29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 03,2015

มข.ส่งนักศึกษาร่วมธุรกิจใหญ่ลาว เน้นสร้างนักบริหารมืออาชีพ

ม.ขอนแก่น ส่ง ๒๓ นักศึกษาปฏิบัติงานร่วมกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของ สปป.ลาว ตามโครงการสหกิจอาเซียน รุ่นที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๘ เน้นย้ำสร้างนักบริหารงานอย่างมืออาชีพและผู้นำยุคใหม่ ตอบโจทย์ทุกความต้องการกลุ่มธุรกิจ ๑๐ ประเทศอาเซียน

เมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น. วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมชั้น ๔ ธนาคารพงสะหวัน สำนักงานใหญ่ (หลัก ๗) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว นายบุญถัน วงศ์สุรีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารพงสะหวัน เป็นประธานในพิธีปิดโครงการสหกิจอาเซียน รุ่นที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๘ โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, วิทยาลัยนานาชาติและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ผ่านการปฏิบัติงานร่วมกับธนาคารพงสะหวัน ในปีนี้รวม ๒๓ คน ท่ามกลางการร่วมเป็นสักขีพยานของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, รศ.ดร.สุมนา นีระ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สำนักทะเบียนและประมวลผล, ผศ,ดร.ขวัญเกศ กนิษฐานนท์ รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มข. และคณาจารย์จากทุกภาควิชา ร่วมแสดงความยินดี ขณะเดียวกันวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแทนคำขอบคุณธนาคารพงสะหวัน ในการให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านวิชาชีพให้กับนักศึกษาไทย

นายบุญถัน วงศ์สุริย์ ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารพงสะหวัน  - รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข.

นายบุญถัน วงศ์สุริย์ ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารพงสะหวัน กล่าวว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน ๔ เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีความรักใคร่ สนิทสนม กลมเกลียว และความผูกพันเกิดขึ้น ทั้งนี้ นักศึกษาทั้งหมดได้ถูกจัดสรรปฏิบัติงานเช่นเดียวกับพนักงานของธนาคารจริง ทั้งในส่วนของฝ่ายสินเชื่อ, พนักงานต้อนรับและบริการลูกค้า, งานธุรการและเอกสาร, งานประสานงานระหว่างประเทศ, งานจัดซื้อ รวมไปถึงงานเลขานุการ โดยทุกคนปฏิบัติงานตามเวลาทำการที่ธนาคารกำหนด ทั้งในส่วนของที่ประจำในสาขา, หน่วยบริการและสำนักงานใหญ่ โดยมั่นใจว่า ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันจะส่งผลต่อการเข้าสู่แวดวงการทำงานที่นักศึกษาทั้งหมดจะต้องเผชิญและก้าวสู่การทำงานหลังสิ้นสุดการศึกษา

“การปฏิบัติงาน ๔ เดือนของนักศึกษา มข. ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ตั้งแต่วันแรกมาถึงวันนี้ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญจากชีวิในรั้วมหาวิทยาลัยสู่การทำงานจริงร่วมกับเพื่อนร่วมงานทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ และสำคัญที่สุดคือการได้ทำงานในระบบการทำงานด้านธนาคารที่ได้มาตรฐานและเป็นไปในระบบสากล ซึ่งยอมรับว่าในระยะแรกนักศึกษายังคงไม่สามารถปรับตัวได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นานนัก การปรับตัวเพื่อสู่สังคมวัยทำงาน การเรียนรู้ในระบบและแผนงานต่างๆ และที่สำคัญการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับชาวลาวและชาวต่างชาติ ในนครหลวงเวียงจันทน์ และสำนักงานสาขาต่างเมือง เป็นสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมาก ขณะเดียวกัน พนักงานของธนาคารและส่วนงานต่างๆ แม้กระทั่งลูกค้าของธนาคารที่เข้ามาติดต่องานด้านต่างๆ ต่างล้วนประทับใจในอัธยาศัยไมตรีและการให้บริการที่เป็นกันเอง นอกจากนี้ยังคงมีการลงพื้นที่เพื่อให้บริการชุมชนและสังคมในด้านต่างๆตามนโยบาย ซึ่งนักศึกษา มข.สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นักศึกษาดังกล่าวที่ผ่านงานในระดับนานาชาติมาแล้วจะสามารถเข้าสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบที่สุด ที่สำคัญคือตอบโจทย์ต่อความต้องการในกลุ่มธุรกิจธนาคารและหน่วยงานต่างๆ ในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น”

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง ๒ หน่วยงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๔ ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการสหกิจอาเซียน ได้ปฏิบัติงานจริงร่วมกับทีมงานมืออาชีพ และกับหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับชั้นนำในระดับอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่า ก้าวต่อไปของนักศึกษาทั้งหมดจะเป็นผู้นำอย่างมืออาชีพ เป็นผู้นำยุคใหม่ที่ทันต่อสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ได้ รวมทั้งการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งและไหวพริบในการทำงานด้านต่างๆ ไปปรับใช้ในการทำงานได้จริงจากพื้นฐานในการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๕๙ วิทยาลัยฯ ได้ประสานการทำงานแบบยกระดับเพิ่มขึ้นรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในการส่งนักศึกษาในทุกสาขาวิชา เข้าปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มพงสะหวันกรุ๊ป สปป.ลาว ในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของนักศึกษา ทั้งภายในประเทศไทย, สปป.ลาว และกลุ่มประเทศอาเซียนและทวีปเอเชีย ซึ่งผู้บริหารต่างเห็นพ้องต้องกันในแนวนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันยังคงเปิดรับนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมปฏิบัติงาน ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดด้วยเช่นกัน

“การเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญระหว่างสองหน่วยงานในวันนี้เบ่งบานและออกดอกออกผลอย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาร่วมปฏิบัติงาน มีการจัดฝึกอบรมและการให้บริการทางวิชาการร่วมกันในด้านต่างๆ  โดยเฉพาะในสาขาวิชาการจัดการการคลัง และการปกครองท้องถิ่น ที่กลุ่มธุรกิจพงสะหวัน มีการจัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติงานจริงให้กับนักศึกษาได้ปฏิบัติงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขั้นตอนการบริหารงานทั้งระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่องค์กรขนาดใหญ่และเชี่ยวชาญชั้นนำระดับอาเซียน จะเปิดใจให้กับนักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ในการทำงานในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการสร้างนักบริหารยุคใหม่อย่างมืออาชีพตรงกับแนวทางการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ ที่ได้กำหนดไว้” คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวในที่สุด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๑๘ วันพฤหัสบดีที่  ๑  -  วันจันทร์ที่  ๕  เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


694 1347