19thApril

19thApril

19thApril

 

October 22,2015

บุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ถูกรัฐเวนคืนที่ดิน

    กลุ่มราษฎรบุกเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือ หลังเดือดร้อนอย่างหนักจากการฝึกซ้อมของตำรวจที่เข้าใช้พื้นที่ ตามโครงการของสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๑,๙๑๙ ไร่ พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง ๓ ประการ

    ตามที่มีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘  กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างประชาชนที่เช่าอาศัยอยู่ในที่ดิน โดยก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนและมีหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และมีข้อสรุปเป็นที่ยุติว่า สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา และสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้ร่วมกันกระทำผิดข้อระเบียบและกฎหมายตามข้อเท็จจริง จึงมาร้องเรียนขอให้ดำเนินการลงโทษต่อผู้กระทำผิดและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญาตามข้อกฎหมาย และระงับการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ชุมชนที่ครอบครองที่ดิน และให้คืนสิทธิ์การครอบครองที่ดินให้แก่ประชาชนได้อยู่อาศัยและทำกินดังเดิม ตามมติ ครม.ที่อ้างถึงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย
    ล่าสุดวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ ๑๔ บ้านหนองไผ่ล้อม ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นำโดยนาย เรวัฒน์ เชิดฉาย, นายภาส อินทร์ระหงศ์ และนายชัยกานต์ พังใบ เข้าพบนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือและเอกสารหลักฐานขอที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน เนื่องจากสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้ขอเช่าที่ดินต่อจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา จำนวน ๑,๙๑๙ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้เช่าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนแล้ว 

    ทั้งนี้ตัวแทนประชาชนที่มายื่นหนังสือฯ ให้ข้อมูลว่า สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาเสนอสร้างโครงการกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อขอเช่าพื้นที่ดังกล่าวจากสำนักงานธนารักษ์ฯ เมื่อปี ๒๕๔๘ และได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการใหม่เรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันเป็นโครงการสถานที่ฝึกซ้อมสำหรับตำรวจ โดยทางตำรวจมีข้อเสนอให้กับชาวบ้านว่าจะสร้างบ้านให้ครอบครัวละ ๑ หลัง บริเวณนอกพื้นที่จำนวน ๕๐ ไร่ แต่สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมายังไม่ดำเนินการสร้างบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด และได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้างแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแต่ตำรวจไม่อนุญาตให้สามารถทำไร่ทำสวนได้ ทำให้ชาวบ้านกว่า ๘๐ หลังคาเรือน จำนวน ๑๒๖ ราย ขาดรายได้จึงต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายในครัวเรือน บ้างก็รับจ้างทั่วไป และบางครอบครัวต้องย้ายออกจากพื้นที่เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ โดยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้กลุ่มตัวแทนได้ยื่นเรื่องร้องต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยแต่เรื่องยังไม่มีความคืบหน้า


    นายเรวัฒน์ เชิดฉาย อายุ ๖๑ ปี กล่าวว่า ตนได้รับความเสียหายจากการเวนคืนที่ดิน ทั้งที่ตนมีใบสัญญาเช่ากับสำนักงานธนารักษ์ฯ แต่กลับถูกดำเนินคดีเรื่องการบุกรุกพื้นที่ โดยตำรวจบอกว่าจะดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวละ ๑ หลัง จำนวน ๕๐ ไร่ เพื่อชดเชยให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสร้างบ้านที่ว่านี้แต่อย่างใด ซึ่งทางตนและผู้ตรวจกรมธนารักษ์ฯ ลงสำรวจพื้นที่ ๕๐ ไร่ดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมแก่การสร้างบ้านเรือนหรือไม่สามารถทำกินได้ เนื่องจากพื้นที่นั้นมีน้ำขังอยู่ อีกทั้งชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากการฝึกของตำรวจที่เข้ามาใช้สถานที่ฝึกซ้อม เช่น การยิงแก๊สน้ำตา ทำให้อากาศพัดกลุ่มควันเข้าหมู่บ้าน การยิงปืน ซึ่งบ้างครั้งก็มีลูกกระสุนตกใส่หลังคาบ้าน การระเบิดต่างๆ ซึ่งไม่เว้นแม้ในยามวิกาลก็ยังมีการฝึกซ้อมกันทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก
    ตัวแทนกลุ่มบ้านหนองไผ่ล้อมได้เสนอข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ๓ ข้อ ดังนี้ ๑.ขอแบ่งพื้นที่จัดสรร จำนวน ๗๑๙ ไร่ ให้เป็นของชาวบ้านได้อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่จำนวน ๑,๒๐๐ ไร่ ยกเป็นของตำรวจ จากเดิมทั้งหมด ๑,๙๑๙ ไร่    ๒.ขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำอาชีพปลูกพืชทำไร่ ๓.ขอให้ยุติการฝึกซ้อมเนื่องจากได้รับผลกระทบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้รับเรื่องและให้คำมั่นกับกลุ่มตัวแทนว่า ในเบื้องต้นจะรีบดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านให้ก่อนเพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นจะดำเนินการในขั้นตอนตามลำดับต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๒ วันพุธที่ ๒๑ -  วันอาทิตย์ที่ ๒๕  เดือนตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๘

 


699 1344