20thApril

20thApril

20thApril

 

July 02,2015

ดัน‘โคราชจีโอพาร์ค’ หนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว เทียบเกาหลีใต้-อิตาลี

     ระดมสมองผลักดัน “โคราชจีโอพาร์ค” สนับสนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวของจังหวัด โดดเด่นด้านซากดึกดำบรรพ์ ครบ ๓ มหายุค สอดคล้องกับพื้นที่อนุรักษ์ตามหลักของยูเนสโกทั้ง ๓ รูปแบบอยู่ในบริเวณเดียวกัน นับเป็นแห่งที่ ๓ ของโลกจาก ๑๐๐ แห่ง เทียบเท่าอุทยานธรณี Jeju Island เกาหลีใต้ และ Cilento and Vallo di Diano ของอิตาลี วาดฝัน “โคราช...นครแห่งบรรพชีวิน ถิ่น ๓ มรดกธรรมชาติของโลก” เลือก ๑๑ อำเภอเป็นที่ตั้ง

อุทยานธรณี Jeju Island (เกาหลีใต้)

    ตามที่เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอุทยานธรณีจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพิจารณาถึงการจัดตั้งอุทยานธรณี (Geopark) ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยมีปลัดจังหวัดนครราชสีมา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงานร่วมประชุมจำนวน ๔๕ คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต ๒ (ขอนแก่น) และผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

     นายธงชัย ลืออดุลย์ กล่าวถึงโคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark) ว่า เป็นโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา โดยอาศัยแบรนด์ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวภายในจังหวัด สร้างงาน อาชีพและรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ประการสำคัญยังช่วยอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์ป่า ซากดึกดำบรรพ์ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนด้วย

อุทยานธรณี’เน้นท้องถิ่นมีส่วนร่วม

     ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ และดร.วิฆเนศ ทรงธรรม รองผู้อำนวยการ ผู้นำเสนอโครงการจัดตั้งอุทยานธรณี กล่าวว่า อุทยานธรณีตามที่กำหนดโดยยูเนสโกนั้น หมายถึง “พื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีความสำคัญโดดเด่นในระดับนานาชาติทางด้านธรณีวิทยา และ/หรือมีคุณค่าทางด้านนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม” อุทยานธรณีเป็นเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ของยูเนสโก ในการพัฒนาท้องถิ่นของประเทศต่างๆ โดยชุมชน และภาครัฐ-เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ร่วมใช้และรับผลประโยชน์จากพื้นที่และทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยเน้นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณี (Geotourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) เป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น โดยอุทยานธรณีมีทั้งระดับจังหวัด ประเทศและระดับโลก แต่อุทยานธรณีระดับโลก หรือ Global Geopark จะได้รับการจัดตั้งตามเกณฑ์และโดยการประกาศรับรองจากยูเนสโก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ปัจจุบันมีอยู่ ๑๑๑ แห่ง จาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยยังไม่มีในระดับนี้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นรูปแบบใหม่ของยูเนสโกดังกล่าว ประสบผลสำเร็จแล้วทั้งในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย และยุโรป เช่น อุทยานธรณี Huangshan ประเทศจีน ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งอุทยานธรณี มีนักท่องเที่ยวเพียง ๘.๒ ล้านคน/ปี แต่หลังจัดตั้งอุทยานธรณี ๘ ปี ใน พ.ศ.๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวถึง ๓๖.๔ ล้านคน อุทยานธรณี Jeju Island ประเทศเกาหลีใต้ ปีก่อตั้งอุทยานธรณี พ.ศ.๒๕๕๓ มีนักท่องเที่ยวประมาณ ๖.๔ ล้านคน แต่หลังการจัดตั้งอุทยานธรณี ๓ ปี ใน พ.ศ.๒๕๕๖ มีนักท่องเที่ยวถึงเกือบ ๑๑ ล้านคน สำหรับจุดขายหลักของอุทยานธรณี คือ มรดกทางธรณีวิทยาที่โดดเด่น และมีคุณค่าในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น และ/หรือมรดกทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง และผลิตภัณฑ์หรือการบริการของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพ รวมทั้งแบรนด์ของยูเนสโก เช่น เกาะภูเขาไฟและวิถีชีวิตในอุทยานธรณี Jeju Island เกาหลีใต้ ภูมิประเทศคาสต์ หรือหินปูน และถ้ำใหญ่ในอุทยานธรณี Xingwen ประเทศจีน

