24thApril

24thApril

24thApril

 

July 16,2015

เพาะ‘ถั่งเฉ้าสีทอง’ สร้างรายได้งาม

    เจ้าของร้านธุรกิจผ้าไหมในจังหวัดสุรินทร์สุดยอด นำดักแด้ไหมไปเพาะเลี้ยงกลายเป็น ‘ถั่งเฉ้าสายพันธุ์สีทอง’ สร้างรายได้ให้งดงาม ใช้เวลา ๕ เดือนได้ผลผลิตสด ๕๐๐ กก. พร้อมขายเป็นถั่งเฉ้าแห้งกิโลกรัมละ ๖๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท โรงงานยานำไปสกัดเป็นแคปซูล-พร้อมดื่ม

    ตามที่มีการจัดงาน “วันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๘” ระหว่างวันที่ ๓-๑๒ กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตร การเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรและเทคโนโลยี และเพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของอาชีพเกษตรในฐานะผู้ผลิตอาหารและเป็นครัวของโลก มีการออกบูธของแต่ละหน่วยงาน มีผู้ให้ความสนใจเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการออกบูธของร้านเรือนไหม-ใบหม่อน ที่นำสินค้าที่ทางร้านผลิตขึ้นออกมาจำหน่าย ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมมากที่สุด คือ “ถั่งเฉ้าสายพันธุ์สีทอง” ที่เพาะเลี้ยงจากตัวดักแด้ไหม ซึ่งเพาะเลี้ยงเองในห้องปลอดเชื้อและควบคุมอุณหภูมิ ใช้ดักแด้ไหมเป็นโปรตีนเสริม มีระยะเวลาในการเลี้ยงอยู่ที่ ๕ เดือน ก่อนส่งขายในรูปแบบถั่งเฉ้าแห้ง ปัจจุบันราคาขายส่งอยู่ที่ ๖๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของถั่งเฉ้าพร้อมดื่ม และกำลังพัฒนาไปสู่การเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าจากดักแด้ไหม โดยใช้ดักแด้ไหม ๑๐๐% ในการเพาะเลี้ยง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ซึ่งร้านเรือนไหม-ใบหม่อน นับว่าเป็นเจ้าแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เพาะถั่งเฉ้าสายพันธุ์สีทองสำเร็จ นอกจากเพาะผลิตถั่งเฉ้าสีทองแล้ว ร้านเรือนไหม-ใบหม่อนยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากใบหม่อน ดักแด้ไหมต่างๆ เช่น หม่อนสกัด ๑๐๐% ดักแด้กระป๋องปรุงรส และสบู่โปรตีนไหม เพื่อจำหน่ายอีกด้วย


    นายศิวณัฎฐ์ ภูพิเศษศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร หจก.เรือนไหม-ใบหมอน กล่าวว่า ถั่งเฉ้าเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง ดั้งเดิมมาจากธิเบต เป็นเชื้อราที่เข้าไปเพาะตัวอยู่ในตัวหนอน ซึ่งเป็นคำในภาษาจีนแปลว่าหญ้าหนอน คือฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า ถั่งเฉ้ามีสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอยู่ ๔ สายพันธุ์ ได้แก่ ถั่งเฉ้าธิเบต ถั่งเฉ้าหิมะ ถั่งเฉ้าสีทอง และถั่งเฉ้าว่านจักจั่น  ซึ่งถั่งเฉ้าที่เราเพาะเลี้ยงเองนี้เป็นถั่งเฉ้าสีทอง โดยเพาะเลี้ยงในห้องปลอดเชื้อและควบคุมอุณหภูมิ ใช้ดักแด้ไหมเป็นโปรตีนเสริม มีระยะเวลาในการเลี้ยง ๕ เดือน ก่อนส่งขายในรูปแบบถั่งเฉ้าแห้ง ปัจจุบันราคาขายส่งอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในรูปแบบของถั่งเฉ้าพร้อมดื่ม ในอนาคตจะทำเป็นรูปแบบเม็ดจำหน่ายด้วย ขณะนี้เรากำลังพัฒนาไปสู่การเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้ามาจากดักแด้ไหม โดยใช้ดักแด้ไหม ๑๐๐% ในการเพาะเลี้ยง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ส่วนข้อแตกต่างระหว่างถั่งเฉ้าธิเบตและถั่งเฉ้าสีทองคือ ถั่งเฉ้าธิเบต เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในหนึ่งฤดูจะเก็บได้เพียงครั้งเดียวและมีปริมาณไม่มาก จึงทำให้ราคาแพง สนนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑,๕๐๐,๐๐๐-๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนคุณสมบัติและสรรพคุณนั้นจะใกล้เคียงกัน แต่ถั่งเฉ้าสีทองราคาจะถูกกว่า ในประเทศไทยที่ทำอยู่ เท่าที่ทราบจะมีที่กรุงเทพฯ สิงห์บุรี และเชียงใหม่ สำหรับจังหวัดสุรินทร์นั้นร้านเราเป็นเจ้าแรกของจังหวัด และในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 นายศิวณัฎฐ์ ภูพิเศษศักดิ์ 


