28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 30,2015

ปี ๕๙ ลุยรถไฟทางคู่ ‘โคราช-อุบลฯ’๓ หมื่นล. ผ่าน ๑๖ อำเภอ ๕ จังหวัด

   รฟท.เดินหน้ารถไฟทางคู่ ‘ช่วงชุมทางจิระ-อุบลฯ’ ระยะทาง ๓๐๙ กม. รองรับศูนย์กลางขนส่งโลจิสติกส์ภาคอีสาน ช่วยขนส่งสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรผ่านทางระบบราง อนาคตวางต่อขยายแนวเส้นทางไปชายแดนสปป.ลาว คาดงบก่อสร้างสูงถึง ๓-๔ หมื่นล้าน ส่วนเส้นทาง ‘มาบกะเบา-โคราช’ ลุ้นผ่าน EIA เพราะต้องเลี่ยงพื้นที่ป่าสงวน และกันเขตทางประทานบัตรโรงปูนซิเมนต์ ๓ แห่ง

    เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ โรงแรมซิตี้พาร์ค จังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๑ ปฐมนิเทศโครงการบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด ตลอดทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมกว่า ๒๐๐ คน 
 

เร่งพัฒนารถไฟทางคู่อีสานล่าง
    นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความเป็นมาว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่จังหวัดสุรินทร์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ๑ (ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์) และตอนล่าง ๒ (ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมการบินพลเรือน จำนวน ๓ ด้าน รวมทั้งสิ้น ๑๒ โครงการ ซึ่งโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ดังกล่าว ได้รวมการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางระบบราง จำนวน ๑ โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี โดยเร่งรัดให้แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนดำเนินงาน โครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี รวมอยู่ในแผนดำเนินการระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓)   
    “สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็นเส้นทางหนึ่งตามแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะที่ ๒ ของกระทรวงคมนาคม ที่จะก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี จากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ รฟท. จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรี และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่สำคัญของประเทศ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ ๑๒ เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๘ – เมษายน ๒๕๕๙ ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการการขนส่งทางราง ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและประหยัดเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่งของประเทศ นอกจากนี้ยังลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะทั้งในเขตพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศอีกด้วย” นายวรรณนพ กล่าว      

 

‘ผู้ว่าฯเบิร์ด’มองเชื่อมภูมิภาค
    นายธงชัย(เบิร์ด) ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า ทุกวันนี้จังหวัดนครราชสีมามีการขนส่งสินค้าทางถนน ทั้งรถยนต์และรถบรรทุกมากกว่าระบบรางอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศ ๑.๙ ล้านไร่ และส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสำเร็จรูปไปต่างประเทศจำนวนมาก ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแป้งมันขนส่งสินค้าผ่านระบบรางส่วนหนึ่งที่อำเภอสูงเนิน และนำไปลงท่าเรือพระนครศรีอยุธยา ในอนาคตถ้าระบบรางรถไฟพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะสามารถเปลี่ยนจากระบบขนส่งทางรถยนต์มาเป็นรถไฟได้ นอกจากนี้เมืองโคราชยังเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ๓,๐๐๐ กว่าแห่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโปแตซ (ผลิตเกลือ) ที่อำเภอพิมาย ขนส่งสินค้าผ่านทางรถยนต์เฉลี่ยปีละหลายพันตัน ดังนั้น การพัฒนารถไฟทางคู่จะช่วยลดความแออัดบนทางหลวงแผ่นดิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง ทั้งยังลดการนำเข้าและประหยัดเชื้อเพลิงการขนส่ง เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ก่อให้เกิดศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งช่วงก่อสร้างและหลังจากการก่อสร้าง 
    “ผมไม่อยากให้มองเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราชที่จะได้ประโยชน์เท่านั้น ชาวโคราชต้องมองเผื่อคนข้างหลังด้วย นั่นคือ ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน และระดับประเทศ ทั้งการเชื่อมโยงไปถึงสปป.ลาว และประเทศเวียดนาม รวมไปถึงการคมนาคมขนส่งจากภาคกลางและภาคตะวันออกมายังภาคอีสานด้วยก็จะต้องผ่านโคราช เพราะฉะนั้น ในอนาคตโคราชจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคอีสาน ภาคกลาง และอาเซียน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากเกิดการพัฒนาระบบรางสมบูรณ์ โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นจากเส้นทางโคราชจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวให้กับทุกจังหวัดในภาคอีสาน และต่อยอดให้กับระดับประเทศต่อไปในทุกมิติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว

