19thApril

19thApril

19thApril

 

July 16,2015

ข้อพึงตัดสินใจ ก่อน สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    อยู่ๆ ก็โพล่งออกมาอย่าง “ไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย”
    ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า ทราบว่าขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีการประเมินกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ทั้งนี้ หากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็ต้องยึดกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้

    ๑) น่าคิดว่า ถ้าการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ฉบับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ขณะนี้ หมายความว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่เสร็จภายใน ๒๓ ก.ค. และสภาปฏิรูปแห่งชาติก็จะต้องโหวตลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายในวันที่ ๖ ส.ค. ๒๕๕๘
    ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่บนเงื่อนไขว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วนั้น ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในอันที่จะให้มีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะโดยที่ยังไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ ดร.วิษณุกล่าว หรือโปรดเกล้าฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ จะด้วยเหตุประการใดๆ ก็ตาม
    ผลที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ สปช. จะต้องลงมติเร็วขึ้นเป็นเวลา ๑ เดือน
    ส่วนผลการลงมติของ สปช. ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ต้องกลับไปอยู่ในเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ ถ้าเห็นชอบ ก็อยู่ต่อ เพื่อทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือถ้าไม่เห็นชอบ ก็สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ตายตกตามกันไปกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

    ๒) ดร.วิษณุ เครืองาม ยังได้ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “...กมธ.ยกร่างฯ ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา ในวันที่ ๒๓ ก.ค.นี้ และทาง สปช.ต้องลงมติหลังจากนั้นภายใน  ๑๕ วัน คือ วันที่ ๖ ส.ค. แต่ถึงอย่างไรก็ไม่กระทบกับการทำประชามติ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไหร่ ขั้นตอนการทำประชามติก็จะนับหนึ่งทันที และจะส่งผลให้ สปช. ต้องหมดวาระลงไปด้วย “รัฐบาลคือผู้ที่ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เราแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ เพื่อให้ทำประชามติ แต่คนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ขึ้นทูลเกล้าฯ คือประธาน สปช. ถ้า สปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไปแล้ว ขณะที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงมา ก็อาจพิจารณาจะชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพราะถ้าทูลเกล้าฯ ไปแล้ว จะทำประชามติไม่ได้อีก” 
    ความเห็นของ ดร.วิษณุข้างต้น น่าคิดระหว่างบรรทัด
    น่าคิดว่า หากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลใช้บังคับหลังจากที่ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ในวันที่ ๖ ส.ค. ไปเรียบร้อยแล้ว หาก สปช.ลงมติเห็นชอบ ถ้ารัฐบาลนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงในราชกิจจานุเบกษา สปช.ก็เป็นอันสิ้นสุดการทำหน้าที่ (ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และจะมีการลงประชามติต่อไป
    และในขั้นนี้ ถ้ายังไม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ก็เท่ากับว่าไม่มีการทำประชามติ หาก สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประธาน สปช.ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ก็น่าจะมีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเลย
    แต่ถ้าเป็นไปดั่งที่รองนายกฯพูด คือ จะขอให้ ประธาน สปช. ดร.เทียนฉาย กีระนันท์ ชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะทำได้จริงหรือไม่? ประธาน สปช. มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำการชะลอการทูลเกล้าฯ ได้จริงหรือ? และควรจะต้องชะลอการทูลเกล้าฯ ตามที่รองนายกฯ พูดหรือไม่? เพราะโดยปกติ ก็รอแค่ขั้นตอนธุรการ การจงใจชะลอด้วยเหตุผลทางการเมืองอื่นใด จะเป็นเรื่องที่ทำได้ และสมควรทำ หรือไม่?
    น่าคิดว่า แนวทางข้างต้นนี้ จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลชั่งใจว่า จะทำประชามติหรือไม่? ภายหลังเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญ และการตัดสินใจฝ่ายต่างๆ แล้ว หรือเปล่า? 
    ถ้าจะทำประชามติ ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 
    ถ้าจะไม่ทำประชามติ ก็ยังไม่ประกาศ?

    ๓) ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ หากต้องการจะทำประชามติ ก็ไม่ยาก 
    เพียงให้ร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ระบุไว้ด้วยว่า ให้มีการทำประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ ก่อนที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไปบังคับใช้ ก็สามารถกระทำได้ 

    ๔) ในอีกทางหนึ่ง 
    ถ้า สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ ๖ ส.ค. ๒๕๕๘ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับเดิมที่ใช้บังคับอยู่ในวันนี้ และเกิด สปช.มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อยู่ที่กระบวนการว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาใหม่  ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในขณะนี้  
    หรือหากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง ก็ไปตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนไม่เกิน ๒๐ คน และสภาขับเคลื่อนปฏิรูป
    ทางสั้น ทางยาว
    ทางโค้ง ทางตรง
    จะเลือกทางไหน รอเวลาชั่งใจ หรือไม่?

