19thMay

19thMay

19thMay

 

October 19,2015

‘ทูตจีน’สานสัมพันธ์อีสาน ร่วมมือรถไฟไทย-จีน เวนคืนที่ดินกว่าพันไร่

   ‘หนิง ฟู่ขุย’ เอกอัครราชทูตจีนฯ เยือนโคราชพบนักการเมือง/นักธุรกิจ ยืนยันความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน รับข้อเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้รัฐบาลจีนพิจารณา เพื่อสร้างทางคู่มาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร รับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ด้าน ‘ศ.ดร.ยงยุทธ’ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน หวังช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและดึงดูดการท่องเที่ยวภาคอีสาน ผลักดันหลักสูตรระบบรางในอุดมศึกษา

    ตามที่เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๘ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “ความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน” ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช โดยมีนายหนิง ฟู่ขุย (H.E.Mr.Ning Fukui) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และดร.โภคิน พลกุล อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนา ซึ่งมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ ได้รับความสนใจจำนวนมาก จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักการเมือง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักธุรกิจ และชาวนครราชสีมา รวมถึงชาวจีนจากองค์กรและบริษัทภาคเอกชนเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย

ทูตจีนให้คำมั่นพร้อมสนับสนุน
    ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนของจังหวัดนครราชสีมารับทราบข้อมูล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น เรื่องความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน จากยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ โดยกระทรวงคมนาคม กำหนดแผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองไว้ โดยจะเร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนตอนใต้) เพื่อให้รถไฟเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทาง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ ประกอบกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา, แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด ความเร็วเฉลี่ย ๑๘๐ กม./ชม. เพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารภายในประเทศเชื่อมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยวางแนวเส้นทางผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมทั้งเป็นการรองรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคมนั้น 
    นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า “จีนพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยจะสนับสนุนด้านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนฝ่ายไทยรับผิดชอบงานโยธาเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของคณะกรรมการ ทั้งนี้ หากจีนจะให้การช่วยเหลือรูปแบบเงินกู้ เชื่อว่าจะเป็นเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ไทยจะไปกู้แหล่งอื่นแน่นอน” พร้อมกันนี้ภายในงานมีการสัมมนาความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และอุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน, ศ.ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมไทย-จีน (สคค.ไทย-จีน) สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เป็นต้น


ส่งเสริม-เทคโนโลยี-ดึงท่องเที่ยว
    ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ศ.ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมไทย-จีน (สคค.ไทย-จีน) สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา, แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยรัฐบาลไทยลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลจีนแล้วนั้น สืบเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ร่วมกับอุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เดินทางไปเจรจาการขายข้าวของรัฐบาลที่ค้างอยู่ในสต็อกให้กับรัฐบาลจีน มีการหารือกันถึงความร่วมมือในการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตด้วย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย ดังจะเห็นได้ว่าสัมพันธภาพไทย-จีน มีมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตกาล ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมไทย-จีน มองประเด็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและจีนในครั้งนี้ ๓ ด้านสำคัญ ดังนี้ ๑. การส่งเสริมระหว่างกันทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานฯ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเดินทางและขนส่งระหว่างภูมิภาคและประเทศ รวมถึงการขนส่งสินค้าต่างๆ จากประเทศไทยถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านมณฑลยูนนาน คุนหมิง และสามารถขยายไปได้อีก ๔-๕ สายสำหรับการกระจายสินค้าจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ หรือจีนตอนใต้ของจีน เพราะเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมไปถึงท่าเรือมาบตาพุดได้ ต้นทุนการขนส่งด้วยระบบรางและผ่านทางเรือจะถูกกว่าทางรถยนต์ ซึ่งทางรัฐบาลจีนก็จะได้เป็นประโยชน์ด้วย 
    ๒. เทคโนโลยีทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางหรือรถไฟฟ้า เพราะขณะนี้การพัฒนารถไฟฟ้าของจีนมีความก้าวหน้า จัดอยู่อันดับต้นๆ ของโลก เมื่อมีความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ในส่วนของประเทศไทยก็จะต้องมีโอกาสได้รับเทคโนโลยีดังกล่าวจากจีนด้วย ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือ KNOW HOW ให้กับไทยโดยไม่ปิดบังอำพราง จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาฯ ที่ต้องการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช มีความร่วมมือกับรัฐบาลจีนหรือการสนับสนุนให้เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง หรือรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมฯ กำลังติดต่อสถานศึกษาที่มีศักยภาพ และก็ทราบว่าที่โคราชมีมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี นั่นคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) น่าจะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาการศึกษาด้านนี้ ซึ่งจะเป็นการเตรียมการสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคตด้วย โดยที่รัฐบาลจีนไม่ต้องส่งบุคลากรมาเพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่จะใช้บุคลากรในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวโคราช หรือชาวอีสาน มาเรียนหลักสูตรด้านนี้โดยตรง 
    ๓. PEOPLE WARE ซึ่งจะเน้นเรื่องประชากร เริ่มจากสายสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย-จีน ที่มีลูกหลานอยู่จำนวนมาก โดยมีการเดินทางไปเยือนไทย-จีนอยู่เป็นประจำ เพื่อการท่องเที่ยวและมาเยี่ยมญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย ทำให้สัมพันธภาพที่เกิดขึ้นแล้วและอนาคตจะมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นคือการเชื่อมโยงรถไฟสายนี้มีส่วนสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้ เพราะจะสามารถเชื่อมไปถึงสปป.ลาวได้ด้วย และแผนในอนาคตก็สามารถขยายเส้นทางไปยังประเทศกัมพูชา หรือเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเปิดมิติใหม่ด้านการเดินทางและขนส่งผ่านระบบราง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพราะการขนส่งด้วยรถยนต์ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๑๕.๒ ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ) ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดจีนอีกด้วย โดยเฉพาะภาคอีสาน หรือโคราช มีสินค้าอยู่หลายประเภท ทั้งโอทอป งานหัตถกรรมต่างๆ และยังมีวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของชาวจีนมาเที่ยวภาคอีสาน และสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ได้


