29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 03,2015

๑๐ ปี‘ทปอ.ไทย–อินโดฯ’ พร้อมใจขยายแนวร่วมสู่ทศวรรษใหม่

อธิการบดี มทส.ประชุมกับทปอ.อินโดนีเซีย ยืนยันร่วมมือครบ ๑๐ ปีแล้ว พร้อมใจขยายความร่วมมือสู่ทศวรรษใหม่ ทปอ.ไทยอยากเห็นบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ความเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพ และสร้างความกลมกลืนของสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน

ตามที่การประชุมเชิงวิชาการระหว่างที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ. CUPT = Council of University Presidents of Thailand) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งอินโดนีเซีย (CRISU=Council of Rector of Indonesia State University) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑ ที่กรุงเทพมหานคร ถึงการประชุมครั้งที่ ๑๐ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการปิดฉากทศวรรษแรกของความร่วมมือ โดยในสี่ครั้งแรกมีการประชุมเชิงวิชาการและการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เฉพาะในผู้บริหารระดับอธิการบดีเท่านั้น แต่ในการประชุมร่วมครั้งที่ ๕ ด้วยความตระหนักร่วมกันเพื่อที่จะให้มีการนำผลการประชุมไปปฏิบัติได้จริง ได้ขยายระดับการประชุมเป็น ๓ ระดับ คือระดับอธิการบดี ระดับคณบดี และระดับผู้นำนักศึกษา สำหรับการประชุมครั้งที่ ๑๐ นี้ ได้กำหนดแนวคิดหลัก เรื่อง “การบริหารจัดการและการสร้างภาวะผู้นำในทรัพยากรบุคคล”

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวจากเมืองโบกอร์ว่า “การประชุมครั้งที่ ๑๐ นี้ นับว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุด โดยมีอธิการบดี คณบดี และผู้นำนักศึกษาจากประเทศอินโดนีเซียมากกว่า ๒๕๐ คน และจากประเทศไทยจำนวน ๘๐ คน ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเนื่องจากทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่วมจัดประชุมไตรภาคีทางวิทยาศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซีย–ไทย–ฝรั่งเศส ในหัวข้อสอดรับกับสถานการณ์ปัญหาเขม่าควันไฟในอินโดนีเซียในปัจจุบัน กำหนดหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และเรื่องสุขภาพ” โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยไทยจำนวน ๖ คน นำเสนอผลงานในการประชุมครั้งนี้ด้วย ผลของการประชุมมุ่งสู่การเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป

“สำหรับผลการประชุมระหว่าง ทปอ.ไทย–อินโดนีเซีย ที่น่าสนใจจากทั้ง ๓ ระดับ สรุปได้ ดังนี้ ๑. ทั้งสองประเทศจะร่วมกันสร้างฐานข้อมูลสถาบันอุดมศึกษาสมาชิกเพื่อให้ผู้สนใจเรื่องหลักสูตร หัวข้อวิจัย อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้วิจัย  อัตลักษณ์และความโดดเด่น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านการเรียนการสอน และการวิจัยให้มากขึ้น ๒. การเทียบโอนหน่วยกิต กับรับรองวิทยฐานะและมาตรฐานทางวิชาการของอาชีพอาเซียนอิสระเป็น ๘ อาชีพ ควรสร้างกติกาข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ๓. อธิการบดีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยควรอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนให้คณาจารย์ นักวิจัยในคณะวิชา ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกันมากขึ้น และ ๔. อธิการบดีควรสนับสนุนกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษา ๒ ประเทศ เพื่อสอดรับกับเสาหลักที่ ๓ ของอาเซียน คือ ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน เช่น แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬา จัดค่ายพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น”

อธิการบดี มทส. กล่าวสรุปในฐานะประธาน ทปอ.ว่า “ในการประชุมครั้งที่ ๑๑ เพื่อประเดิมความร่วมมือในทศวรรษที่สอง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ ๒๗–๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าควรเชิญที่ประชุมอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยในอาเซียนเพื่อนบ้านของเราเข้าร่วมด้วย เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา   เมียนมา เวียดนาม เป็นต้น หากไม่พร้อมที่จะร่วมมือกันทั้งหมด อาจเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะผู้สังเกตการณ์ก่อนก็ได้ ทั้งนี้ ทาง ทปอ.ไทย อยากเห็นบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ความเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพ และสร้างความกลมกลืน(harmonization) ของสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนของเรา”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๑ -  วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


692 1350