17thApril

17thApril

17thApril

 

October 23,2015

ความเสียหายจากการ “จำนำข้าว” ของยิ่งลักษณ์

ถาม : โครงการจำนำข้าว ทำไมจึงต้องมีความผิด และต้องเรียกค่าเสียหายชดใช้คืนจากผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย?
ตอบ :  หากโครงการที่ชื่อจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำการในลักษณะ “รับจำนำข้าวจริงๆ” ก็ไม่น่าจะผิด เพราะรัฐบาลในอดีต ก็เคยทำโครงการในลักษณะ “รับจำนำข้าวจริงๆ” มาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมเคยรับจำนำข้าว โดยให้เงินแก่ชาวนา ๗๐-๘๐% ของราคาตลาด 
พูดง่ายๆ ว่า เป็นการรับจำนำจริงๆ คล้ายๆ ที่โรงจำนำรับจำนำทรัพย์สินของมีค่าต่าง ที่จะต้องให้เงินจำนำต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อหวังให้ชาวบ้านเอาเงินมาไถ่ถอนทรัพย์คืนในอนาคต


    แต่สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ ไม่ใช่จำนำจริงๆ แต่เป็น “การรับซื้อข้าวในราคาแพงกว่าตลาด”
ยิ่งกว่านั้น การประกาศรับจำนำแพงกว่าราคาตลาด (รับซื้อ) ทุกเมล็ด ทำให้ข้าวเกือบทั้งหมดไหลเข้าสู่รัฐบาล รวมทั้งข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน พฤติการณ์จริงจึงเป็นการที่รัฐบาลประกอบกิจการซื้อขายข้าว โดยใช้เงินแผ่นดินมาซื้อข้าวราคาแพงกว่าเอกชนทั่วไป และดำเนินการขายราคาถูกกว่าเอกชนทั่วไป
สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันตอกย้ำว่า โครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มิใช่การรับจำนำจริงๆ ก็คือ ในฤดูกาลสุดท้ายก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะพ้นจากอำนาจไป พบว่า เมื่อชาวนาเอาข้าวมาเข้าโครงการแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินสดแก่ชาวนา ดังปรากฏว่า  มีการติดเงินค่าข้าวชาวนาอยู่มากกว่า ๑ แสนล้านบาท ชาวนาภาคเหนือ-กลาง-อีสาน-ตะวันตก รอเงินค่าข้าวมานาน ๔-๕-๖ เดือน รัฐบาลผิดนัดหลายหน หลอกลวงซ้ำซาก หนี้นอกระบบท่วมหัว ชาวนาเครียดจัด ฆ่าตัวตายไปหลายราย
    การจำนำจริงๆ คือ การที่ผู้นำข้าวมาจำนำต้องการกู้เงิน และจะต้องได้เงินสด ไม่ใช่เงินเชื่อ แลกกับการที่เขาเอาข้าวเข้ามาให้รัฐบาลเก็บไว้เป็นหลักประกัน 
ยิ่งกว่านั้น เมื่อชาวนาที่ไม่ได้เงินร้องขอข้าวของเขาคืน เพื่อจะเอาไปขายเอง แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่สามารถคืนข้าวให้ชาวนาผู้เป็นเจ้าของแต่ละคนได้ เพราะเอาข้าวของชาวนาเข้าสู่โครงการรวมๆ กันไปหมดแล้ว ตอกย้ำชัดว่า แท้จริงไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการรับซื้อข้าวขาดจากชาวนา
    เมื่อเป็นการรับซื้อ ในความเป็นจริง รายจ่ายในการซื้อข้าวทั้งหมดจะต้องจ่ายผ่านกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็หลีกเลี่ยงการตั้งงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องนำเข้าอนุมัติต่อรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งยอดเงินค่าใช้จ่ายจะสูงหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี กลับไพล่ไปใช้วิธีเอาเงินของ ธ.ก.ส. ไปใช้ก่อน เจตนาหลบเลี่ยงรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๖ และ ๑๖๙ ระบุว่า 
มาตรา ๑๖๖ “งบประมาณรายจ่ายของ      แผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน”


    มาตรา ๑๖๙ “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายญัตติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย…”
เมื่อเป็นโครงการที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แล้วปล่อยให้เกิดการทุจริตโกงกินทุกขั้นตอน ก็จึงต้องเป็นความผิด และจะต้องเรียกค่าเสียหายชดใช้คืนแผ่นดินจากผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นด้วย
การที่จะอ้างว่า เป็นนโยบายหาเสียง แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงสามารถทำได้ ไม่ผิด เป็นการอ้างแบบหน้ามืดตามัว เพราะในตอนแถลงนโยบายก็ไม่ได้ประกาศว่าโครงการจะขาดทุนหลายแสนล้านบาท และจะมีการทุจริตโกงกินกันมโหฬารขนาดนี้ เป็นการตบตารัฐสภา หลอกลวงสาธารณชนว่าจำนำข้าว  

