23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

July 03,2015

“ชาวนาขาดแคลนน้ำทำนา” ทุกข์หนักของแผ่นดิน

    ขณะนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนหนัก เพราะกรมชลประทานออกประกาศขอให้ชาวนาเลื่อนการทำนาออกไปสองเดือน เนื่องจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ฤดูแล้ง ประกอบกับน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนต่างๆ เหลือน้อยมาก บางแห่งเช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำในเขื่อนเพียง ๘ เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขื่อนขุนด่านปราการชลเหลือน้ำในเขื่อนเพียง ๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ ๔ เขื่อนเหลือน้ำเพียงแค่ ๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และที่เหลือทุกเขื่อนเหลือน้ำติดก้นเขื่อนทั้งสิ้น 


    สาเหตุที่มีน้ำเก็บกักในเขื่อนน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากภัยธรรมชาติคือความแห้งแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้  ปริมาณน้ำฝนที่ตกในปีนี้ในช่วงเวลาเดียวกันก็ต่ำกว่าปีที่แล้วเกือบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เรื่องภัยธรรมชาตินั้นไม่มีใครควบคุมได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาทางแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
    แต่การที่มีน้ำเก็บกักในเขื่อนน้อยกว่าปกติมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ใช่เหตุจากภัยแล้งอย่างเดียว จากข้อมูลของกรมชลประทานปรากฏชัดเจนว่า ในปี ๒๕๕๕ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท ทำให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหวาดผวาด้วยความกลัวว่า ปี ๒๕๕๕ จะเกิดปัญหาซ้ำอีก โดยไม่สนใจศึกษาข้อมูลทางสถิติว่า มีโอกาสจะเกิดน้ำท่วมติดต่อกันมากน้อยเพียงใด ด้วยความหวาดกลัวว่าจะเกิดน้ำท่วมอีก จึงสั่งให้กรมชลประทานพร่องน้ำให้มากที่สุด แม้เจ้าหน้าที่กรมชลฯ ที่มีความรู้จะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง ทำให้กรมชลประทานต้องพร่องน้ำหรือระบายน้ำออกจากทุกเขื่อนสูงถึง ๑๔,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากที่สุดในรอบ ๑๕ ปี ทำให้น้ำในเขื่อนทั้งหมดเหลือเพียง ๔๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรียกว่ารัฐบาลในขณะนั้นบริหารน้ำโดยใช้ความ “กลัว” เป็นหลัก โดยไม่ได้ใช้หลักวิชาการใดเลย แม้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานจะได้ท้วงติงแล้วก็ไม่ฟัง
    แต่นักการเมืองจากรัฐบาลในขณะนั้นก็ออกมาโต้แย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ การระบายน้ำของกรมชลประทานมีคณะกรรมการดูแลเป็นการระบายน้ำตามหลักการ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเปรียบเทียบด้วย 
    เรื่องนี้รัฐบาล คสช. ควรทำให้ชัดเจน โดยสั่งให้กรมชลประทานนำข้อมูลการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำทั้งปี ๒๕๕๕, ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๗ มาตีแผ่ให้ประชาชนทราบโดยผ่านทีวีพูลของรัฐบาลก็ได้ โดยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่มีในเขื่อนแต่ละปีของทุกเขื่อน ระบุให้ชัดว่า ในแต่ละปีระบายน้ำออกไปเท่าไร มีน้ำใหม่จากฝนที่ตกเข้าเขื่อนเท่าไร และเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วมีน้ำเหลือในเขื่อนเท่าไร? เพื่อให้ความจริงเป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่มา กล่าวหากันเหมือนที่เป็นอยู่นี้
    อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำต้นทุนในเขื่อนเหลือน้อยมากและฤดูต่อมาฝนก็ตกน้อย น้ำในเขื่อนจึงไม่พอใช้ แต่ชาวนาก็มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในการทำนา ฤดูแล้งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ขอร้องให้ชาวนางดการทำนาปรังเพราะน้ำในเขื่อนมีน้อย แต่ชาวนาอ้างว่า ไม่ให้ทำนาแล้วจะเอาอะไรกิน ก็ต้องเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า เมื่อชาวนาไม่ยอมฟังกรมชลประทาน และเสี่ยงทำนาปรังเหมือนเดิม กรมชลประทานก็ไม่กล้าปล่อยให้ข้าวชาวนาตาย จึงต้องระบายน้ำให้ชาวนาทำนาปรังอีก ๔,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. ทำให้เขื่อนเกิดวิกฤติยิ่งขึ้น เหลือน้ำติดก้นเขื่อนขณะนี้เพียงเล็กน้อย เรียกว่าน้ำต้นทุนของเขื่อนแทบไม่เหลือ และต้องใช้เวลาอีกนานในการสะสมน้ำต้นทุนให้อยู่ในระดับปกติ
    การที่น้ำเกือบหมดเขื่อนไม่ได้ทำให้ชาวนาขาดแคลนน้ำทำนาเท่านั้น แต่ยังทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหมายถึงประชาชนต้องใช้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
    ปัญหาภัยแล้งขณะนี้คือ ทำอย่างไรชาวนาจึงจะทำตามคำแนะนำของรัฐบาลโดยยอมเลื่อนการทำนาออกไปอีกสองเดือน ตอนนี้ทราบว่า อาจต้องเลื่อนไปถึงเดือนสิงหาคม ถ้าชาวนาไม่ยอมปฏิบัติตามเหมือนฤดูนาปรังที่ผ่านมา รัฐบาลจะทำอย่างไร?
    ถ้าจะให้ชาวนาเลื่อนการทำนาให้ได้ผลรัฐบาลคงต้องมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมเป็นแม่งานใหญ่ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ออกพบปะชาวนาและแจ้งให้ชาวนาเข้าใจอย่างชัดเจน ถึงความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการทำนาและถ้าใครไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ใหญ่บ้านลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า จะเสี่ยงภัยทำเอง 
    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีนโยบายให้ชัดเจนว่า ถ้าตลอดฤดู ชาวนาไม่สามารถทำนาได้รัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร เช่น ใช้นโยบายเดียวกับการประกันรายได้โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนที่ควรเป็นกำไรทดแทนให้ชาวนา ถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนก็เชื่อว่า มาตรการนี้จะได้ผล และถ้าการทำนาได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากปริมาณข้าวที่ผลิตได้ฤดูหน้าก็จะน้อยลง ราคาข้าวคงดีขึ้นไม่เป็นภาระให้รัฐบาลต้องเข้าไปรับภาระ รัฐบาลก็จะรับภาระเฉพาะในส่วนที่ต้องเยียวยาชาวนาที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้เท่านั้น 
    ความจริงอาชีพการทำนารัฐบาลทุกประเทศต้องอุดหนุนทั้งสิ้น เพราะราคาตลาดโลกส่วนใหญ่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวนาทั้งสิ้น
    ครับ...ลองไปคิดดู อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาได้บ้าง การประกาศขอร้องชาวนาให้เลื่อนการทำนาออกไปโดยไม่มีมาตรการใดๆ กำกับเหมือนที่เคยทำมา คงไม่ได้ผล!!!!

...สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘
ที่มา : FB//:Prof.SombatThamrongthanyawong

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๐ วันพุธที่  ๑ - วันอาทิตย์ที่  ๕  เดือนกรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๘

 


727 1355