ให้จีนทบทวนลดหย่อนดอกเบี้ย
    “เพราะฉะนั้น โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานฯ จะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและจีน รวมถึงระดับท้องถิ่นตามแนวเส้นทางที่รถไฟแล่นผ่านและระดับภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะประชากรในพื้นที่และธุรกิจท้องถิ่นก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (นายหนิง ฟู่ขุย) ก็ให้คำมั่นกับชาวโคราชว่า จีนเป็นประเทศใหญ่ที่รักษาคำพูด เมื่อรัฐบาลจีนและไทยลงนามความร่วมมือกันแล้วก็จะต้องเดินหน้ารถไฟสายนี้ ส่วนจะสามารถก่อสร้างได้เมื่อไหร่นั้น ขณะนี้ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องหารือกันเพื่อความชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องข้อกฎหมายด้านการลงทุนแบบ PPP ซึ่งรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ราคาเบื้องต้นประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และมีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างไทย-จีน โดยในช่วง ๓ ปีแรกจีนจะดำเนินบริหารจัดการ จากนั้นรัฐบาลไทยและจีนและบริหารจัดการร่วมกัน และในระยะที่ ๓ หลังจาก ๗ ปีไปแล้วจึงจะยกให้รัฐบาลไทยเป็นผู้ดูแล ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นไม่มีปัญหาและยินดีถ่ายทอดให้ไทย เพื่อเตรียมการให้ฝ่ายไทยสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องดอกเบี้ยด้านการลงทุนก่อสร้าง ประมาณร้อยละ ๒-๔ ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากชาวโคราชให้รัฐบาลจีนช่วยสนับสนุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือลดหย่อนในอัตราที่ต่ำได้หรือไม่ โดยท่านหนิง ฟู่ขุย จะนำความคิดเห็นของชาวโคราชจากการสัมมนาครั้งนี้ไปยังรัฐบาลจีน ซึ่งทางรัฐบาลไทยเองก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่จะทำผลีผลามโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบไม่ได้ อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้เกิดการผลักดันเส้นทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานฯ ช่วง “นครราชสีมา-มาบตาพุด” โดยตรง 

 

