26thApril

26thApril

26thApril

 

July 02,2015

พระชัยเมืองนครราชสีมา รายได้สมทบ“คลังเลือด”

   ‘สุวัจน์’ นำฝ่ายฆราวาสร่วมเททองหล่อ ‘พระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง’ เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด พร้อมสร้างพระบูชา/พระเครื่องให้ประชาชนได้มีไว้สักการะบูชา เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ ๕ และสาธารณประโยชน์ของจังหวัด ด้าน ‘รองผู้ว่าฯ วินัย’ หนุน อ้างมีหน.ส่วนราชการและประชาชนเห็นด้วย

 

 

       ตามที่นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา หรือกำนันเบ้า กำนันตำบลโคกกรวด หมู่ที่ ๖ อ.เมืองนครราชสีมา เสนอการจัดสร้าง “พระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง” เพื่อให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมา โดยพระชัยเมืองนครราชสีมาองค์จริง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร และขึ้นเลขทะเบียน อ.ย.๒๕ กรมศิลปากร แต่นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีความเห็นว่าการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าวจำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนรอบด้าน เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงต้องสืบค้นประวัติความเป็นมาด้วยว่า มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาอย่างไร 

       ต่อมานายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการแจกแบบสอบถามเรื่องการสร้าง “พระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง และสถานที่ประดิษฐาน” เพื่อสอบถามความคิดเห็นของกรมการจังหวัดนครราชสีมา ในการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา เเละหัวหน้าส่วนราชการนครราชสีมา ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยระบุว่า เห็นด้วยกับการที่จังหวัดนครราชสีมาจะสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลองไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหรือไม่ พร้อมระบุด้วยว่า หากมีการสร้างสถานที่ประดิษฐานควรเป็นที่ใด ๑. หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการระดับจังหวัด มีประชาชนมาติดต่อราชการจำนวนมาก ๒.บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เนื่องจากบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจำนวนมาก และยังสามารถไหว้พระชัยเมืองนครราชสีมาได้อีกด้วย ๓.บริเวณอนุสรณ์สถานทุ่งสัมฤทธิ์ ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย เนื่องจากประวัติศาสตร์ของพระชัยเมืองนครราชสีมา มีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองพิมายตามข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี และลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อความมีชัยชนะเหนือศัตรูในการศึกสงคราม ซึ่งมีความสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของสถานที่ โดยให้ส่งแบบสอบถามดังกล่าวคืนเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา

เสียงส่วนราชการไม่ค้าน

       ทั้งนี้ จากการแจกแบบสอบถามไปยังหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๓๐๐ ชุด ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา สรุปความคิดเห็น ดังนี้ ส่วนราชการ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๖.๗๓ เห็นด้วย และให้ประดิษฐานบริเวณอนุสรณ์สถานทุ่งสัมฤทธิ์ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมายรองลงมา ส่วนราชการ ร้อยละ ๓๖.๐๕ เห็นด้วยให้ก่อสร้างและประดิษฐานบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) และอีกร้อยละ ๒๗.๗๐ ส่วนราชการก็มีความเห็นด้วย แต่เห็นควรประดิษฐานไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา แต่จากหลักฐานเอกสารหรือประวัติความเป็นมาขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทั้งยังมี “พระชัย” หลายองค์หลายสมัย แม้กระทั่งนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๖ พิมาย ก็ให้น้ำหนักจากข้อสันนิษฐานตามประวัติศาสตร์แบบศิลปะของพระชัยเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศิลปะอู่ทอง รุ่น ๒ ทั้งยังหวั่นว่าสถานที่ประดิษฐานจะสับสนกับประวัติศาสตร์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)และหากประชาชนไม่เห็นด้วยก็ต้องยุติการจัดสร้างองค์จำลองตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวลงฉบับที่ ๒๒๙๓ วันที่ ๒๖-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ แล้วนั้น

‘สุวัจน์’นำหล่อพระชัยเมืองฯ

      ความคืบหน้าการจัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาจำลอง ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๙ น. ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยพลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ ๒, นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต ส.ส.นครราชสีมา ร่วมทำพิธีเททองหล่อ “พระชัยเมืองนครราชสีมา” โดยมีพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารบริจาคโลหิตแห่งชาติที่ ๕ นครราชสีมา สภากาชาดไทย และใช้เพื่อการสาธารณประโยชน์ในจังหวัดนครราชสีมา 
ซึ่งภายในพิธีการประกอบไปด้วยพิธีบวงสรวงเทวดาฟ้าดิน รวมทั้งพระสมณศักดิ์ ๙ รูป นั่งปรกอธิษฐานจิตสวดเจริญพระพุทธมนต์ โดยพระเกจิอาจารย์ประกอบด้วย ๑. พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม จากกรุงเทพมหานคร ๒. พระธรรมโสภณ วัดสุทธิจินดา จังหวัดนครราชสีมา ๓. พระราชบัญญาวิสารัท วัดกระดึงทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ๔. พระชินวงศาสตร์ วัดป่าเวฬุวัน จังหวัดนครราชสีมา ๕. พระราชสีมาภรณ์ วัดบึง จังหวัดนครราชสีมา ๖. พระครูอนุวัตรชินวงศ์ (หลวงพ่อจอย) วัดโนนไทย จังหวัดนคราชสีมา ๗. พระครูสุตกิจสารวิมล วัดใหม่สันติ จังหวัดนครราชสีมา ๘. พระครูประโชติปัญญากร วัดบ้านบัลลังก์ จังหวัดนครราชสีมา และ ๙. พระครูอรัญธรรมภาณี วัดโกรกสะเดา จังหวัดนครราชสีมา ท่ามกลางหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ร่วมกันแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน

