29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 03,2015

‘ซอลทเวิร์คส’ดอดพบผู้ว่าฯ เปิดเหมืองแร่อีก ๙๐๐ ไร่ อย่าทำประชาชนเดือดร้อน

กลุ่มทุนเกลือรายใหญ่ ‘ซอลทเวิร์คส’ เข้าเยี่ยมคารวะพ่อเมือง แนะนำโครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน ๘๐๐-๙๐๐ ล้านบาท หลังถูกแรงต้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทำให้การยื่นคำขอประทานบัตรยังไม่ผ่าน ด้าน ‘วิเชียร’ ผวจ.นครราชสีมา ย้ำอย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน! ล่าสุดยื่นขอสำรวจแร่เกลือหินเพิ่มอีก ๘๐๐-๙๐๐ ไร่ 

ตามที่กลุ่มทุนเกลือรายใหญ่ “ปรุงทิพย์” ในนามบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด เตรียมควักเงินลงทุนประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ ล้านบาท เพื่อเปิดเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ ๓-๔/๒๕๕๕ ในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ครอบคลุมแปลง ๓/๒๕๕๕ หมู่ ๔ บ้านหนองกก, หมู่ ๘ บ้านโคกพัฒนา ตำบลหนองสรวง จำนวนกว่า ๓๕๐ ไร่ และแปลง ๔/๒๕๕๕ หมู่ ๖ บ้านหนองหัวแหวน ตำบลพันดุง จำนวน ๒๐๐ กว่าไร่ รวมมีเนื้อที่ครอบคลุม ๕๕๐ กว่าไร่ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสรวง และองค์การบริหารส่วนตำบลพันดุง แจ้งว่า มีมติไม่เห็นชอบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ขอโต้แย้งผลการพิจารณาว่า ไม่เคยได้รับเชิญจากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ให้ชี้แจงโครงการพัฒนาทำเหมืองใต้ดิน ตามระเบียบขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.๒๕๔๕ แต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนการจัดเวทีประชาคมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ถ่ายโอนภารกิจการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ท้องถิ่นไปแล้ว ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้พิจารณาให้ดำเนินการจัดการประชุมชี้แจงฯ เพื่อให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่เกลือหิน ซึ่งต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

จากนั้นเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๖ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด จึงได้จัดรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการดังกล่าว ที่ลานอเนกประสงค์กลางหมู่บ้านหนองหัวแหวน หมู่ที่ ๖ ตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ โดยมีการร้องเรียนว่า ๑. มีการทำรั้วล้อมรอบไม่ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปร่วมรับฟังการชี้แจง จากที่หวั่นเกรงว่าที่ดินที่ราษฎรในพื้นที่ทำมาหากินนั้น จะทรุดโทรมและเกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะความเค็มจะแพร่กระจาย รวมไปถึงแผ่นดินทรุด อากาศ น้ำ และที่อยู่อาศัย เพราะได้ศึกษาบทเรียนมาบ้างแล้ว จากชาวบ้านในพื้นที่ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุดรธานี ๒. มีการ์ดและหน่วยคอมมานโดยืนตรึงแถวล้อมรั้วตลอดแนวในพื้นที่ปราศรัย ๓. มีตำรวจปิดกั้นทางเข้าหมู่บ้านทางฝั่งถนนบ้านหนองกก-หนองหัวแหวน และถนนฝั่งบ้านหนองสรวง-พันดุง ทำให้ไม่สามารถผ่านเข้า-ออกได้ ดังนั้น ทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นทั้งราษฎรหมู่ ๖ และราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงที่มีผลกระทบต่อพืชไร่/นา ที่ทำมาหากินของหมู่บ้านและพื้นที่อยู่ใกล้เคียง บ้านโคกพัฒนาหมู่ ๘ และบ้านหนองกกหมู่ ๔ ซึ่งอยู่ติดพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการเหมืองแร่เกลือหิน ถือว่าเป็นการกีดกันสิทธิของประชาชนไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการลงคะแนนเสียง ต่อมาวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ ราษฎรในพื้นที่กว่า ๑๕๐ คน จึงรวมตัวกันในนาม “กลุ่มเครือข่ายผู้คัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่เกลือหิน ต.หนองสรวง และต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ” เดินทางมาชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด และยื่นหนังสือให้นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น ดำเนินการตรวจสอบและขอให้การจัดประชุมครั้งนี้เป็นโมฆะ ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวแล้วนั้น 