แล่นเฟสแรก‘กรุงเทพฯ-โคราช’
    สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทาง (Standard Gauge) ขนาด ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงสายภาคอีสานในอนาคต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการก่อสร้าง ช่วง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ระยะทาง ๒๕๖ กิโลเมตร ภายหลังทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว และต้องดำเนินการปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในบางส่วน โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา มาถึงชุมทางบ้านภาชี จากนั้นแยกเข้าสู่เส้นทางรถไฟสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานีปากช่องจะอยู่ที่ราชพัสดุหนองสาหร่าย ห่างจากสถานีเดิมประมาณ ๕ กิโลเมตร จากนั้นเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีปลายทางที่สถานีรถไฟนครราชสีมา โดยรวมเส้นทางจะสร้างคู่ขนานแนวรถไฟเดิม ยกเว้นบางช่วงที่ปรับรัศมีโค้งให้มีเหมาะสมกับความเร็วรถไฟ พร้อมทั้งรูปแบบโครงสร้างมีทั้งทางยกระดับกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร เพราะผ่านเขตเมือง ทางระดับพื้น ๕๘ กิโลเมตร สะพานบก ๔ กิโลเมตร และอุโมงค์ ๔ แห่งช่วงภาชี-โคราช โดยมีอุโมงค์รถไฟบริเวณผาเสด็จถึงหินลับด้วย และในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหิน โรงปูนซีเมนต์ ๓ บริษัท มี ๒ อุโมงค์ความยาว ๒๐๒ เมตร กับ ๓,๓๒๖ เมตร อุโมงค์รถไฟบริเวณริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยเป็นอุโมงค์ ๒ ช่วง อยู่บริเวณสถานีคลองขนานจิตร ความยาว ๕๕๗ เมตร และ ๑,๒๔๓ เมตร
    พร้อมกันนี้ กำหนดสถานีสำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร ตามแนวเส้นทางจากชุมทางภาชีที่แยกมาสายอีสาน จำนวน ๓ สถานี คือ ๑. สถานีสระบุรี จะสร้างอยู่ที่ใหม่ห่างสถานีรถไฟเดิมประมาณ ๓ กิโลเมตร เยื้องห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ สระบุรี ๒. สถานีปากช่อง ได้ข้อสรุปจะสร้างขึ้นใหม่มูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท บนพื้นที่ราชพัสดุกว่า ๑๕๐ ไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่าย ใกล้กับตำบลลำสมพุง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ห่างจากสถานีรถไฟปากช่องปัจจุบันกว่า ๕ กิโลเมตร โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาเมืองใหม่ที่อำเภอปากช่องควบคู่กับการสร้างสถานีรถไฟ ๓. สถานีนครราชสีมา ในร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นสถานีรถไฟนครราชสีมา ถนนมุขมนตรี (หัวรถไฟ) ซึ่งอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ ๒๒๕ ไร่ เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟ โรงซ่อมบำรุง บ้านพักพนักงานรถไฟกว่า ๔๐๐ หลัง และพื้นที่ให้เช่าประกอบธุรกิจ คาดว่าต้องใช้งบประมาณในการย้ายบ้านพักพนักงานรถไฟ และเวนคืนชุมชนบริเวณใกล้เคียง และต้องใช้งบประมาณราว ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานีให้สอดรับกับโครงการดังกล่าว เพราะจะต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เข้ามาสนับสนุนค่าโดยสารด้วย


เฟสสอง‘หนองคาย’เชื่อมจีน-ลาว
    ส่วน “ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย” นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด, Egis Rail และบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ในวงเงิน ๘๖.๙๒ ล้านบาท วางกรอบรายละเอียดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย โดยเริ่มทำการศึกษาและออกแบบตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ เป็นต้นมา มีกำหนดระยะเวลา ๑๔ เดือน ทั้งนี้ เมื่อกระบวนการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานต่างๆ ครบถ้วน ตามขั้นตอนของกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกวดราคาหาผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ ๕ ปีในการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ อีกทั้งยังมีเป้าหมายในอนาคตที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-สปป.ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว และเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน 
    ผลจากการศึกษาแนวเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.ที่ ๒๕๓+๐๓๒.๘๙๘ หลังจากออกจากสถานีรถไฟนครราชสีมาและจุดตัดห้าแยกหัวรถไฟมาแล้ว และเลยช่วงทางโค้งก่อนเข้าสู่สถานีรถไฟจิระ และมาสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณ กม.ที่ ๖๐๗+๐๗๓.๘๗๕ ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๒ (หนองคาย-เวียงจันทน์) ห่างจากสถานีรถไฟหนองคายไม่มากนัก รวมระยะทางประมาณ ๓๕๕ กิโลเมตร พร้อมกำหนดมี ๕ สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย นอกจากนี้ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ๑ แห่ง รวมทั้งลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) ที่นาทา อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ซึ่งต้องเวนคืนพื้นที่เอกชนจำนวน ๑,๑๐๐ ไร่, โรงซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) ๒ แห่ง ได้แก่ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟบ้านไร่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ต้องเวนคืนพื้นที่เอกชนประมาณ ๘๑ ไร่ และสถานีรถไฟโนนสะอาด อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ต้องเวนคืนที่ดินประมาณ ๗๘ ไร่, ลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) อีก ๑ แห่ง บริเวณบ้านกระโดน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ต้องเวนคืนที่ดินจำนวน ๕๒ ไร่, ทางหลีกสำหรับขบวนรถสินค้า (Freight Siding) ๒ แห่ง ได้แก่ บริเวณอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ต้องเวนคืนจำนวน ๑๖ ไร่ และบริเวณห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ต้องเวนคืนที่ดินจำนวน ๑๑๖ ไร่   
    สรุปพื้นที่ที่จะต้องเวนคืนแยกตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น จากข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ดังนี้ จ.นครราชสีมา จำนวน ๑๗๓ แปลง เนื้อที่ ๒๖๔-๐-๑๘ ไร่, จ.ขอนแก่น จำนวน ๒๘๔ แปลง เนื้อที่ ๔๕๘-๐-๗๑ ไร่, จ.อุดรธานี จำนวน ๖๔ แปลง เนื้อที่ ๙๐-๒-๔๓ ไร่ และจ.หนองคาย จำนวน ๓๕๙ แปลง เนื้อที่ ๗๔๕-๐-๒๐ ไร่ รวมจำนวนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ๘๘๐ แปลง เนื้อที่ ๑,๕๕๗-๓-๕๒ ไร่  
    หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป

นสพ. โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๑ ประจำวันที่ ๑๖-๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘

 

 

 


712 1,401