17thApril

17thApril

17thApril

 

July 02,2015

กรรมของคำรณวิทย์ เปิดจุดอ่อนสนามบินไทย?

    กรณีพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นจับกุม ฐานพกพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างที่พนักงานอัยการญี่ปุ่นกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่? 


    พลตำรวจโทคำรณวิทย์รับสารภาพว่า ได้นำอาวุธปืนเดินทางไปจากประเทศไทย ผ่านระบบตรวจสอบของสนามบินสุวรรณภูมิของไทย เข้าประเทศญี่ปุ่น กระทั่งจะเดินทางกลับไทย ค่อยถูกตรวจพบและจับกุมก่อนขึ้นเครื่องบินที่สนามบินญี่ปุ่น
    น่าสงสัยว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง การเอาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนเดินทางผ่านระบบตรวจสอบของสนามบินไทย ขึ้นเครื่องบินไทยไปถึงญี่ปุ่น สามารถทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ เมืองไทยเราก็มีกฎข้อห้ามชัดเจน ผิดกฎหมายไทย และยังมีระบบตรวจอาวุธที่สนามบินหลายขั้นตอน?
    ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการของบริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เคยไปช่วยงาน ทำให้พอจะมีข้อมูลอยู่บ้าง มองเห็นช่องทางที่อาจจะเป็นจุดอ่อนหลายทาง 

    สภาพความเป็นจริงพื้นฐาน
    ในความเป็นจริง... ระบบการทำงานของสนามบินสุวรรณภูมิ เกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัย เกี่ยวพันกับการทำงานของบุคคลจากหลายหน่วยงานหลายส่วน ได้แก่ บริษัท ทอท. – บริษัท การบินไทย – ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) – บริษัทดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ ทอท.ว่าจ้างให้บริษัทในเครือล็อกซเล่ย์เข้ามารับเหมาทำงาน – ร้านค้าพาณิชย์ เอกชนผู้ได้รับเหมาไปทำพื้นที่พาณิชย์และดิวตี้ฟรีในอาคารผู้โดยสารของสนามบิน
    บริษัทการบินไทย... ทำหน้าที่บริการดูแลผู้โดยสาร ในกรณีที่จะเอาอาวุธขึ้นเครื่องบิน ก็จะต้องมีหนังสือยืนยันมาก่อน แล้วมีขั้นตอนวิธีการให้ต้องเอาไปบรรจุใต้ท้องเครื่อง แจ้งปลายทางทราบด้วย กรณีนี้ การบินไทยยืนยันชัดเจนว่าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ไม่ได้แจ้งมา เท่ากับว่า หากมีการนำขึ้นเครื่องก็จะต้องเป็นการลักลอบนำขึ้นเครื่องโดยที่การบินไทยไม่ได้อนุญาต ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง 
    ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)... หน้าที่หลัก คือ ตรวจหนังสือเดินทาง พิจารณาดูว่าบุคคลผู้นี้สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ โดยเน้นตรวจสอบเอกสาร ประวัติคดี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจตราความปลอดภัยเฉพาะหน้าโดยตรง
    ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น ทอท. บริษัทรับเหมาดูแลความปลอดภัยสนามบิน(ในเครือล็อกซเล่ย์) และบริษัทที่ดูแลกิจการร้านค้า ร้านอาหาร การพาณิชย์ ดิวตี้ฟรี ในสนามบิน จึงเป็นหน่วยงานที่มีขอบเขตหน้าที่และพื้นที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องโดยตรง จะมีจุดไหนที่อาจจะเป็นจุดอ่อน เปิดช่องโหว่-ช่องว่าง ทำให้อาจจะมีการเล็ดลอด นำอาวุธปืนหรือของผิดกฎหมายออกจากสนามบินไปขึ้นเครื่องบินได้บ้าง?


    

   ช่องทางที่อาจจะเป็นไปได้ เช่น 

    ๑) ผ่านทางวีไอพี 
    ระบบที่สนามบินมีช่องทางสำหรับบุคคลสำคัญ หรือวีไอพี ซึ่งในบ้านเรา แม้จะมีเครื่องตรวจ มีอุปกรณ์ครบถ้วน แต่ก็มักจะมีความหย่อนยาน เพราะมีความเกรงใจ
    ถ้าในประเทศที่เข้มงวด เคร่งครัด เช่น ประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า มีคนเดียวที่เขาจะไม่ตรวจ คือ องค์ประมุขของประเทศ สมเด็จพระราชินีฯ เท่านั้น ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ติดตาม หรือใครใหญ่แค่ไหน ตรวจหมด
    สนามบินบ้านเรา จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่อาวุธและของผิดกฎหมายจะออกไปช่องนี้
    โดยกรณีนี้ มิได้หมายความว่า พล.ต.ท. คำรณวิทย์จะต้องหิ้วออกไปเอง หรือถือออกไปเอง แต่ถ้ามีคนอื่นที่เป็นที่เกรงใจของเจ้าหน้าที่นำออกไปให้ แล้วเอาไปให้กันด้านใน ก็อาจเป็นไปได้ 
    เพราะฉะนั้น แม้จะปรากฏว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์เดินทางออกช่องปกติ ผ่านเครื่องตรวจปกติ แต่ช่องทางวีไอพีนี้ก็อาจจะยังเป็นจุดอ่อนของระบบอยู่

