26thApril

26thApril

26thApril

 

October 26,2015

อุดรธานีเปิดเวทีสรุปรถไฟทางคู่ยกระดับข้ามเมือง-สถานีลอยฟ้า คาดปี ๒๕๖๕ เปิดให้ปชช.ใช้งาน

    รฟท.เปิดเวทีสัมมนาสรุปสรุปแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสม ครั้งที่ ๒ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ผ่านตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี คาดปี ๒๕๖๕ เปิดใช้งาน การรถไฟออกแบบให้ยกระดับข้ามเมืองพร้อมสถานีลอยฟ้า

 นายสิธิชัย จินดาหลวง

 

    นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดประชุมเพื่อสรุปแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสม ครั้งที่ ๒ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่โรงแรมนภาลัย อุดรธานี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ ๒ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาที่ได้สรุปแนวเส้นทางและรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้รับทราบข้อมูล และมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะได้นำไปสำรวจและออกแบบรายละเอียดต่อไป


     นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวคิดในการออกแบบเป็นระบบรถไฟทางคู่ ด้วยรางขนาดความกว้าง ๑ เมตร ตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ก่อสร้างทางวิ่งเพิ่ม ๑ ทาง คู่ขนานกับทางรถไฟเดิมในปัจจุบัน เน้นใช้พื้นที่ในเขตทางของรฟท.เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินประชาชน การออกแบบจะมีทั้งทางรถไฟบนคันดินและทางรถไฟยกระดับ ซึ่งทางยกระดับจะมีเฉพาะช่วงผ่านตัวเมืองอุดรธานี โดยเริ่มต้นยกระดับหลังผ่านสถานีหนองขอนกว้าง โครงสร้างทางจะเป็นสะพานยกระดับ รวมระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร พร้อมอาคารสถานียกระดับลอยฟ้า คาดดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในปี ๒๕๖๕ ทั้งนี้ประมาณต้นปี ๒๕๕๙ จะเริ่มลงมือก่อสร้างที่กม.๔๕๔ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการก่อสร้างช่วงจิระ-ขอนแก่น ห่างจากสถานีรถไฟขอนแก่น ๔๕๐ ประมาณ ๔.๒ กม. และมีจุดสิ้นสุดโครงการฯที่สถานีรถไฟหนองคาย รวมระยะทาง ๑๗๕ กม. มีสถานีจำนวน ๑๔ สถานี และที่หยุดรถไฟ ๒ แห่ง โดยเริ่มหาผู้ประกอบการลงมือก่อสร้างได้ประมาณต้นปี ๒๕๖๐ ระยะเวลาก่อสร้างน่าจะอยู่ประมาณ ๓-๔ ปี ในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ น่าจะเปิดใช้งานได้ และเส้นทางนี้จะเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยในแนวเหนือ-ใต้ สามารถเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง และแนวเส้นทางสามารถเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด เปลี่ยนถ่ายการขนส่งทางรถไฟไปยังระบบการขนส่งทางชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดไปยังนานาชาติได้อีกด้วย


     นายวรรณนพฯ กล่าวต่อไปว่า หลังผ่านตัวเมืองอุดรธานี โครงสร้างจะเป็นทั้งทางรถไฟบนคันดินและทางรถไฟยกระดับข้ามถนน ๓ จุด คือ สะพานข้ามถนนโพนพิสัย สะพานข้ามทางเลี่ยงเมือง และสะพานข้ามถนนมิตรภาพที่หนองแด ในส่วนทางโค้งในแนวเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ทั้งหมด ๒๖ โค้ง ได้ออกแบบให้ได้มาตรฐานที่มีความปลอดภัยรองรับระบบทางคู่ ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย ๑๒๐-๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีความจำเป็นในการปรับแนวเส้นทางบางช่วง การพัฒนาระบบทางคู่นี้ จะทำให้การเดินรถรวดเร็ว สะดวก และตรงเวลา นอกนี้ยังมีการออกแบบเพื่อยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง ปรังปรุงให้เป็นทางต่างระดับ ทางลอดหรือทางข้าม ทำให้ไม่มีจุดตัดระหว่างรถไฟกับรถยนต์อีกตลอดเส้นทาง จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งการเดินรถไฟและการใช้ถนน และยังมีการดำเนินงานออกแบบพัฒนาและปรบปรุงสถานีรถไฟและย่านสถานี ให้สามารถบริการผู้โดยสารได้สะดวก ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
นายวรรณนพฯ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ประโยชน์จากการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่จะสามารถเพิ่มความจุทางได้มากขึ้น ลดระยะเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนและจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรงให้มากยิ่งขึ้น หลักการประชุมสัมมนาครั้งนี้ โครงการจะมีการลงพื้นที่จัดเวทีประชาคมในระดับท้องถิ่นตลอดเส้นทาง เพื่อให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ รวมทั้งการ่วมกันกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางการพัฒนาโครงการ่วมกัน

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๒ วันพุธที่ ๒๑ -  วันอาทิตย์ที่ ๒๕  เดือนตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๘

 


701 1343