27thApril

27thApril

27thApril

 

October 03,2015

เสนอยูเนสโกรับรองปี’๕๙ จัดตั้ง‘โคราชจีโอพาร์ค’

ผลการศึกษาภาคสนามและระดมสมองผู้เกี่ยวข้อง ๕ อำเภอ เห็นชอบจัดตั้ง “โคราชจีโอพาร์ค” เตรียมนำเสนอผู้ว่าฯ ประกาศกันพื้นที่อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ คาดนำเสนอยูเนสโกรับรองได้ปี ๒๕๕๙ จะทำให้โคราชเป็น ๑ จังหวัด ที่มีรูปแบบอนุรักษ์ครบทั้ง ๓ โปรแกรมของยูเนสโก

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติราชการแทนนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอุทยานธรณีจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพิจารณาวาระประชุมการนำเสนอผลการประเมินเพื่อจัดตั้ง “อุทยานธรณีระดับจังหวัด” ตามแบบประเมินในเอกสารแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณีของกรมทรัพยากรธรณี  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๔๔ คน ภายหลังนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น ได้เห็นชอบการจัดตั้ง “อุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark)” เพื่อเป็นอุทยานธรณีวิทยา และสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ในคราวการประชุมคณะทำงานอุทยานธรณีจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ พร้อมทั้งกันพื้นที่ ๑๑ อำเภอทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ที่มีขนาด ๙,๘๖๒ ตารางกิโลเมตร ได้แก่ อำเภอปากช่อง วังน้ำเขียว ปักธงชัย โชคชัย สูงเนิน สีคิ้ว เทพารักษ์ ด่านขุนทด ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเหตุผลทางวิชาการธรณีวิทยา เพราะเป็นพื้นที่โดดเด่นของซากดึกดำบรรพ์ครบ ๓ มหายุค จากซากอายุเก่าในทางตะวันตกไปสู่ซากอายุใหม่ในทางตะวันออก คือ มหายุคชีวิตเก่า (Paleozoic), มหายุคชีวิตกลาง (Mesozoic) และมหายุคชีวิตใหม่ (Cenozoic) นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้านความหลากหลาย ของชนิดหินและสัณฐานภูมิประเทศ แหล่งนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบด้วยในพื้นที่ ทั้งยังครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของพื้นที่มรดกโลกป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และทั้งหมดของพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากยูเนสโกทั้ง ๒ แห่ง

ต่อมาคณะกรรมการความร่วมมือโปรแกรมจีโอซายน์แห่งเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (Coordinating Committee for Geoscience Programmes in East and Southeast Asia) หรือ CCOP ร่วมกับ UNESCO (ยูเนสโก) และกรมทรัพยากรธรณี ได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อการพัฒนาอุทยานธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา โดยเน้นการพัฒนาอุทยานธรณีในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จากปัจจุบันที่เปิดดำเนินการแล้ว อาทิ อุทยานธรณีที่ราบสูงคาสต์ดองวาน ประเทศเวียดนาม ประกอบกับในปี ๒๕๕๘ เป็นปีแรกที่ยูเนสโกยอมรับเครือข่ายอุทยานธรณีโลก เป็นโปรแกรมถาวรขององค์การยูเนสโก เหมือนเช่นเดียวกับมรดกโลก (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserves Area) และเปลี่ยนชื่อและโลโก้เป็น UNESCO Global Geoparks Network หรือ UGGN โดยการประชุมครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.แพทริก แมกคีฟเวอร์ จากสำนักงานเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เสนอแนะให้กำหนดพื้นที่จัดตั้ง “อุทยานธรณีโคราช” ในระยะที่ ๑ ครอบคลุมพื้นที่ ๕ อำเภอ จาก ๑๑ อำเภอที่กำหนดไว้ในครั้งแรก ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา สูงเนิน ขามทะเลสอ สีคิ้ว และเฉลิมพระเกียรติ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นผลสำเร็จในการบริหารจัดการอุทยานธรณีก่อนที่จะมีการขยายพื้นที่ในระยะต่อไปนั้น ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอรายละเอียดแล้วนั้น

นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

ต่อเรื่องนี้ผลการประเมินเพื่อจัดตั้ง “อุทยานธรณีระดับจังหวัด” ตามแบบประเมินในเอกสารแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณีของกรมทรัพยากรธรณี ล่าสุดผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า “จากข้อมูลที่นักวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ไปศึกษาในภาคสนามและจากการประชุมระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ๕ อำเภอที่จะจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช ตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก คือ อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ ปรากฏว่า ที่ประชุมคณะทำงานอุทยานธรณีจังหวัดนครราชสีมาเห็นชอบกับการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชระดับจังหวัด  โดยมีผลคะแนนประเมินจากที่ประชุมรวมเฉลี่ยร้อยละ ๙๓ ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าว เลขานุการคณะทำงานอุทยานธรณีฯ  นายวิชัย อุดมรัตนะศิลป์ จะนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อประกาศจัดตั้งให้พื้นที่ ๕ อำเภอดังกล่าว เป็นอุทยานธรณีโคราชในระดับจังหวัด และเป็นแห่งที่ ๒ ของประเทศต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งพื้นที่ทั้งสองแห่งจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการในระดับประเทศและคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกที่กรุงเทพฯ  เพื่อนำเสนอต่อยูเนสโกในปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ ตามลำดับ”

ผศ.ดร.ประเทือง ให้รายละเอียดถึงการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับจังหวัดว่า อุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark เป็นโปรแกรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโปรแกรมหนึ่งของยูเนสโก คล้ายกับมรดกโลก (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) แต่สองโปรแกรมหลังนี้เน้นการอนุรักษ์ หรือการวิจัย ขณะที่อุทยานธรณี (Geopark) เน้นการอนุรักษ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ซึ่งทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์มรดกทางธรณีในท้องถิ่นด้วย ทั้งในรูปงานอาชีพบริการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น การผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร และหัตถกรรมของท้องถิ่นที่เป็น อัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ รวมทั้งงานอาชีพใหม่ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 

“ดังนั้น อุทยานธรณีจึงเป็นรูปแบบการอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันยูเนสโกได้รับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลก หรือ Global Geopark ไปแล้ว ๑๑๑ แห่ง จาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมากที่สุดถึง ๓๑ แห่ง ในอาเซียนมีเฉพาะประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศละ ๑ แห่ง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี กรมทรัพยากรธรณีจึงมีนโยบายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานธรณีในหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนงบประมาณจัดทำแผนแม่บทอุทยานธรณีในจังหวัดต่างๆ การสำรวจแหล่งธรณีอันควรอนุรักษ์ภายในประเทศ การจัดประชุมสัมมนาการจัดตั้งอุทยานธรณี เป็นต้น ทำให้หลายจังหวัดเริ่มดำเนินโครงการอุทยานธรณีขึ้น เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น สตูล และตาก เป็นต้น” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว  

ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวในท้ายสุดว่า สำหรับจังหวัดนครราชสีมาถ้ามีการจัดตั้ง “อุทยานธรณีโคราช” หรือผ่านการรับรองโดยยูเนสโกแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของโลกที่ภายใน ๑ จังหวัดมีรูปแบบการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง ๓ โปรแกรม เหมือนเช่นประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี ซึ่งจะได้รับการยกย่องเป็น “The UNESCO triple crowns” เหมือน ๓ ประเทศดังกล่าว และสามารถนำแบรนด์ หรือความโดดเด่นระดับโลกข้างต้น มาใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวได้ต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๑๘ วันพฤหัสบดีที่  ๑  -  วันจันทร์ที่  ๕  เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


701 1345