24thApril

24thApril

24thApril

 

July 16,2015

“ระบบการเมืองของเยอรมนี”

    เยอรมนีเป็นสหพันธรัฐประกอบด้วย ๑๖ มลรัฐ อยู่ในเยอรมนีตะวันออก ๕ มลรัฐ และอีก ๑๑ มลรัฐอยู่ในเยอรมนีตะวันตก มีประชากร ๘๐.๕ ล้านคน อยู่ฝั่งตะวันออก ๒๐ ล้านคน และอยู่ในฝั่งตะวันตก ๖๐.๕ ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับสี่หมื่นสองพันเหรียญ มีพื้นที่ประมาน ๓.๕๗ แสนตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทย (ไทยมีพื้นที่ ๕.๑๓ แสน) แต่มีประชากรมากกว่า ปัจจุบันมีการส่งออกอันดับสามรองจากจีนและสหรัฐอเมริกา เยอรมนีเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แต่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในยุโรป


    ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนีปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีรัฐบาลสหพันธรัฐ รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น
    เยอรมนีมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของสภาบุนเดสตาก (สภาผู้แทนฯ) และตัวแทนจากมลรัฐในจำนวนเท่ากัน มีวาระ ๕ ปี
    รัฐสภาประกอบด้วยสภาบุนเดสตาก (สภาผู้แทนราษฎร) และสภาบุนเดสราต (สภาตัวแทนมลรัฐ) สภาบุนเดสตากมีสมาชิก ๕๙๘ คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional) ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่เยอรมันคิดขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมประกอบด้วยการเลือกตั้งส.ส. เขตโดยตรงครึ่งหนึ่งคือ ๒๙๙ คน และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกพรรคอีกครึ่งหนึ่งคือ ๒๙๙ คน การเลือกตั้งระบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่ง ตั้งแต่ใช้ระบบนี้มา เคยมีครั้งเดียวที่พรรค CDU ได้เสียงเกินครึ่งเล็กน้อย นอกนั้นต้องจ้ดตั้งรัฐบาลผสมทั้งสิ้น รัฐบาลผสมที่เคยจัดตั้งเคยมีพรรคใหญ่สองพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม ๒ ครั้ง (Grand Coalition Government) และรัฐบาลผสมกับพรรคเล็กๆ ๑๓ ครั้ง ปัจจุบันสภาบุนเดสตากมีสมาชิก ๖๓๑ คน ที่มีมากกว่า ๕๙๘ คนเป็นเพราะการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมจะทำให้มีผู้ได้รัเลือกตั้งเกินจำนวนอันเนื่องมาจากการคิดส่วนเพิ่มจากหลักโอเวอร์แฮง แมนเดต และเอาสไลซ์ แมนเดต ซึ่งการคิดส่วนนี้ยุ่งยากพอสมควร สภาบุนเดสตากมีวาระ ๔ ปี
    ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมกำหนดให้คะแนนการเลือกพรรคเป็นคะแนนที่กำหนดจำนวนยอดส.ส.ทั้งหมดของแต่ละพรรค ส่วนส.ส.เขตของแต่ละพรรคได้เท่าไหร่ให้นำมาหักออกจากจำนวนส.ส.ที่คำนวณได้ทั้งหมดจากคะแนนของพรรค เช่น สภาบุนเดสตาก มีส.ส. ๕๙๘ คน ถ้าพรรค A ได้คะแนนพรรค ๑๐% จะได้ส.ส.ทั้งหมด ๕๙.๘ คน ถ้าพรรค A ได้ส.ส.เขต ๒๐ คนจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ =๕๙.๘-๒๐=๓๙.๘ คน แต่ถ้าพรรค A ได้ส.ส.เขต ๖๕ คนซึ่งมากกว่าจำนวนส.ส.ทั้งหมดที่จะได้จากการคำนวณของคะแนนพรรคคือ ๕๙.๘ คน กรณีนี้ให้ถือจำนวนส.ส.เขตที่มากกว่าเป็นหลักจะทำให้พรรค A ได้ส.ส.ทั้งหมด ๖๕ คนไม่ใช่ ๕๙.๘ คน กรณีเรียกว่าโอเวอร์แฮง แมนเดต เมื่อมีโอเวอร์แฮงแมนเดต ทำให้ต้องคำนวณเอาสไลซ์ แมนเดต หรือจำนวนชดเชยเพื่อให้ผลการเลือกตั้งมีความยุติธรรมกับทุกพรรค ส่วนนี้ที่นับว่าการคิดคำนวณสลับซับซ้อนมากที่สุด คนเยอรมันเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ
    การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมีข้อดีคือ จะได้ผู้แทนครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงมีความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง ส่วนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกพรรคจะสะท้อนความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองโดยตรงและพรรคมีโอกาสที่จะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นนักบริหารมืออาชีพแต่ไม่มีทักษะในการเลือกตั้งในพื้นที่พรรคก็สามารถจัดให้อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อได้ ทำให้บุคลากรของพรรคมีสมรรถนะครอบคลุมทุกด้านที่จำเป็นสำหรับการบริหารประเทศ แต่จุดอ่อนก็คือส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เชื่อมโยงกับประชาชนและประชาชนไม่มีส่วนในการคัดเลือกว่าจะเลือกใคร อำนาจการคัดเลือกเป็นของหัวหน้าพรรคหรือกรรมการพรรคเท่านั้น
    สำหรับคณะรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภาบุนเดสตาก โดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดี ถ้าเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจยุบสภาโดยตรง ยกเว้นกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอมติความไว้วางใจจากสภาแล้วไม่ได้รับความไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีจึงจะมีอำนาจยุบสภา นอกจากนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอให้สภามีมติไว้วางใจเท่านั้น
    ดังนั้น ระบบการถ่วงดุลอำนาจของระบบรัฐสภาของเยอรมันจึงแตกต่างกับระบบรัฐสภาของอังกฤษ การถ่วงดุลด้วยการยุบสภาและการอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาของเยอรมันใช้ประโยชน์น้อยมาก แทบจะไม่มีผลต่อกระบวนการทางการเมืองของเยอรมันเลย แสดงให้เห็นว่าระบบรัฐสภาที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษเมื่อถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ มีการปรับตัวที่อาจแตกต่างไปจากของเดิมมาก โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งของเยอรมันก็แตกต่างจากของอังกฤษมาก
    สำหรับระบบพรรคการเมืองของเยอรมนีนั้น ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งมด ๓๕ พรรค แต่มีพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเพียง ๔ พรรค โดยมีพรรคใหญ่สองพรรคคือพรรค CDU/CSU และพรรค SPD ที่ได้คะแนนเสียงประมาณ ๘๐% และพรรคใหญ่สองพรรคนี้ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมที่เรียกว่า Grand Coalition Government ทำให้พรรคขนาดเล็กมีบทบาทน้อยมาก
    พรรคการเมืองของเยอรมันได้รับเงินอุดหนุน ๓ ทางด้วยกันคือทางที่หนึ่งค่าบำรุงจากสมาชิกของพรรค ทางที่สองจากการบริจาคและทางที่สามจากการอุดหนุนของรัฐบาล การให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลมีหลักการว่าพรรคการเมืองจะต้องมีความพยายามในการพึ่งตนเอง รัฐบาลจะให้การสนับสนุนโดยพิจารณาจากคะแนนที่พรรคได้รับการเลือกตั้ง ถ้าไม่เกิน ๔ ล้านเสียง รัฐจะให้เงินสนับสนุนเสียงละ ๘๕ เซ็นต์ แต่ถ้าเกิน ๔ ล้านเสียงจะได้เสียงละ ๗๐ เซ็นต์ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของรายได้ที่พรรคได้รับในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อยืนยันหลักการว่าพรรคจะต้องไม่หวังพึ่งพาการเงินจากรัฐเท่านั้น
    องค์กรที่มีความสำคัญต่อการเมืองของเยอรมันอีกองค์กรหนึ่งคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสภาบุนเดสตากและสภาบุนเดสราตสภาละ ๘ คน มีวาระ ๑๒ ปีเป็นได้ครั้งเดียว การใดก็ตามที่สงสัยว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการของระบอบประชาธิปไตย สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เช่นปัญหาเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งของเยอรมันที่มีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยทำให้ระบบการเลือกตั้งมีพัฒนาการมาโดยตลอด การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับเชื่อถือทั้งจากพรรคการเมืองและจากประชาชนถึงแม้จะมีนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยก็ตาม
    การเมืองของเยอรมนียังมีรายละเอียดอีกมาก การเดินทางมาศึกษาระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีตามคำเชิญของรัฐบาลเยอรมันที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดนับว่าได้ประโยชน์มาก ทำให้ผมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองของเยอรมันได้ลึกซึ้งมากกว่าการอ่านจากหนังสือ และนับว่ามีประโยชน์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างของระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาก ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายมีกำหนดการดูงานตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น
    ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้เป็นเพียงข้อมูลโดยสรุปเท่านั้น ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ถ้ามีโอกาสจะคุยให้ฟังในภายหลังครับ

...สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
ที่มา : FB//:Prof.SombatThamrongthanyawong

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๓ วันพฤหัสบดีที ๑๖- วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


782 1382