    ๒) ผ่านช่องตรวจอาวุธ วัตถุระเบิด เหมือนคนอื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่หละหลวม หรือเกรงใจบริษัทเอกชนที่เข้ามารับเหมาช่วงจาก ทอท. เป็นคนทำหน้าที่ตรวจสอบ ทราบว่า เป็นบริษัทในเครือของล็อกซ์เล่ย์
    หากอาวุธผ่านทางช่องนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะมีความหละหลวม หรือเกรงใจ หรือพูดจาอะไรกันหรือไม่ ช่องทางนี้ ใช่ว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป เคยหย่อนยานมาแล้ว ดังที่ผมเคยฟ้องร้อง      ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช จากกรณีไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสาร โดยอ้างว่าเครื่องมือถูกยืมไปใช้งานอื่น 

    ๓) ใส่กระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง
    ช่องทางนี้ แม้จะเกี่ยวข้องกับการบินไทย เพราะต้องโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่องบินของการบินไทย แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น กระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารที่โหลดมานั้น การบินไทยรับไปเพื่อติดแท็กเครื่องหมายว่าเป็นของใคร เที่ยวบินใด ที่นั่งเบอร์อะไรเท่านั้น จากนั้นก็ส่งลงสายพาน นำไปชั้นล่างสุด เพื่อเข้าสู่เครื่องตรวจอาวุธ ดินปืน วัตถุระเบิด ผ่านเครื่องซีทีเอ็กซ์ ที่เคยเป็นปัญหาอื้อฉาวในยุครัฐบาลทักษิณซื้อแพงกว่าปกติหลายสิบเครื่อง 
    เพราะฉะนั้น ช่องทางนี้ คนที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ ทอท. ผู้ทำหน้าที่ตรวจกระเป๋าผ่านเครื่องซีทีเอ็กซ์ 
    ข้อที่มีคนอ้างว่า ปืนขนาดเล็ก หากอยู่แนวนอน แนวตั้ง ก็จะทำให้มองไม่เห็นว่าเป็นปืนนั้น เข้าข่ายมั่ว
    ในความจริง เครื่องซีทีเอ็กซ์สามารถตรวจ ๓ มิติ บอกได้หมดว่าอะไรเป็นโลหะ ดินปืน เล็ดลอดไม่ได้เลย ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำตามมาตรฐานขั้นตอนปฏิบัติ
    หากอาวุธปืนผ่านไปทางนี้ คือ หลุดรอดไปในกระเป๋า โหลดใต้ท้องเครื่องบิน ก็แสดงว่ามีความย่อหย่อนของคนตรวจ หรือเครื่องมือชำรุดแล้วไม่ซ่อมให้พร้อมใช้งาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของคนหรือของเครื่อง ก็ไม่พ้นความรับผิดชอบอยู่ดี

    ๔) ช่องทางในการส่งของ
    บรรดาร้านค้าในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งดิวตี้ฟรี ร้านรวงพาณิชย์ ร้านที่ผู้รับเหมาพื้นที่ไปเซ้งต่อให้รายย่อย ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ขายเหล้า บุหรี่ น้ำหอม กระเป๋า ยารักษาโรค สินค้ามากมายหลากหลาย ฯลฯ 
    สินค้าย่อมจะต้องมีการขนจากด้านนอกอาคารผู้โดยสารเพื่อเข้าไปขายในอาคารด้านใน หากอาวุธปืนเล็ดลอดปะปนไปกับสินค้าในกล่อง หรือฝากปนไปกับผู้ขนสินค้า แม้ปกติก็จะต้องผ่านการตรวจสแกนเหมือนกัน แต่อาจจะหย่อนยาน หรือมีความหละหลวม เพราะคุ้นชินกันเอง ก็อาจจะเป็นไปได้
    ๕) ช่องโหว่ระหว่างทางเดิน
    ในสภาพพื้นที่จริง ทางเดินไปขึ้นเครื่องบินยังมีหลายช่วงที่ผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก อาจจะมีโอกาสส่งของให้กันได้ เช่น หลายช่วงที่เป็นทางเดิน มีกระจกกั้น แต่ไม่ได้ปิดสนิททั้งหมด ด้านบนยังเปิด สามารถจะโยนของข้ามไปให้คนอีกฝั่งได้ เพียงแต่จะต้องมีความชำนาญ นัดหมายกัน โดยอาจให้คนขนเดินทางมาจากที่อื่น คนรับเดินสวน รู้จังหวะเวลากัน โยนของให้กัน ส่งของกัน หากเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายสืบ ตำรวจ ก็อาจจะเป็นไปได้