 

‘โคราช-อุบลฯ’แล่น ๓๐๙ กม. 
    ต่อมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยนางสาวนิภาพร สถาผล วิศวกรโครงการ, นายอาคม สุวรรณไตร วิศวกรโครงการ, นางสาวจิตรลดา ดำรงสุกิจ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และดร.เสถียร รุจิวนิช ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ นำเสนอสาระสำคัญการศึกษา “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยระบุว่า ด้านวิศวกรรมและการออกแบบแนวเส้นทางจะพัฒนาให้เป็นระบบรถไฟด่วนความเร็ว ๑๖๐ กม./ชม. โดยใช้รางขนาด ๑ เมตร (Meter Gauge) แต่ต้องมีการปรับรัศมีโค้งเป็นบางช่วง เพื่อให้รองรับอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสร้างทางเพิ่มขึ้น ๑ ทาง เพื่อวิ่งคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการฯ บริเวณ กม.๒๖๖+๓๐๔ เมื่อพ้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา และไปสิ้นสุดที่สถานีอุบลราชธานี บริเวณ กม.๕๗๕+๑๐๐ ระยะทางรวมประมาณ ๓๐๙ กิโลเมตร 

 

ผ่าน ๑๖ อำเภอ ๕ จังหวัด
    ตลอดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ ๑๖ อำเภอ ใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา, เฉลิมพระเกียรติ, จักราช และห้วยแถลง, จ.บุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ, เมืองบุรีรัมย์, ห้วยราช และกระสัง, จ.สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ ศีขรภูมิ และสำโรงทาบ, จ.ศรีสะเกษ อ.ห้วยทับทัน, อุทุมพรพิสัย, เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์, จ.อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ ประกอบด้วย ๓๔ สถานี แบ่งเป็นสถานีชั้น ๑ จำนวน ๗ สถานี, สถานีชั้น ๒ จำนวน ๗ สถานี และสถานีชั้น ๓ จำนวน ๒๐ สถานี ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ ดังนี้ ๑. บ้านพะเนา ๒. ท่าช้าง ๓. หนองมโนรมย์ ๔. จักราช ๕. บ้านหินโคน ๖. หินดาษ ๗. ห้วยแถลง ๘. หนองกระทิง ๙. ลำปลายมาศ ๑๐. ทะเมนชัย 
    ๑๑. บ้านแสลงพัน ๑๒. บ้านหนองดาด ๑๓. บุรีรัมย์ ๑๔. ห้วยราช ๑๕. กระสัง ๑๖. หนองเต็ง ๑๗. ลำชี ๑๘. สุรินทร์ ๑๙. บุฤาษี ๒๐. เมืองที ๒๑. กระโดนค้อ ๒๒. ศีขรภูมิ ๒๓. บ้านกะลัน ๒๔. สำโรงทาบ ๒๕. ห้วยทับทัน ๒๖. อุทุมพรพิสัย ๒๗. บ้านเนียม ๒๘. ศรีสะเกษ ๒๙. หนองแวง ๓๐. บ้านคล้อ ๓๑. กันทรารมย์ ๓๒. ห้วยขยุง ๓๓. บุ่งหวาย และ ๓๔. อุบลราชธานี โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

 

รฟท.วางศูนย์กลางโลจิสติกส์
    ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี รฟท. มองว่าจะช่วยส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางด้านขนส่งโลจิสติกส์ ที่ช่วยขนถ่ายสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ฯลฯ ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน และมีบทบาทสนับสนุนการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ที่กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการเติบโตมากขึ้น และกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ในอนาคตถ้ามีการต่อขยายแนวเส้นทางจากสถานีอุบลราชธานี ในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังบริเวณชายแดนระหว่างไทย กับสปป.ลาว จะทำให้แนวเส้นทางนี้ช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบโครงการฯ

 