โคราชโดดเด่นด้านฟอสซิล

     สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ที่ประชุมคณะทำงานเห็นชอบให้ใช้ชื่อ “โคราช” เป็นชื่ออุทยานธรณี เพราะเป็นชื่อกลุ่มหินในทางธรณีวิทยา คือ “Khorat Group” ซึ่งพบกระจัดกระจายเป็นพื้นที่มากที่สุด และเห็นได้ชัดในจังหวัดนครราชสีมา และเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของฟอสซิลสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่พบในจังหวัดหลายชนิด เช่น อุรังอุตังโคราช (Khoratpithecus) จระเข้โคราช (Khoratosuchus) รวมทั้งเป็นชื่อเดิมและชื่อทั่วไปที่เป็นที่รู้จักกันดีของจังหวัดนครราชสีมา

     ส่วนพื้นที่จัดตั้งอุทยานธรณี ที่ประชุมเห็นชอบกับพื้นที่ ๑๑ อำเภอทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด ที่มีขนาด ๙,๘๖๒ ตร.กม. ได้แก่ อำเภอปากช่อง วังน้ำเขียว ปักธงชัย โชคชัย สูงเนิน สีคิ้ว เทพารักษ์ ด่านขุนทด ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเหตุผลทางวิชาการธรณีวิทยา คือ เป็นพื้นที่โดดเด่นของซากดึกดำบรรพ์ ครบ ๓ มหายุค จากซากอายุเก่าในทางตะวันตกไปสู่ซากอายุใหม่ในทางตะวันออก คือ มหายุคซีวิตเก่า (Paleozoic)  ที่เป็นสัตว์ทะเลแถบปากช่อง-วังน้ำเขียว จำพวกปะการัง คตข้าวสาร พลับพลึงทะเล ในหินปูน อายุ ๒๗๐-๒๕๒ ล้านปีก่อน มหายุคชีวิตกลาง (Mesozoic) ที่เป็นสัตว์เลื้อยคลานแถบสีคิ้ว ด่านขุนทด เมืองนครราชสีมา ปักธงชัย จำพวกไดโนเสาร์ เทอโรซอร์ จระเข้ เต่า ในหินทราย หินกรวดมน อายุ ๒๒๐–๑๐๐ ล้านปีก่อน และมหายุคชีวิตใหม่ (Cenozoic)  ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แถบอำเภอเมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ จำพวกช้างดึกดำบรรพ์  ซึ่งพบมากที่สุดในโลกถึง ๑๐ สกุล จาก ๔๔ สกุลทั่วโลก แรดไร้นอและมีนอ ฮิปโป อุรังอุตัง ยีราฟคอสั้น เสือเขี้ยวดาบ กวางแอนติโลป ม้าฮิปปาเรียน ไฮยีนา ในชั้นดินตะกอนที่ราบลุ่มลำน้ำมูลและสาขา อายุ ๑๖-๐.๐๑ ล้านปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายของชนิดหินและสัณฐานภูมิประเทศ คือ มีทั้งชนิดหินในประเภทหินอัคนี หินตะกอนและหินแปร เช่น หินแกรนิต บะซอลต์ ไดโอไรต์ ฮอร์นเบลนไดต์ หินทราย หินกรวดมน หินปูน หินอ่อน หินชนวน และสัณฐานภูมิประเทศของหินภูเขาไฟ น้ำตก ถ้ำ หลุมยุบ ธารน้ำผุด สุสานหิน เขาคาสต์ (เขาหินปูนผาชัน) เขาเควสตา (เขาหินทรายอีโต้) ดินแดงเทอราโรซา ลานกุมภลักษณ์ (ลานหลุมรูปหม้อ) น้ำพุธรรมชาติ เป็นต้น 