ถาม : ถ้ารัฐบาลรับซื้อข้าวแบบนี้ มันจะผิดตรงไหน? 
ตอบ : ผิดตรงที่มันน่าจะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๔ 
การซื้อข้าวชาวนาในราคาแพงกว่าเอกชนทุกรายในท้องตลาด ก่อให้เกิดสต็อกข้าวมหาศาล นับเป็นการประกอบกิจการซื้อขายข้าวแข่งขันกับเอกชนโดยไม่เป็นธรรม เพื่อจะดำเนินการผูกขาดตลาดการค้าข้าวโดยรัฐบาลเอง ทำลายกลไกการแข่งขันการค้าเสรีและระบบตลาด ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๔ (๑) รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน อย่างชัดเจน
เอกชนทั่วไปไม่สามารถทำได้เช่นนี้ เพราะถ้าทำก็เจ๊ง แต่เหตุที่ทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เงินแผ่นดิน โดยล้วงกระเป๋า ธ.ก.ส. นำมาใช้จ่ายดำเนินโครงการ แม้จะเกิดการโกงขณะเก็บข้าวและเวลาขายข้าว ถูกสังคมเรียกร้องตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่แก้ไข 

 

    ดังปรากฏว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องที่ให้เร่งขายข้าวในโกดัง เปิดประมูล เพื่อให้ได้เงินสดหมุนเวียนกลับมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาโดยเร็วที่สุด มีพฤติกรรมอิดออด หลบเลี่ยงที่จะเปิดประมูลหรือเปิดเผยข้อมูลข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาล ต้องสงสัยว่า หากขายข้าวอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา สาธารณชนคนไทยและชาวนาไทยก็จะพบว่า ข้าวหายไปจากบัญชีเท่าไหร่ เหลืออยู่เท่าไร ขายไปแล้วเท่าใด ซึ่งจะคำนวณได้ทันทีว่าที่ผ่านมานั้นขายขาดทุนหรือขายในราคาที่ต่ำกว่าตลาด เกิดความเสียหายเท่าใด เอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด โกงกินกันมหาศาลขนาดไหน รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงนั่งทับใบเสร็จการทุจริตไปเรื่อยๆ บนความทุกข์ยากของชาวนา
ที่สำคัญ เมื่อมีการแอบขายข้าวที่ตนเองผูกขาดออกไปในราคาถูกๆ ให้เอกชนพวกพ้องของตน ก็ยิ่งเป็นการผูกขาดและทำลายการแข่งขันการค้าข้าวอย่างชัดเจนที่สุด
ยิ่งกว่านั้น นโยบายดังกล่าวยังถูกตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอเคยออกมาเตือน นักเศรษฐศาสตร์สถาบันต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ล้วนแต่เคยเตือนถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หน่วยงานตรวจสอบของกระทรวงการคลังเอง ก็ได้ทำหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการหลายครั้ง ระบุถึงปัญหาการทุจริตโกงกินและความเสียหายที่เกิดจากโครงการ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิกเฉย ดำเนินโครงการเรื่อยมาถึง ๕ รอบ ทำให้ความเสียหายบานปลาย ขยายวงกว้างอย่างร้ายแรง ถึงขนาดขาดทุนหลายแสนล้านบาท และติดหนี้ชาวนากว่าแสนล้านบาท จนรัฐบาล คสช.ต้องเข้ามาใช้หนี้แทน
การทุจริตและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบายรับจำนำข้าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ สุดวิสัย หรืออยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายรู้หรือสมควรรู้อยู่แล้ว แต่จงใจละเลย ละเว้น หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง ดำเนินนโยบายที่เปิดช่องให้มีการทุจริตเสียหายแก่ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

ถาม : ดำเนินคดีเอาผิดในทางอาญาเท่านั้น ได้หรือไม่? 
ตอบ : หากละเว้นเช่นนั้น รัฐบาลปัจจุบันและผู้เกี่ยวข้องก็คงต้องตกเป็นจำเลยเสียเอง ฐานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน ละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายชดใช้คืนแผ่นดินจากการกระทำไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและพวกข้างต้น
ที่สำคัญ หากไม่มีการดำเนินการเรียกค่าเสียหาย ก็จะเป็นแบบอย่างให้นักการเมืองสามานย์ในยุคต่อๆ ไป กระทำการอุกอาจเยี่ยงนี้อีก ประกาศหาเสียงด้วยการรับซื้อข้าวในราคาแพงๆ ต่อไปก็อาจจะประกาศซื้อข้าวเปลือกตันละ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวของนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่ใช้เงินแผ่นดิน แล้วก็ปล่อยให้มีการทุจริตโกงกินข้าวในสต็อกมหาศาล โดยที่นักการเมืองผู้บริหารประเทศไม่ได้ต้องรับภาระค่าเสียหายอะไรเลย
แม้จะเรียกค่าเสียหายไปหลักแสนล้านบาท แล้วคงยากที่จะติดตามเรียกคืนกลับมาได้ครบจำนวนก็ตาม แต่ก็จะได้วางเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ให้ปรากฏกันเสียในยุคนี้ว่า คนโกงจะต้องรับผิด คนปล่อยให้โกงก็จะต้องรับภาระชดใช้คืนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากกระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