ผู้ว่าฯย้ำอย่าทำปชช.เดือดร้อน

ล่าสุดวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ชั้น ๒ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด นำโดยนายกิตติพงศ์ พุทธพรมงคล กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยพล.ต.ต.สุพรรณ ประเสริฐสม อดีต ผบก.อก.ภูธร ภาค ๓ ในฐานะที่ปรึกษา และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและมอบดอกไม้แสดงความยินดีกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ในโอกาสดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ พร้อมทั้งแนะนำโครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน ของบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๖๐๐ ไร่ โดยนายวิเชียรฯ ได้ซักถามถึงกระบวนการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินดังกล่าว และทาง บริษัทฯ ยืนยันว่าเป็นวิธีการทำเหมืองในแนวดิ่ง แตกต่างจากกระบวนการผลิตเกลือในประเทศไทยปัจจุบัน ทำให้นายวิเชียรฯ เน้นย้ำกับคณะผู้บริหารว่า “ขอแค่อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน”

ภายหลังเข้าเยี่ยมคารวะและมอบดอกไม้แสดงความยินดีเรียบร้อยแล้ว ‘โคราชคนอีสาน’ จึงสอบถามความคืบหน้าการยื่นขอประทานบัตรเปิดเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน โดยนายกิตติพงศ์ พุทธพรมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด กล่าวเพียงว่า “ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนยื่นขอประทานบัตร พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ ซึ่งเคยแถลงข่าวและชี้แจงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว (๑๙ ก.ย. ๕๖) แต่ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ชะลอ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรอยู่ หากมีความคืบหน้า ทาง บริษัทฯ จะชี้แจงให้ทราบต่อไป”

ยื่นสำรวจเพิ่มกว่า ๙๐๐ ไร่

ต่อเรื่องนี้นายอรรถสิทธิ์ อึ้งเหมอนันต์ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ยังอยู่ระหว่างยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ ๓-๔/๒๕๕๕ ในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อขออนุญาตเปิดเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ขออนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ แล้วก็ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่เกลือหินใต้ดินในพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ถือครองของบริษัทฯ จากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ ๓-๔/๒๕๕๕ เพื่อดำเนินการเปิดเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้เข้าตรวจสอบพื้นที่และรังวัดเขตคำขอประทานบัตรเพื่อขึ้นรูปแผนที่ ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรังวัดกำหนดเขตคำขอ พ.ศ.๒๕๔๗ และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ แต่ทั้งนี้ หลังจากจัดรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๖ แล้วมีประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้าน และยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายวินัย บัวประดิษฐ์) ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และบริษัทฯ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นคำขอประทานบัตร พร้อมกับการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ

“ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ได้เข้ามายื่นขอสำรวจแร่เกลือหินใต้ดินเพิ่มเติม ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ ไร่ ในพื้นที่ตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ยื่นคำขอประทานบัตรในข้างต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงต้องสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการ เพราะการสูบน้ำเกลือขึ้นมาผลิตเกลือ กับการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินนั้น มีวิธีการที่แตกต่างกัน และกระบวนการทำเหมืองใต้ดินก็เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ดีกว่ากระบวนการสูบน้ำเกลือในปัจจุบัน อีกทั้งแร่เกลือหินสามารถนำมาทำฝนเทียมได้ด้วย” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