    นายอาทร แสงโสมวงศ์ ผู้จัดการ หจก.เรือนไหม-ใบหมอน กล่าวว่า สำหรับโรงงานตั้งอยู่ที่หมู่ ๘ บ้านกะทม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เส้นทางที่จะขึ้นเขาสวาย ตอนนี้มีห้องเพาะถั่งเฉ้า ๑ ห้อง เป็นห้องปรับอากาศ ขนาด ๒.๕x๒.๕ เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างไม่เกิน ๕ หมื่นบาท ขณะนี้ได้ผลผลิตเป็นถั่งเฉ้าสด ๑๐๐ กิโลกรัมต่อ ๕ เดือน เมื่อนำมาทำเป็นถั่งเฉ้าแห้งจะเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ในขณะนี้เป็นการขายส่งในกิโลกรัมละ ๖ หมื่นบาท ส่วนมากจะขายให้กับโรงงานที่ผลิตเกี่ยวกับยาแถวกรุงเทพฯ ซึ่งนำไปผลิตเป็นถั่งเฉ้าบรรจุแคปซูลจำหน่ายอยู่ เขาจะมารับซื้อทั้งหมดคือเราผลิตได้เท่าไหร่เขาก็จะรับซื้อทั้งหมด ส่วนกระบวนการที่ว่ายากในการเพาะถั่งเฉ้า น่าจะอยู่ในเรื่องของการเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะปลูก และลักษณะนิสัยของถั่งเฉ้าตัวนี้ ซึ่งเขาจะต้องอยู่ในห้องปรับอากาศตลอดเวลา เราจะต้องคอยดูแลรักษาอุณหภูมิให้ตลอดเวลา

  นายอาทร แสงโสมวงศ์


    ถั่งเฉ้าสีทองมีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สารคอร์ไดซิปิน (Cordycepin) หรือคอร์ไดซิปิค แอซิด (Cordycepic acid) เช่นเดียวกับถั่งเฉ้าจากธิเบต ซึ่งช่วยดึงเอาออกซิเจนมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายมีอาการเหนื่อยล้า หรือต้องขึ้นที่สูง จะช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย ทำให้เวลล์ในร่างกายรับออกซิเจนได้สูงขึ้น ซึ่งในถั่งเฉ้าสีทองยังพบสารโพลิแซกคาไรด์ (Polysaccharide) หรือ เบต้ากลูแคน (Beta glucan) โดยปกติพืชทั่วไป มักจะพบเบต้ากลูแคน ๑๔ แต่ว่าในถั่งเฉ้าสีทองจะพบเบต้ากลูแคน ๑๓ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของมนุษย์ สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากขึ้น โดยการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมา ทั้งนี้ถั่งเฉ้ายังช่วยบำรุงตับบำรุงไต ให้ตับและไตสามารถทำงานได้อย่างสมดุลกัน สำหรับคนทั่วไปจะเรียกเห็ดตัวนี้ว่ายาโด๊ป

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๓ วันพฤหัสบดีที ๑๖- วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


697 1342