25thApril

25thApril

25thApril

 

July 07,2015

โคราชดันเมกะโปรเจ็กต์ พัฒนาแหล่งน้ำ ๗,๐๐๐ ล.

    ระดมแผน Mega Project แก้ปัญหาน้ำระยะยาว กางแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ ๓ ลุ่มน้ำใหญ่ รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคมรองรับความเจริญในอนาคต ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ชี้โคราชเติบโตเร็ว หากไม่วางแผนรับมือเกิดวิกฤติแน่

  นายธงชัย ลืออดุลย์ 

    เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๔ สำนักชลประทานที่ ๘ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ระยะที่ ๒ เพื่อรองรับความเจริญในอนาคต ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ พร้อมด้วย นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประภาส รักษาทรัพย์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา และนายณรงค์ รักร้อย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือ เตรียมแผนโครงการขนาดใหญ่ Mega Project ระยะที่ ๒ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับโครงการบริหารน้ำแบบบูรณาการ ๓ ลุ่มน้ำใหญ่ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี-ละหานลูกนก, ลุ่มน้ำลำตะคอง, ลุ่มน้ำมูลบน-ลำแชะ รวมทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ บริหารการจัดการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาขยายเขตประปาและก่อสร้างโรงกรองน้ำห้วยแถลง-หินดาด, รวมทั้งปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปักธงชัย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคม
    นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเตรียมแผนรองรับเติบโตดังกล่าวต้องทำไปพร้อมกัน โดยเฉพาะเรื่องน้ำต้องวางแผนให้รองรับกับการเติบโตของเมือง เนื่องจากปัจจุบันแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอเกิดปัญหาภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง และปัญหาทางด้านคมนาคมก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมประสิทธิภาพ ให้ผู้ใช้ถนนสามารถใช้ความเร็วได้อย่างเหมาะสมคล่องตัวและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้ ฉะนั้น หน่วยงานต่างๆ จะต้องนำแผนงานที่มีอยู่มาพูดคุยเพื่อเดินหน้าไปพร้อมกัน 


ชป.๘ จัดการลุ่มน้ำ
    ในที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ โดยสำนักงานชลประทานที่ ๘ ได้เสนอโครงการ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-ละหานลูกนก โดยมีโครงการแก้มลิงบึงละหานลูกนกพร้อมอาคารประกอบ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๖๒๓ ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ ๒ ปี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำห้วยน้ำเค็ม และการก่อสร้างฝายทดน้ำในแม่น้ำชี เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกร นาปี ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ นาปรัง ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ ส่งเสริมอาชีพประมง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เป็นอาหาร และส่งจำหน่ายในท้องตลาด ส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี และเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของราษฎร ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ตำบลบ้านเลื่อม จำนวน ๗๖๓ ครัวเรือน ประชากร ๒,๓๔๙ คน รวมทั้งพื้นที่บริเวณใกล้เคียง 
    ส่วนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำตะคอง มีโครงการบรรเทาภัยน้ำท่วมและภัยแล้งเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ใช้งบประมาณ ๑,๑๒๖ ล้านบาท มีระยะดำเนินงาน ๓ ปี โดยมี ๔ กลุ่มโครงงาน ได้แก่ กลุ่มโครงการระบบผันน้ำออกนอกตัวเมืองนครราชสีมา, กลุ่มงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำลำตะคองและลำบริบูรณ์, กลุ่มคลองระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ลำห้วยธรรมชาติ และกลุ่มงานซ่อมแซม ซึ่งโครงการนี้จะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำ อีกทั้งยังช่วยประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและช่วยระบบนิเวศน์ พื้นที่เศรษฐกิจเมืองนครราชสีมาที่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมจะลดลง รวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่ ๕ อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ อำเภอเมืองและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม ๕๘ ตำบล ๖๔๖ หมู่บ้าน ๑๗๗,๐๐๐ ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรมได้กว่า ๒,๐๓๐,๐๐๐ ไร่ 
    สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำมูลบน-ลำแชะ จะเป็นโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำลุ่มน้ำลำแชะ ใช้งบประมาณ ๔๙๐ ล้านบาท ระยะดำเนินงาน ๒ ปี จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ และมีเวลาน้ำท่วมขังน้อยลง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเสริมระบบกระจายน้ำของโครงการฯ ๓๐,๐๐๐ ไร่ ช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ในพื้นที่อำเภอครบุรี จำนวน ๖ ตำบล ๒๕ หมู่บ้าน และช่วยเหลืออำเภอโชคชัย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมือง ในขณะที่โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำลำมูลบน ใช้งบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท ระยะดำเนินงาน ๒ ปี สามารถช่วยจัดการน้ำในลำมูล เป็นการประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ช่วยเหลือพื้นที่อำเภอครบุรี อำเภอโชคชัย อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ ๑๕,๐๐ ครัวเรือน ประชากรประมาณ ๗๕,๐๐๐ คน 


