19thApril

19thApril

19thApril

 

October 03,2015

‘สามกระทรวง’ประสานมือมทส. จับ ๒๕ อปท.แปรขยะสู่พลังงาน

“ก.ทรัพยากรฯ-พลังงาน-มหาดไทย” ผสานกับมทส. จับ ๒๕ อปท. ลงนามความร่วมมือใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนเพื่อผลิตเชื้อเพลิงแข็ง และปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดินโดยวิธีทางกลและชีวภาพ ซึ่งเป็นผลงานนักวิจัยมทส. ที่พัฒนาขึ้นและนำไปต่อยอดขยายผลและสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้จริง

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มีพิธีลงนามความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน “กระบวนการบำบัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเชื้อเพลิงแข็ง (Refuse-Derived Fuel : RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดินโดยวิธีทางกลและชีวภาพ” ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ๒๕ แห่งกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และพิธีมอบสัญญาระบบการผลิตแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือนเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา โดยมีดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ครุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมในพิธี พร้อมทั้งในช่วงบ่ายเป็นการทอล์คโชว์ Creative Business Talk  หัวข้อ “ECO DESIGN” (Megatrends ๒๐๑๕) โดย “แก๊ป-ธนเวทย์” เจ้าของธุรกิจกระดาษห่อของขวัญรักษ์โลก และดารานักแสดงชื่อดัง

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดทำ Road Map แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศและเสนอของบประมาณเพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยเห็นถึงประสิทธิภาพการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานแบบครบวงจรฯ ที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา สามารถนำมาแก้ไขปัญหาขยะของประเทศด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบโครงการด้านการจัดการขยะมูลฝอยระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ เป็นโครงการนำร่อง ๑๘ แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณขยะรวม ๑,๑๗๐ ตันต่อวัน ซึ่งผลิตเชื้อเพลิง RDF ได้อย่างน้อย ๓๐๐ ตันต่อวัน นอกจากนั้น ยังมีโครงการนำร่องที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย อีก ๓ แห่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของชาติ ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมการลงนามความร่วมมือ ๕ กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันนโยบาย Waste to Energy ของรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ด้วยความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ในบริบทของคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์อีกด้วย

ดร.ครุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจหลักของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คือ ทำให้การศึกษา วิจัย พัฒนา มีความก้าวหน้า มีประสิทธิผล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและการใช้พลังงาน โดยในปี ๒๕๕๘ ภายใต้การดำเนินงานของ สนพ. กองทุนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินโครงการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ อาทิ การส่งเสริมการผลิตแก๊สชีวภาพระดับครัวเรือนเพื่อทดแทนการใช้แก๊สแอลพีจี การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล การสาธิตระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงการสนับสนุนระบบผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิง RDF ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดนครราชสีมา ๔ แห่ง แห่งละ ๒๕ ตันต่อวัน ในลักษณะการจัดการขยะแบบกระจายศูนย์ โดยเชื้อเพลิง RDF จะถูกมาแปรรูปเป็นน้ำมันไพโรไลซีส กำลังการผลิต ๒๐,๐๐๐ ลิตรต่อวัน และผลิตไฟฟ้า ๑ เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนให้ดำเนินการศึกษาออกแบบระบบบริการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัดเพื่อสนับสนุน Road Map การจัดการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานรู้สึกยินดีที่ได้เห็นงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี ๒๕๕๘ มีการมอบหนังสือรับรองการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน “กระบวนการบำบัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเชื้อเพลิงแข็ง (Refuse-Derived Fuel: RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดินโดยวิธีทางกลและชีวภาพ” สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๕ แห่ง ที่จะดำเนินการก่อสร้างระบบในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และงบประมาณแผ่นดินผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีและนวัตกรรมการกำจัดขยะมูลฝอยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ทำการถ่ายทอดให้แก่ท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่พัฒนาโดยใช้งบประมาณของรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวควรตกเป็นของรัฐ และรัฐควรได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย กล่าวปิดท้าย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๑๘ วันพฤหัสบดีที่  ๑  -  วันจันทร์ที่  ๕  เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


696 1342