก พร้อมกับเส้นทางรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทำให้เขตทางรถไฟทั้งซ้ายและขวาไม่ครบข้างละ ๔๐ เมตร 

ขอให้กันถนนเลียบทางรถไฟ

     ด้านนายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาเทศบาลนครนครราชสีมา โดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรี มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองโคราช ด้วยการก่อสร้างถนนตัดใหม่หลายสาย โดยเฉพาะ Local Road (ถนนเลียบทางรถไฟ) หากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะส่งผลกระทบต่อนโยบายในการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวของเทศบาลนครนครราชสีมาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการขออนุญาตใช้ประโยชน์เขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ทางกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการศึกษาหรือกันพื้นที่ในส่วนนี้ไว้ด้วย เพื่อยังคงรักษาเส้นทางจราจรของ Local Road ไว้ เพื่อประโยชน์กับประชาชนที่สัญจรไปมาในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา 

‘ขอนแก่น’บุกรุกทางรถไฟนับพัน

     อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ตลอดแนวเส้นทางการศึกษาและออกแบบรายละเอียด ระยะทางประมาณ ๓๕๕ กิโลเมตร ส่วนใหญ่พบการบุกรุกพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น บริเวณเขตเทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลเมืองศิลา รวมจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน รองลงมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา รวมไปถึงการทำความเร็วของรถไฟระหว่าง ๑๘๐-๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) โดยเฉพาะที่บริเวณบ้านดงพลอง ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟบ้านดงพลองเดิม และมีหมู่บ้านตั้งอยู่ด้วย จำเป็นต้องเพิ่มรัศมีโค้งเพื่อรักษาความเร็วในการเดินรถไฟ    

กรกฎาคมหยั่งเสียงรอบ ๒ 

     ภายหลังการประชุมกลุ่มย่อยตลอดแนวเส้นทาง ๔ จังหวัดเสร็จสิ้น กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่โครงการ พร้อมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสรุปเป็นข้อมูลและเตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ ที่มีต่อ “โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย” ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ 

 

‘กทม.-โคราช’ยังรอสผ.อนุมัติ

     ในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงสถานีรถไฟบางซื่อ-สถานีรถไฟนครราชสีมา (หัวรถไฟ) ภายหลังทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว ล่าสุดสำนักพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า เส้นทางช่วงกรุงเทพฯ (สถานีรถไฟบางซื่อ) – อำเภอเมืองนครราชสีมา (สถานีรถไฟนครราชสีมา) ระยะทาง ๒๕๖ กิโลเมตร ภายหลังศึกษาเสร็จและส่งรายงาน EIA แล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งล่าสุดได้ให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาไปดำเนินการปรับแก้รายงาน EIA ในบางส่วน  

สถานีสระบุรี-ปากช่อง-โคราช

     สำหรับแนวเส้นทาง “กรุงเทพฯ-นครราช สีมา” มีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา มาถึงชุมทางบ้านภาชี จากนั้นแยกเข้าสู่เส้นทางรถไฟสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานีปากช่องจะอยู่ที่ราชพัสดุหนองสาหร่าย ห่างจากสถานีเดิมประมาณ ๕ กิโลเมตร จากนั้นเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีปลายทางที่สถานีรถไฟนครราชสีมา โดยรวมเส้นทางจะสร้างคู่ขนานแนวรถไฟเดิม ยกเว้นบางช่วงที่ปรับรัศมีโค้งให้มีเหมาะสมกับความเร็วรถไฟ พร้อมทั้งรูปแบบโครงสร้างมีทั้งทางยกระดับกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร เพราะผ่านเขตเมือง ทางระดับพื้น ๕๘ กิโลเมตร สะพานบก ๔ กิโลเมตร และอุโมงค์ ๔ แห่งช่วงภาชี-โคราช โดยมีอุโมงค์รถไฟบริเวณผาเสด็จถึงหินลับด้วย และในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหินโรงปูนซีเมนต์ ๓ บริษัท มี ๒ อุโมงค์ความยาว ๒๐๒ เมตร กับ ๓,๓๒๖ เมตร อุโมงค์รถไฟบริเวณริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยเป็นอุโมงค์ ๒ ช่วง อยู่บริเวณสถานีคลองขนานจิตร ความยาว ๕๕๗ เมตร และ ๑,๒๔๓ เมตร

     พร้อมกันนี้ กำหนดสถานีรถไฟความเร็วสูงสำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร ตามแนวเส้นทางจากชุมทางภาชีที่แยกมาสายอีสาน จำนวน ๓ สถานี คือ ๑. สถานีสระบุรี จะสร้างอยู่ที่ใหม่ห่างสถานีรถไฟเดิมประมาณ ๓ กิโลเมตร เยื้องศูนย์การค้าโรบินสัน ๒. สถานีปากช่อง ได้ข้อสรุปจะสร้างขึ้นใหม่มูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ราชพัสดุกว่า ๑๕๐ ไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่าย ใกล้กับตำบลลำสมพุง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ห่างจากสถานีรถไฟปากช่องปัจจุบันกว่า ๕ กิโลเมตร โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาเมืองใหม่ที่อำเภอปากช่องควบคู่กับการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ๓. สถานีนครราชสีมา ในร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นสถานีรถไฟนครราชสีมา ถนนมุขมนตรี (หัวรถไฟ) ซึ่งอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ ๒๒๕ ไร่ เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟ โรงซ่อมบำรุง บ้านพักพนักงานรถไฟกว่า ๔๐๐ หลัง และพื้นที่ให้เช่าประกอบธุรกิจ คาดว่าต้องใช้งบประมาณในการย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟ และเวนคืนชุมชนบริเวณใกล้เคียง และต้องใช้งบประมาณราว ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานีให้สอดรับกับโครงการดังกล่าว เพราะจะต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เข้ามาสนับสนุนค่าโดยสารด้วย 

ความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำเสนอต่อไป 
    

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๒๒๙๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ - วันพฤหัสบดีที่  ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช  ๒๕๕๘

 

 


711 1,353