ค่าก่อสร้างสูง ๓-๔ หมื่นล้าน
    นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รฟท. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ ๓๐๙ กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างประมาณ ๓-๔ หมื่นล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ ล้านบาท นับเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ระยะที่ ๒ สืบเนื่องจากเส้นทางระยะเร่งด่วน คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๒ กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟทางคู่แล้วจากเส้นทางกรุงเทพฯ-มาบกะเบา ตามแผนการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ระยะที่ ๒ นั้น ยังรวมถึงการศึกษาเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง ๑๗๔ กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง ๑๘๕ กิโลเมตร มูลค่า ๒.๖ หมื่นล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว หากทั้ง ๔ เส้นทางดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในอนาคตจะเชื่อมต่อภาคอีสานทั้งหมด ร่นระยะเวลาการเดินทางประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง เพราะออกแบบให้เป็นระบบรถไฟด่วนความเร็ว ๑๖๐ กม./ชม. ซึ่งจะไม่มีการสับหลีกรางของการเดินรถไฟแต่ละขบวนเหมือนที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ แนวทางการพัฒนาจะใช้พื้นที่ รฟท. ข้างละประมาณ ๔๐ เมตร โดยไม่มีการเวนคืน ยกเว้นกรณีพบการบุกรุกและบริเวณที่มีการแก้ไขปัญหาจุดตัดอาจต้องเวนคืนพื้นที่เล็กน้อย เพื่อกันพื้นที่ไว้สำหรับการก่อสร้างทางคู่ เป็นต้น 

 

จัดสรรงบจ้างที่ปรึกษา ๒๒๐ ล.
    “ทั้งนี้ รฟท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บจก.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์, บจก.ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และบจก.ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ ในวงเงินประมาณ ๒๒๐ ล้านบาท เพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ภายหลังจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่จัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑ ต่อเนื่อง ที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ มิถุนายนนี้ จากนั้นจะลงพื้นที่ศึกษาและรับทราบถึงปัญหาตามชุมชนต่างๆ รอบพื้นที่โครงการฯ โดยเฉพาะการประเมินจุดตัด/ทางแยก เพื่อวางโครงสร้างทางวิศวกรรมอาจเป็นในลักษณะท่อลอด (Box Convert) ให้รถไฟแล่นผ่านได้โดยไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามีกำหนดส่งมอบงานในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ หากโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบผ่าน EIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าประมาณปลายปี ๒๕๕๙ จะสามารถก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวได้” นายวรรณนพ กล่าว    

 

‘มาบกะเบา-โคราช’ลุ้นอีไอเอ
    ต่อข้อซักถามของ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง ๑๓๒ กิโลเมตร ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้าง ๒๙,๘๕๕ ล้านบาทนั้น นายวรรณนพ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รฟท. กล่าวว่า “ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หลังจากบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดเส้นทางนี้ ได้ส่งข้อมูลร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมให้คณะกรรมการฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง EIA ช่วงที่ผ่านป่าสงวนบริเวณ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นป่าโซน B (ลุ่มน้ำ) และยังมีปัญหาประทานบัตรโรงปูนซิเมนต์ ๓ โรง พื้นที่ตรงนี้วางแผนออกแบบไว้เป็นอุโมงค์ลอด และกันพื้นที่ข้างละประมาณ ๒๐๐ เมตร เพื่อไม่ให้ระเบิดหินเข้าไปในเส้นทางรถไฟ คาดว่าไม่มีปัญหาเพราะเป็นประทานบัตรที่อนุญาตโดยรัฐบาล” 
‘จิระ-ขอนแก่น’พร้อมสร้าง
    อย่างไรก็ตาม การพัฒนารถไฟทางคู่สายอีสานที่มีความพร้อมดำเนินการมากที่สุดในขณะนี้ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ(นครราชสีมา) - ขอน แก่น ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบดำเนินการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในกรอบวงเงิน ๒๖,๐๐๗ ล้านบาท ระยะทาง ๑๘๕ กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘-๒๕๖๑ โดย รฟท.จะเปิดประมูลทันที ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เนื่องจากผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๑ มีผู้โดยสารใช้บริการ ๒๗,๒๐๐-๓๘,๐๐๐ คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๓๗,๐๐๐-๕๕,๐๐๐ คนต่อวันในปี ๒๕๗๗ และคาดการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าที่ผ่านเส้นทางประมาณ ๑๐,๙๐๐-๑๑,๓๐๐ ตันต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๓๖,๔๐๐ ตันต่อวัน ในปี ๒๕๗๗ 
    หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำเสนอข่าวต่อไป


ฉบับที่ ๒๒๙๙ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

เครดิตภาพ : www.pantip.com 


713 1381