    ๕) การลงมติของ สปช.
  

    ในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สปช. ไม่ว่าจะในวันที่ ๖ ส.ค. หรือ ๖ ก.ย. ไม่ว่าจะภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ใช้อยู่ขณะนี้ หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วก็ตาม การลงมติสำคัญนั้น มีแนวทาง ๓ ทาง
    (๑) ลงมติตามข้อบังคับของ สปช.ที่กำหนดไว้ โดยวิธีการลงคะแนนเปิดเผย ลงมติเป็นรายคน เรียงตามลำดับชื่อตามตัวอักษร สปช.แต่ละคนจะยืนขึ้นเมื่อถูกขานชื่อ ตั้งแต่ ก.-ฮ. จากนั้น ก็แสดงความเห็นว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไล่ไปทีละคน ตามลำดับตัวอักษร จนครบทุกคน
    การลงมติด้วยวิธีนี้ มีข้อดี คือ เป็นการเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่า ใครโหวตอย่างไร เห็นกันจะๆ สปช.แต่ละคนต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง
    แต่ข้อเสีย คือ จะเกิดความเกรงใจ หรืออาจเกรงกลัวผู้มีอำนาจ คนรู้จัก ผู้มีพระคุณ ที่อยากจะให้โหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ความเป็นตัวเองอาจจะลดน้อยลง เกรงใจผู้มีอำนาจ เกรงกลัวผู้มีอิทธิพลและเป็นญาติผุ้ใหญ่ ผู้สนับสนุนหรือมิตรมาขอร้อง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
    ยิ่งกว่านั้น วิธีการทยอยลงคะแนนเรียงตามลำดับชื่อตัวอักษรเช่นนี้ จะทำให้ผู้ที่มีรายชื่อท้ายๆ มีความได้เปรียบสูงสุด เพราะได้นับจำนวนคะแนนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยก่อน เมื่อคำนวณแล้ว กว่าจะถึงลำดับของตนเอง ผลคะแนนก็อาจจะปรากฏชัดว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบหรือไม่ คนที่ลงมติท้ายๆ ก็อาจจะตัดสินใจเอาตัวรอด โดยโหวตเพื่อเอาใจ หรือให้ตนได้มีประโยชนสูงสุด โดยแทบไม่ต้องรับผิดชอบต่อการลงคะแนนของตนเอง เพราะผลออกมาก่อนหน้าแล้ว 
    (๒) ลงมติโดยพร้อมเพรียงกันทั้งสภา ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ปกติในสภา เหมือนการโหวตกฎหมายทั่วไป สปช.แต่ละคนกดปุ่มที่อยู่ตรงหน้า ตัดสินใจลงมติในคราวเดียวกัน หลังจากนั้น คะแนนก็จะปรากฏ และสามารถเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบภายหลังว่า สปช.ท่านใดลงมติอย่างไร 
    ข้อดี คือ ทำให้นับผลคะแนนได้รวดเร็ว และมีความเป็นธรรมในการลงมติ สปช.แต่ละคนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อตนเอง มีความเป็นอิสระ แม้อาจจะยังมีการเกรงใจ-เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล ญาติมิตร แต่ละลดปัญหาเรื่องการกะเก็งหรือดูทิศทางลมก่อนลงมติ
    (๓) ลงมติโดยลับ ให้ สปช.แต่ละคนนำบัตรไปหย่อนบนกล่อง แล้วนำมานับคะแนนรวมกัน 
    ข้อดี คือ จะได้คะแนนสะท้อนความจริงความคิดเห็นของแต่ละคนมากที่สุด เพราะจะไม่มีใครรู้ว่าคนไหนลงมติอย่างไร ไม่ต้องเกรงใจหรือเกรงกลัวผู้มีอิทธิพลอำนาจจะตามเช็คบิล หรือตอบแทนรางวัล เพราะคนที่มีอำนาจ อยู่ในระบบอุปถัมภ์ ที่หวังจะตอบแทนบุญคุณ ก็จะตัดปัญหาไปได้ ไม่ต้องตอบแทน บังคับก็ไม่ได้ สปช.จะลงมติเพื่อเอาใจส่วนตัวก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าลงมติอะไร ไม่มีใครรู้ 
    ข้อเสีย คือ ประชาชนก็ไม่รู้ด้วยเช่นกัน
    สำหรับประเด็นวิธีการลงมติของ สปช. ผมชอบแนวที่ (๒)  และ (๓) มากกว่าทางที่ (๑) 
    เพียงแต่ว่า แนวทางที่ ๒ และ ๓ จะต้องแก้ไขข้อบังคับ หรือยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งอาจจะต้องกำหนดตกลงกติกากันก่อนวันลงมติ หรือในวันลงมติ
    เชื่อว่า สปช.คงจะต้องมีการอภิปรายหาแนวทางวิธีการที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมต่อไป
……

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

 

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๓ วันพฤหัสบดีที ๑๖- วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


697 1343