เจาะอุโมงค์ลึกเท่าตึก ๖๑ ชั้น

สำหรับโครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน ของบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ที่ยังอยู่ระหว่างยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ ๓-๔/๒๕๕๕ ในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมแปลง ๓/๒๕๕๕ หมู่ ๔ บ้านหนองกก, หมู่ ๘ บ้านโคกพัฒนา ตำบลหนองสรวง จำนวนกว่า ๓๕๐ ไร่ และแปลง ๔/๒๕๕๕ หมู่ ๖ บ้านหนองหัวแหวน ตำบลพันดุง จำนวน ๒๐๐ กว่าไร่ รวมมีเนื้อที่ครอบคลุม ๕๕๐ กว่าไร่ ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ระบุว่า เป็นการทำเหมืองเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะขุดเจาะอุโมงค์ลงไปถึงระดับความลึกประมาณ ๑๗๐-๒๐๐ เมตรจากผิวดิน หรือเทียบเท่าประมาณตึก ๖๑ ชั้น และมีขนาดปากอุโมงค์ทางเข้าในแนวดิ่งความกว้างเพียง ๖-๘ เมตร เพื่อทำการขุดเกลือขนาดช่องกว้างประมาณ ๑๐x๑๐ เมตร และสูง ๑๐-๑๕ เมตร ลักษณะของห้องจะสลับกับเสาค้ำยัน (Room & Pillar) พร้อมตรวจวัดการทรุดตัวของชั้นดินด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย จึงมั่นใจได้ว่าอุโมงค์จะไม่มีการทรุดหรือพังเสียหาย ประกอบกับการทำเหมืองไม่มีการใช้ระเบิด และใช้เครื่องจักรแบบหัวขูดเพื่อขูดเอาแร่ออกมา จึงไม่มีแรงสั่นสะเทือนที่จะทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน

ค่าภาคหลวงแร่ปีละ ๑๒.๘ ล.

บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ยังระบุในเอกสารประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการทำเหมืองแร่เกลือใต้ดินฯ ก่อนหน้านี้ด้วยว่า เมื่อบริษัทฯ ได้รับประทานบัตรและชุมชนในพื้นที่ตั้งของประทานบัตรเห็นด้วยกับโครงการ บริษัทฯ จะสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้บ้านหนองหัวแหวน หมู่ที่ ๖ ตำบลพันดุง, บ้านหนองกก หมู่ที่ ๔ และบ้านโคกพัฒนา หมู่ที่ ๘ ตำบลหนองสรวง หมู่บ้านละ ๑ ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดทำประชาคมหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านต้องเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงานในท้องถิ่น โดยบริษัทฯ จะเปิดรับพี่น้องในชุมชนเข้าร่วมงานจำนวน ๒๐๐ กว่าอัตรา จะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนหมุนเวียนดีขึ้น ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ขอประทานบัตร ทั้งตำบลพันดุง และตำบลหนองสรวง จะมีรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ จากการผลิตเกลือของบริษัทฯ ปีละ ๕๐๐,๐๐๐ ตัน แบ่งเป็น อบต. ๒๐% ประมาณปีละ ๔.๔ ล้านบาท, อบต.ในพื้นที่ ๒๐% ประมาณปีละ ๔.๔ ล้านบาท และอบจ.๑๐% ปีละ ๒.๒ ล้านบาท

ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้านก่อน

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินดังกล่าว จะต้องผ่านการการทำประชาคมหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ความเห็น ก่อนตรวจสอบแผนผังโครงการเพื่อคำนวณอายุประทานบัตร โดยผู้ขอประทานบัตรต้องจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ยังไม่ผ่านการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน

กลุ่มทุนใหญ่‘เกลือปรุงทิพย์’

อนึ่ง บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด เป็น กลุ่มทุนเดียวกับบริษัท เกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้แทนจำหน่าย “เกลือปรุงทิพย์” จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน ๑๐ ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์การผลิตเกลือบริโภค มีกรรมการ ๔ คน ประกอบด้วย ๑. นายสุทธิพงศ์ พุทธพรมงคล ๒. นายกิตติพงศ์ พุทธพรมงคล ๓. นายกรีฑา ประทุมพา ๔. นางสาวเดือนแก้ว รัตนมณฑล ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ ๔๓ อาคารไทยซีซีทาวเวอร์ ชั้นที่ ๒๖ ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๓ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑  เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


698 1362