ถาม : จะคิดคำนวณค่าเสียหายอย่างไร? 
ตอบ : ในเมื่อโครงการดังกล่าวมีการกระทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การนำเงินแผ่นดินไปใช้จ่ายทั้งหมดจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ยอดเสียหายสุทธิเท่าไหร่ ผู้กระทำก็ควรต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน
วิธีคิดคำนวณบนพื้นฐานเหตุผล ข้อเท็จจริง และเป็นธรรมแก่ประเทศชาติส่วนรวม ดังนี้
(๑) เงินที่รัฐจ่ายออกไปในการซื้อข้าว บวกกับ เงินที่รัฐต้องใช้จ่ายในการดำเนินการต่อเนื่องทั้งหมด เช่น ค่าเก็บข้าว ค่าขนนส่ง ค่าแปรรูป ฯลฯ 
นำ (๑) มาหักลบด้วย รายรับที่รัฐได้จากการขายข้าวทั้งหมด (ทั้งเงินที่ได้จากขายข้าวแล้ว และมูลค่าข้าวที่เหลืออยู่ในโกดัง) 
ยอดที่ได้จากการคำนวณ คือ ยอดเงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่ควรจะต้องเรียกคืนจากผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเฉพาะนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย 

ถาม : ค่าเสียหายมีแต่ผลขาดทุนข้างต้น เท่านั้นหรือ?
ตอบ : ในความเป็นจริง นอกจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเงินแผ่นดินโดยตรงข้างต้นแล้ว การผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ไปกว้านซื้อข้าวมาเก็บไว้ในโกดัง ยังทำให้เศรษฐกิจของชาติเสียหายจากการสูญเสียตลาดส่งออกข้าว ทำให้ผู้ซื้อข้าวไทยหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าว และยังสูญเสียตลาดบนเวทีโลกซึ่งจะต้องใช้เวลานานกว่าจะช่วงชิงตลาดกลับคืนมาได้
นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายจากการที่คุณภาพข้าวไทยแย่ลง เนื่องจากโครงการที่ซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนา ทำให้เกิดการเร่งผลิตข้าวโดยเอาปริมาณเป็นหลัก ข้าวคุณภาพต่ำที่ได้ปริมาณผลผลิตสูงออกมามาก เร่งใช้ยา เร่งใช้ปุ๋ย เพื่อเร่งเอาปริมาณเป็นหลัก ทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก
ประการสำคัญ ทำลายแบรนด์เนมข้าวไทย หรือชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมานานในสายตาตลาดโลกลงไปอย่างย่อยยับ
ผลต่อเนื่องจากโครงการนี้ ยังทำให้เกิดการบิดเบือนการผลิต บิดเบือนการใช้ทรัพยากรที่ดินของประเทศ เกษตรกรจำนวนมากเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อย หันมาปลูกข้าวที่ใช้น้ำมาก เพราะได้ราคาพิเศษจากรัฐบาล ทำให้เกิดการแย่งใช้น้ำตามมาในที่สุด

ถาม : จะเรียกค่าเสียหายจากใคร? 
ตอบ : เพื่อความเป็นธรรม ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ควรจะต้องชดใช้คืนแผ่นดิน โดยเรียกเอาจากผู้ใช้อำนาจรัฐกำหนดนโยบายอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายนั่นเอง ประกอบด้วย
อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับการขายข้าวจีทูจีเก๊ ทั้งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนายภูมิ สาระผล ซึ่งทำให้รัฐได้เงินกลับเข้าสู่แผ่นดินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และทำลายการแข่งขันการค้าข้าวอย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะเอกชนที่ได้ข้าวไปในราคาต่ำกว่าตลาดไม่ได้ส่งออก แต่เอามาหมุนเวียนหากินอยู่ในประเทศนั่นเอง
ความเสียหายส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากการขายข้าวจีทูจีเก๊ของกระทรวงพาณิชย์ ที่เหลือมาจากยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ควบคุมดูแลโครงการ ไม่ระงับยับยั้งโครงการ แต่ปล่อยให้เกิดความเสียหายบานปลาย
 ไม่มีการเรียกเงินคืนจากชาวนา เพราะชาวนาไม่ผิด แต่นักการเมืองที่รู้ว่าโครงการมีปัญหา กลับดึงดันเดินหน้า เพื่อจะหาเสียง และปล่อยให้การโกงดำเนินต่อไป จะต้องรับผิดชอบต่อแผ่นดิน

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๒ วันพุธที่ ๒๑ -  วันอาทิตย์ที่ ๒๕  เดือนตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๘


705 1342