    ๖) สนามบินสุวรรณภูมิมีร้านอาหารที่อยู่ด้านใน มีการต่อเติมอาคาร มีระเบียง ไม่ปิดสนิทเหมือนอาคารอื่นๆ ยังมีช่องโหว่ คนข้างนอกอาจส่งอะไรให้คนที่อยู่ข้างในได้ผ่านช่องทางนี้
    ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงช่องทางที่อาจจะเป็นจุดอ่อน เป็นช่องโหว่ ที่อาจจะถูกใช้เป็นช่องทางในการขนส่งของผิดกฎหมาย อาวุธปืน นำผ่านระบบตรวจสอบของสนามบินไปสู่อากาศยานต่อไป
    นี่ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการพยายามคิดอ่าน หลังจากเกิดเหตุครึกโครม ดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ก็เพื่อจะได้กระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งหาจุดอ่อน ลงมือปรับปรุงแก้ไขเพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
    จุดอ่อนหรือช่องโหว่เท่าที่เห็นในขณะนี้ หากดูตามอำนาจหน้าที่... การบินไทยคงไม่เกี่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็คงไม่เกี่ยว หน่วยงานที่อาจจะเกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่ ทอท. - บริษัทรับเหมาดูแลความปลอดภัยสนามบิน และผู้บริหารจัดการร้านค้าพาณิชย์ทั้งหลายในสนามบินนั่นเอง
    วิธีการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ระบบควบคุมความปลอดภัยที่ดีและให้เห็นผลชัดเจนที่สุด คือ อาจจะลองให้เจ้าหน้าที่ผู้ผ่านการฝึก ทดลองนำอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดเข้าไปในอาคาร ลองพยายามเล็ดลอดผ่านช่องทางต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา ตรวจสอบดูว่าจะผ่านช่องทางไหนเข้าไปได้บ้างหรือไม่ (โดยไม่บอกหน่วยงานในแต่ละส่วนล่วงหน้า) ซึ่งแนวทางนี้ เป็นวิธีที่หน่วยงานดูแลความปลอดภัยเคยใช้ตรวจเช็คกันมาก่อน 
    รวมไปถึง อาจจะยังมีช่องอื่นๆ ที่อาจเป็นช่องโหว่ เป็นจุดอ่อน จะได้หาทางป้องกัน

    บทเรียนจากกรรมของคำรณวิทย์
      นับว่า เป็นกรรมของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ที่ท่าอากาศยานของไทยไม่รัดกุม เกิดช่องโหว่ที่ทำให้อาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนเล็ดลอดผ่านจากสนามบินของไทยไปได้ตั้งแต่ขาออก
    ถ้าสนามบินไทยมีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพจริง รักษากฎหมายเคร่งครัด ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ พล.ต.ท.คำรณวิทย์คงไม่ต้องไปติดคุกที่ญี่ปุ่น เพราะจะต้องถูกตรวจจับได้ที่ประเทศไทยก่อน
    แล้วคนระดับพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ถ้าถูกตรวจจับได้ที่ประเทศไทย ก็ไม่แน่ว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา เหมือนที่ถูกดำเนินการที่ประเทศญี่ปุ่นขณะนี้หรือไม่?
    มีโอกาสที่มีการลูบหน้าปะจมูก ไม่เอาเข้าคุกเหมือนที่ญี่ปุ่น
    หากมีการตรวจพบที่สนามบินไทย ในฐานะตำรวจใหญ่ อาจจะอ้างว่าจำเป็นต้องพกปืน หรือถ้าไม่อนุญาตให้นำปืนไปด้วย ก็อาจจะแค่เอาปืนกลับ ไม่ถูกดำเนินคดี เป็นไปได้หรือไม่?
    แต่ด้วยระบบที่มีช่องโหว่ มีจุดอ่อน เกิดการเล็ดลอดผ่านระบบของสนามบินไทย กระทั่งเข้าไปสู่ระบบของสนามบินญี่ปุ่น ระบบของญี่ปุ่นจึงตรวจจับได้ นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีในที่สุด 
    มองในแง่นี้ การเร่งสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพของไทย ก็จะเป็นการปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของคนไทยนั่นเอง จะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงตกระกำลำบากที่ต่างแดน
........

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๐ วันพุธที่  ๑ - วันอาทิตย์ที่  ๕  เดือนกรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๘


692 1342