เร่งสร้างพระบูชา-พระเครื่อง

       ทั้งนี้ รายละเอียดตามแผ่นพับที่แจกให้ผู้ร่วมพิธีเททองหล่อครั้งนี้ ระบุว่า จังหวัดนครราชสีมา จะจัดสร้าง "พระชัยเมืองนครราชสีมา" เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว และสร้างพระบูชา/พระเครื่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีไว้สักการะบูชา ดังนี้ ๑. พระบูชาขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวนสร้าง ๙๙๙ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๓,๙๙๙ บาท ๒. พระเครื่อง ชุดทองคำเลขมงคล (๒ องค์) จำนวนสร้าง ๓๔ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๑๙๙,๙๙๙ บาท, พระเครื่อง ชุดทองคำทั่วไป (๒ องค์) จำนวนสร้าง ๖๕ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๑๔๙,๙๙๙ บาท, พระเครื่อง ชุดเนื้อเงิน (๒ องค์) จำนวนสร้าง ๒,๙๙๙ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๓,๙๙๙ บาท, พระเครื่อง ชุดเนื้อนวะ (๒ องค์) จำนวนสร้าง ๔,๙๙๙ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๑,๔๙๙ บาท, พระเครื่อง เนื้อสำริด จำนวนสร้าง ๒๙,๙๙๙ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๑๙๙ บาท และพระเครื่อง เนื้อทองทิพย์ จำนวนสร้าง ๒๙,๙๙๙ ชุด/องค์ ราคาชุด/องค์ละ ๑๔๙ บาท

       หมายเหตุ ๑. ชุดเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะ แต่ละรายการประกอบด้วย กริ่งพระชัย(ใหญ่) ๑ องค์ และพระชัย (เล็ก) ๑ องค์ ๒. ชุดทองคำ (รายการลำดับ ๒ และ ๓) แต่ละชุดบรรจุกล่องละ ๘ องค์ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะ (อย่างละ ๒ องค์) เนื้อสำริดและเนื้อทองทิพย์ (อย่างละ ๑ องค์) ๓. ชุดทองคำ (เลขมงคล) จำนวน ๓๔ ชุด ได้แก่หมายเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๑ ๒๒ ๓๓ ๔๔ ๕๕ ๖๖ ๗๗ ๘๘ ๙๙ ๑๘ ๒๗ ๓๖ ๔๕ ๕๔ ๖๓ ๗๒ ๘๑ ๑๙ ๒๙ ๓๙ ๔๙ ๕๙ ๖๙ ๗๙ ๘๙ และ ๔. เศษ ๑ บาท ของทุกรายการของรับบริจาคสมทบสร้าง "พระชัยเมืองนครราชสีมา" ประจำจังหวัด ขนาด ๓๒ นิ้ว 

อ้างปชช.อยากสักการะบูชา

      ต่อเรื่องนี้นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ว่า จากการประชุมหารือกับส่วนราชการต่างๆ และประชาชน ที่ผ่านมานั้นเห็นด้วยในการจัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาขึ้น และต้องการให้ทางจังหวัดจัดสร้างให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาด้วย ซึ่งเดิมทางจังหวัดจะจัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาองค์จำลองเพียงแค่ ๑ องค์ เพื่อให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมา แต่หน่วยงานราชการและประชาชนต้องการมีไว้สักการะบูชา จึงได้จัดสร้างพระเครื่องเนื้อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีไว้สักการะบูชา โดยจะนำรายได้จากการจัดสร้างพระเครื่องครั้งนี้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด นำไปสมทบทุนจัดสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ ๕ นครราชสีมา สภากาชาดไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อแก้ไขปัญหาตามภารกิจเร่งด่วนของจังหวัดนครราชสีมา และค่าใช้จ่ายในกิจการสาธารณประโยชน์และการกุศลต่อไป  

พระชัยมีหลายองค์หลายสมัย

       อนึ่ง “พระชัยเมืองนครราชสีมา" ขึ้นเลขทะเบียน อ.ย.๒๕ กรมศิลปากร ตามประวัติย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชนิดสำริด แบบศิลปะ/อายุสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕.๓ เซนติเมตร สูง ๒๒.๒ เซนติเมตร ประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวสอดอยู่ใต้ชายรัดประคด พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเบิกกว้าง กรอบพระพักตร์มีไรพระศกสองเส้น ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีทำเป็นรูปคล้ายหม้อน้ำ แบบศิลปะที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูปอู่ทอง ๒” มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี รูปแบบอักษรประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ที่องค์พระโดยรอบ

       นอกจากพระชัยเมืองนครราชสีมา ปรากฏว่า กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่หลักฐานเอกสารหรือประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาอย่างไรนั้นขณะนี้ไม่ชัดเจน ยังมี “พระชัย” หลายองค์หลายสมัย อาทิ “พระชัย” ซึ่งเป็นแบบศิลปะ/อายุสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ชนิดสัมฤทธิ์ ขนาดสูง ๒๕.๕ เซนติเมตร พระรัศมีทองคำลงยา พระนลาฏฝังเพชร มีสังวาลทองคำ และพัดทองคำลงยาฝังพลอย ฐานสิงห์ยกเก็จ จำหลักลวดลายฝังพลอย โดยประวัติเป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม ต่อมาย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๐ วันพุธที่  ๑ - วันอาทิตย์ที่  ๕  เดือนกรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๘


691 1345