สำรวจแหล่งธรณีแล้ว ๓๗ แหล่ง

     ส่วนแหล่งนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบด้วยในพื้นที่ เช่น แหล่งนิเวศวิทยาป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ป่าไม้ในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช แหล่งโบราณคดีวัดพระนอนและปราสาทหินในอำเภอสูงเนิน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรฟาร์มโชคชัย ไร่จิม ทอมป์สัน แหล่งท่องเที่ยวหัตถกรรม เช่น หมู่บ้านผ้าไหมปักธงชัย หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน แหล่งท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ตำบลท่าช้าง พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ตำบลโคกสูง หอดูดาวและอุทยานผีเสื้อ มทส. สวนสัตว์นครราชสีมา ท้องฟ้าจำลองของ อบจ.นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผลการสำรวจแหล่งธรณีและไม่ใช่ธรณีในพื้นที่อุทยานธรณีแล้ว ๓๗ แหล่ง

ถิ่น ๓ มรดกธรรมชาติของโลก

     ทั้งนี้ พื้นที่อุทยานธรณีโคราชดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของพื้นที่มรดกโลกป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และทั้งหมดของพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากยูเนสโกทั้ง ๒ แห่ง ดังนั้น ถ้าหากอุทยานธรณีโคราชได้รับการจัดตั้งจากยูเนสโกด้วยในอนาคต อุทยานธรณีโคราชจะเป็นอุทยานธรณีแห่งที่ ๓ จากกว่า ๑๐๐ แห่ง ทั่วโลก ที่มีพื้นที่อนุรักษ์ของยูเนสโกทั้ง ๓ รูปแบบ (World Heritage, Biosphere Reserve และ Geopark) อยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่นเดียวกับอุทยานธรณี Jeju Island (เกาหลีใต้) และอุทยานธรณี Cilento and Vallo di Diano (อิตาลี) ซึ่งเท่ากับจัดอยู่ในทำเนียบอุทยานธรณีที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโกถึง ๓ รายการ หรือ “The UNESCO Triple Crown” เหมือน ๒ ประเทศดังกล่าว และถือเป็นแบรนด์ที่สำคัญในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวระดับสากลของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย และ ณ โอกาสนั้น โคราชอาจจะมียุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาที่อาศัยความโดดเด่นแตกต่างและแนวใหม่ เช่น “โคราช...นครแห่งบรรพชีวิน ถิ่น ๓ มรดกธรรมชาติของโลก” หรือ Khorat : Paleontopolis with 3 World Natunal Heritages. (Paleontopolis, Pale = เก่า บรรพกาล, Onto = ชีวิต, Polis = นคร)

อุทยานธรณีโคราช

      สุดท้ายนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวย้ำว่า การจัดตั้งอุทยานธรณีเป็นโอกาสหนึ่งในการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ชาวจังหวัดนครราชสีมา แม้ว่าการเริ่มต้นในขณะนี้ อาจจะยังมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นัก หลายฝ่ายเกิดความกังวลในความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการคุ้มครองของยูเนสโก แต่เชื่อว่าความร่วมมือและการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งอุทยานธรณีในพื้นที่ อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรของชาวโคราชได้เช่นเดียวกับมรดกโลก หรือพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีในจังหวัดนครราชสีมาดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย ทุกฝ่ายจึงเห็นชอบในหลักการให้อุทยานธรณีในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีชื่อว่า อุทยานธรณีโคราช และครอบคลุมพื้นที่นำร่องที่มีความหลากหลายทางธรณีวิทยา นิเวศวิทยาและวัฒนธรรมสิบเอ็ดอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา โดยขอให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประสานความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชต่อไป          

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๐ วันพุธที่  ๑ - วันอาทิตย์ที่  ๕  เดือนกรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๘

 

 


723 1353