ทน.แก้ไขน้ำกิน-น้ำใช้
    ขณะที่ทางเทศบาลต่างๆ มีการเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต อีก ๑๐ ปีข้างหน้า โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ได้เสนอการบริหารจัดการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งเป็นโครงการศึกษาความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และการสำรวจออกแบบรายละเอียดการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในการอุปโภคบริโภค ใช้งบประมาณกว่า ๑๖ ล้านบาท พื้นที่โครงการ ๕,๓๙๐ ไร่ จัดทำโครงการพัฒนาแก้มลิงกุดปลาทอง ใช้งบประมาณ ๑,๐๙๐ ล้านบาท พื้นที่โครงการ ๑,๕๐๐ ไร่ และโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในการอุปโภคบริโภคของพื้นที่เมืองและส่วนขยายเมืองบริเวณบ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่งบประมาณกว่า ๒,๖๘๐ ล้านบาท เนื้อที่รวม ๔,๐๙๐ ไร่      
    สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพิมาย ได้เสนอโครงการแผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพิมาย (ห้วยแถลง-หินดาด) งบประมาณกว่า ๒๒๒ ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาปักธงชัย เสนอโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่งวนภูมิภาค สาขาปักธงชัย อำเภอปักธงชัย-เมือง-วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ วงเงินกว่า ๗๗๖ ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 

 

เมกะโปรเจ็กต์เพิ่มเติม
    อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่ Mega Project ระยะที่ ๒ จะมีการเพิ่มเติม ๒๔ โครงการ ดังนี้ ๑.โครงการแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ Service Plan จังหวัดนครราชสีมา ๘๓๒,๙๒๑,๘๙๕ ล้านบาท หน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับผิดชอบ, ๒.โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำชุมชนสวนผัก ที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ นม. ๑๙๙๐ งบประมาณ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท หน่วยงานอำเภอโนนสูงเป็นผู้รับผิดชอบ, ๓.โครงการสวนสาธารณะแก้มลิง ๔,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท หน่วยงานอำเภอจักราชเป็นผู้รับผิดชอบ, ๔.โครงการขุดลอกหนองบัว(หนองบัวขี้เหนือ) หมู่ที่ ๑ ตำบลบึงสำโรง อำเภอแก้งสนามนาง ๒๕,๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๕.โครงการปรับพื้นที่แก้มลิงหนองน้ำขุ่น หมู่ ๘, ๙ ตำบลสีสุก อำเภอแก้งสนามนาง ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๖.โครงการขุดลอกบึงพะไล หมู่ ๑ ตำบลพะไล อำเภอแก้งสนามนาง ๕๑,๐๘๑,๐๐๐ ล้านบาท, ๗.โครงการขุดลอกหนองสรวง บ้านหินลาด หมู่ ๖ ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง ๕๐,๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๘.โครงการขุดลอกหนองกก-หนองใน หมู่ ๔ ตำบลโนนสำราญ อำเภอแกล้งสนามนาง ๕๔,๔๕๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๙.โครงการขุดลอกอ่างห้วยยางพะไล บ้านห้วยยาง หมู่ ๗ ตำบลบึงพะไล อำเภอแก้งสนามนาง ๓๒๑,๙๖๗,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๐.โครงการขุดลอกบึงละหานนาบ้านกอก หมู่ ๙ ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง ๖๓,๓๑๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๑.โครงการขยายแนวท่อส่งน้ำสถานีสูบน้ำที่ ๑ (กรมชลประทาน) สู่พื้นที่การเกษตร ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๒.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ ๒๘,๒๓๖,๐๐๐ ล้านบาท อำเภอเมืองนครราชสีมา, ๑๓.โครงการแหล่งท่องเที่ยวบึงพระ ตำบลท่าลาดขาว อำเภอโชคชัย ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๔.โครงการก่อสร้างถนนสี่เลนเขตเทศบาลตำบลโนนไทย ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ๑๕.โครงการขุดอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบอน ตำบลพะงาด อำเภอขามสะแกแสง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท


    ๑๖.โครงการก่อสร้างศูนย์กีฬาเทศบาลตำบลเสิงสาง ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๗.โครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาและขยายท่อเมนประปา เทศบาลเมืองบัวใหญ่ ๙๑,๐๕๕,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๘.โครงการก่อสร้างถนนลาดยางบ้านสำโรงเหนือ หมู่๑๑-บ้านสำพะเนียง อำเภอโนนแดง ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๑๙.โครงการขุดสระหนองโพธิ์บ้านแก หมู่ ๓ ตำบลวังหิน อำเภอแดง ๔,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๒๐.โครงการขุดลอกหนองตะเข่ หมู่ ๑๓ ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง ๙,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๒๑.โครงการก่อสร้างประปาบ้านเตย หมู่ ๘ ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง ๓,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท, ๒๒.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านดอนยาวน้อย หมู่ ๖ ตำบลวังหิน-ตำบลโพนทอง อำเภอสีดา ๙,๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ๒๓.โครงการลาดยางบ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ ๔ – บ้านหนองบัว หมู่ ๒ (โนนหญ้างาม) ๙,๙๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และ ๒๔.โครงการปรับปรุงระบบประปาเทศบาลตำบลโนนแดง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมงบประมาณเพิ่มเติมโครงการขนาดใหญ่ Mega Project ระยะที่ ๒ ทั้งสิ้น ๑,๘๔๓,๙๕๐,๘๙๕ ล้านบาท
สทล.๑๐ แก้ไขการจราจร
    และสุดท้ายเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิด้านคมนาคม เป็นการแก้ไขปัญหาจุดกลับรถบนถนนมิตรภาพทางหลวงหมายเลข ๒ ทางหลวงสายหลักเชื่อมต่อกรุงเทพฯ-โคราช โดยสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ (นครราชสีมา) ได้เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของการจราจรบนทางหลวงสายหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางบนทางสายหลัก, ปัญหาการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชน, ปัญหาจุดกลับรถที่เกาะกลาง, ปัญหาจุดตัดแยก, ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือความล่าช้า เช่นปัญหาทางโค้งราบทางแยกบนทางโค้งการขยายบนไหล่ทาง ป้ายสัญญาณต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะมีทั้งหมด ๑๒ โครงการ รวมเป็นวงเงินทั้งหมด ๑,๕๐๐ ล้านบาท 
    นายธงชัย ลืออดุลย์ กล่าวย้ำในท้ายสุดว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงเริ่มต้นหารือโครงการขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต้องมีการหารือกันอีก ๔-๕ ครั้ง ถึงจะตกผลึกและสรุปเป็นเมกะโปรเจ็กต์โดยรวมของจังหวัดที่จะทำร่วมกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า หากไม่มีการวางแผนที่ดีโคราชจะเจอปัญหาวิกฤติน้ำและปัญหาในการเดินทางในอนาคต เพราะความเจริญเติบโตของเมือง


702 1344