20thApril

20thApril

20thApril

 

November 03,2015

ติดตามผลศูนย์ดำรงธรรม ปัญหา‘หนี้สิน’อันดับ ๑

รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการทำงานศูนย์ดำรงธรรม โคราชมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ๒,๒๑๔ เรื่อง ดำเนินการและแก้ไขแล้ว ๑,๗๖๖ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๗๙.๗๖ ส่วนปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุดในภาคอีสานคือ ปัญหาหนี้สิน ๔,๖๓๓ เรื่อง รองลงมาเป็นปัญหาที่ดินทำกิน ๓,๕๐๘ เรื่อง

เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๔๕ น. พล.ต.ศักดา เปรุนาวิน รองแม่ทัพภาคที่ ๒ เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ภายในศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา, ปกครองจังหวัดนครราชสีมา, ที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมาร่วมด้วย

หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา รายงานเรื่องร้องเรียนในรอบปีงบประมาณ ๒๕๕๘ แก่ที่ประชุมว่า มีเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด ๒,๒๑๔ เรื่อง สามารถดำเนินการแก้ไขและยุติแล้ว ๑,๗๖๖ เรื่อง และดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ยุติอีก ๔๔๘ เรื่อง ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยุติธรรม อีกทั้งในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีจำนวนเรื่องร้องเรียนมาแล้วทั้งหมด ๙๐ เรื่อง ดำเนินการแก้ไขยุติแล้ว ๒๕ เรื่อง และดำเนินการแล้วยังไม่ยุติ ๖๕ เรื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางศูนย์ดำรงธรรมฯ ประสบปัญหาอุปสรรคในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการบุกรุกที่ดิน ปัญหาเรื่องหนี้สินที่มีกระบวนการฟ้องร้องกันเรียบร้อยแล้ว และมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนซึ่งจะมีการเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้สินหรือเจ้าหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถยุติได้ทันท่วงที จึงดำเนินการโดยการไกล่เกลี่ย กรณีเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การบุกรุกที่ดินบริเวณอุทยานแห่งชาติ ที่ดินที่เป็นของรัฐ หรือที่ราชพัสดุที่มีประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย เราจึงใช้วิธีการไกล่เกลี่ยหาแนวทางและตั้งคณะกรรมการ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้ให้แนวทางไว้ กรณีเรื่องที่มีความซับซ้อนไม่สามารถแก้ไขในระดับเจ้าหน้าที่ได้นั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหา และเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทุกฝ่ายหาข้อสรุปร่วมกัน และอีกกรณีหนึ่งที่ต้องใช้บุคลากรหลายหน่วยงานเข้าแก้ไขปัญหา เราจะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผล

นอกจากนี้ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ยังกล่าวถึงการปฏิบัติงานที่ทำให้ประสบผลสำเร็จอีกว่า การร่วมมือกันในการปฏิบัติงานของพลเรือน ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม โดยกระทรวงมหาดไทย จึงมีเพียงกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียวที่ดำเนินการ เมื่อมีการประกาศของคสช. ให้ตั้งศูนย์ดำรงธรรม จึงบูรณาการในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกำลังทหารในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายปกครองได้เข้ามาช่วยทำให้การร้องเรียนนั้นสามารถยุติได้เร็วขึ้นด้วย

พล.ต.ศักดา เปรุนาวิน รองแม่ทัพภาคที่ ๒ กล่าวให้กำลังใจและชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา โดยมองว่า ศูนย์ดำรงธรรมเป็นเสมือนประตูที่จะช่วยให้ประชาชนที่เดือดร้อนเข้ามาร้องทุกข์ ซึ่งเกือบทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ของชาวบ้าน แต่สิ่งที่จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และศักยภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ด้วย

ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า มีความมุ่งมั่นของทุกส่วนราชการที่จะประสานงานในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ เมื่อมีตราของศูนย์ดำรงธรรมแล้วให้ช่วยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเป็นพิเศษ เนื่องจากประชาชนที่เข้ามานั้นฝากความหวังไว้ เพราะหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังมอบหมายงานให้หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมเป็นผู้ลงนามในการแจ้งเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องรอเสนอเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เช่น เมื่อเรื่องร้องเรียนมาวันนี้ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมฯ ก็สามารถทำหนังสือประทับตราส่งไปหน่วยงานต่างๆ และมีแบบฟอร์มการติดตาม ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนมองว่าหากต้องรอนำเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาในการนำเสนอ ซึ่งจะทำให้เรื่องการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเรื่องร้องเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเปรียบเทียบในรอบเดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีแนวโน้มคงที่ ซึ่งประเภทเรื่องร้องเรียนในรอบเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ เป็นเรื่องการขอความช่วยเหลือต่างๆ จำนวน ๓๒ เรื่อง ร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน ๒๑ เรื่อง ปัญหาที่ดิน จำนวน ๑๕ เรื่อง ปัญหาหนี้สิน จำนวน ๑๐ เรื่อง เดือดร้อนรำคาญ จำนวน ๘ เรื่อง และการแจ้งเบาะแส จำนวน ๘ เรื่อง ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น ประเด็นของการบุกรุกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ป่าอุทยานแห่งชาติ การบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ในบริเวณกว้าง และเข้าทำประโยชน์มาเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหาเช่นนี้ศูนย์ดำรงธรรมต้องการแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน เพราะบางปัญหาคาบเกี่ยวกับหน่วยงานในสังกัดราชการบริหารส่วนกลางในการแก้ไขปัญหาหรือระดับนโยบายเพื่อช่วยแก้ไข

ทั้งนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ณ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่อง ปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ช่องทางรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ สามารถโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๖๗  หรือโทร ๐๔๔-๒๕๙๙๙๙ หรือมาร้องเรียนได้โดยตรงที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ ทางกองทัพภาคที่ ๒ มีการสรุปยอดการรับเรื่องร้องเรียนในการดูแลของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด (กกล.รส.จว.)  จำนวน ๓,๙๗๔ เรื่อง ในขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทั้ง ๒๐ จังหวัดในภาคอีสาน (เริ่มตั้งศูนย์–ปัจจุบัน) มีจำนวน ๒๕,๗๗๐ เรื่อง รวมทั้งสิ้น ๒๙,๗๔๔ เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๘,๗๕๒ เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ ๑๐,๙๒๒ เรื่อง โดยอันดับแรกเป็นเรื่องของปัญหาหนี้สิน จำนวน ๔,๖๓๓ เรื่อง ปัญหาที่ดินทำกิน จำนวน ๓,๕๘๐ เรื่อง ปัญหาการใช้อำนาจรัฐ จำนวน ๓,๐๙๘ เรื่อง ปัญหายาเสพติด จำนวน ๑,๔๓๓ เรื่อง ปัญหาบ่อนการพนัน จำนวน ๑,๓๙๔ เรื่อง ปัญหาผู้มีอิทธิพล จำนวน ๘๖๗ เรื่อง ปัญหาป่าไม้ จำนวน ๗๐๕ เรื่อง ปัญหาเรื่องอาวุธสงคราม จำนวน ๒๘ เรื่อง และปัญหาอื่นๆ จำนวน ๑๔,๐๐๕ เรื่อง

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๑ -  วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


694 1342