20thApril

20thApril

20thApril

 

November 03,2015

ประชาชนหวั่นพ่นพิษ ‘น้ำตาลครบุรี’ทุ่มหมื่นล้าน เปิด ๓ โรงงาน ๙๐๐ ไร่

 


เดินหน้าขยายการลงทุนใหม่ ‘สีคิ้วคอมเพล็กซ์’ หมื่นล้านบาท ตั้ง ๓ โรงงาน ผลิตน้ำตาล ไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอล ๙๐๐ กว่าไร่ ประชาชนหวั่นน้ำเสียและมลพิษตามมา ส่งผลกระทบพื้นที่เกษตร และชุมชน วัดใกล้เคียงต้องย้ายหนี ผู้บริหารชี้เป็นรูปแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ อ้างปัญหาในอดีตแก้ไขแล้ว

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ ๘๐ ปี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา บ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS นำโดยนายวิชัย โคตรฐิติธรรม รองกรรมการผู้จัดการ, นายดำรงค์ ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการเทคนิคและโครงการ และนายเทียน แก้วประดับ   ผู้อำนวยการโรงงานผลิตไฟฟ้าครบุรี พร้อมด้วยบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายใต้ “โครงการสีคิ้วคอมเพล็กซ์” ประกอบด้วย โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด และโครงการโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่มีแผนการลงทุนขยายฐานการผลิตแห่งใหม่ บนพื้นที่ ๙๐๐ กว่าไร่ บริเวณบ้านมอดินแดง และบ้านหนองห่าน ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมีประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโครงการฯ จำนวนกว่า ๕๐๐ คน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่างๆ  

ย้ายมาปักฐานผลิต‘โคราช’

นายวิชัย โคตรฐิติธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS กล่าวว่า การขยายกำลังการผลิตทั้ง ๓ โครงการ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) และมองไปถึงอนาคต ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า เราเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่มีประสบการณ์กว่า ๕๐ ปี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๘ เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยมีที่ตั้งอยู่ในอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี บริษัทฯ ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ต่อมาในปี ๒๕๓๙ บริษัทฯ ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์จากบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด เป็นบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีกลุ่มมิตซุยจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของ KBS และมีสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจต่อกัน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพและมูลค่าเพิ่มให้ KBS ในหลายๆ ด้าน อีกทั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๘ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ก็เริ่มขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาชนิด Firm 22 เมกะวัตต์ (Commercial Operating Date : COD) แล้ว

ผุด ๓ รง.‘สีคิ้วคอมเพล็กซ์’

นายดำรงค์ ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการเทคนิคและโครงการ นำเสนอข้อมูลโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการโรงงานผลิตเอทานอล ที่มีแผนขยายการลงทุนในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยระบุว่า กลุ่มบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิตไฟฟ้าและเอทานอล ประกอบกับเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าน้ำตาลในตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงมีความประสงค์ก่อตั้งโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด โดยใช้วัตถุดิบอ้อย มีกำลังการผลิต ๓๖,๐๐๐ ตันอ้อย/วัน กระบวนการผลิตน้ำตาลจะเริ่มจากสกัดน้ำอ้อย การทำความสะอาด หรือทำใสน้ำอ้อย จากนั้นจึงเคี่ยวแล้วต้ม และมาสู่ขั้นตอนปั่นแยกผลึกน้ำตาล ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้ประกอบด้วย น้ำตาลทรายดิบ, น้ำเชื่อม, น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ พร้อมกับผลิตภัณฑ์พลอยได้ เป็นกากน้ำตาลนำไปผลิตเอทานอล, กากอ้อยนำไปผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ และกากตะกอนหม้อกรองส่งให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน 
 
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยจะใช้กากอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำตาลดังกล่าว นำมาเป็นเชื้อเพลิงหมักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ๑๒๒ เมกะวัตต์ และไอน้ำ ๘๔๕ ตัน/ชั่วโมง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะใช้ภายในโครงการ และส่งไปยังกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาล บริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด และโรงงานผลิตเอทานอล บริษัท ครบุรีไอโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด รวมทั้งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับไอน้ำบางส่วนจะส่งให้กับโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตด้วย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์พลอยได้ คือ เถ้า เพื่อส่งให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ส่วนโครงการโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีแผนงานที่จะก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตเอทานอลบริสุทธิ์จากกากน้ำตาล หรือที่เรียกว่า Molasses (โมลาส) ของโรงงานผลิตน้ำตาล บริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีปริมาณสำรองลดลงทุกปี โดยโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัท ครบุรีไอโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีกำลังการผลิตเอทานอล ๙๙.๕% จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ลิตร/วัน จำหน่ายเพื่อเป็นเชื้อเพลิง โดยนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ ๙๑, ๙๕, E20 และ E85 นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์พลอยได้เป็นฟูเซลออยล์ส่งขายภายนอก และน้ำกากส่า (วีนัส) จะนำไปผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ เพื่อใช้ปรับปรุงดินในไร่อ้อยอีกด้วย 

นายวิชัย โคตรฐิติธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน)

เกษตรกรรับอานิสงส์ผลพลอยได้

สำหรับประโยชน์ต่อเกษตรกรจากการใช้ผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตทั้ง ๓ โครงการนั้น นายดำรงค์ ผู้อำนวยการเทคนิคและโครงการ ระบุด้วยว่า “กากตะกอนหม้อกรอง ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับสภาพดินในพื้นที่ปลูกอ้อยและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ส่วนขี้เถ้า ที่เหลือจากกระบวนการเผาไหม้กากอ้อยจากหม้อไอน้ำของโรงผลิตไฟฟ้า มีธาตุไนโตรเจนและอินทรียวัตถุสูง นำไปใส่ในไร่อ้อยเพื่อปรับโครงสร้างของดินช่วยเพิ่มความพรุนของดินและทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี และน้ำกากส่า ที่ได้จากกระบวนการผลิตเอทานอลก็มีโปรตีนสูง อุดมด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม อินทรียวัตถุ และฮอร์โมน นำไปใช้ปรับสภาพดินในไร่อ้อย และสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงวัวได้ โดยการนำไปผสมกับอาหารหยาบ เช่น ฟางข้าว หรือต้นข้าวโพด ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและทำให้วัวมีสุขภาพดี เนื่องจากได้รับจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง หรือผสมน้ำกากส่ากับอาหารให้หมูกิน ทำให้มีคุณค่าโภชนาการสูงกว่าอาหารทั่วไป”

แจงป้องกันสิ่งแวดล้อมทุกด้าน

ต่อมาตัวแทนบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของทั้ง ๓ โครงการดังกล่าว ได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า มาตรการในการจัดการมลพิษจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ครอบคลุมทั้งการป้องกันมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองการขนส่งอ้อยเข้าสู่โครงการ การจอดรถบรรทุกอ้อยในพื้นที่ลานจอดรถบรรทุก การขนส่งกากตะกอนหม้อกรองไปยังลานกองเก็บและพื้นที่ไร่อ้อย, มลพิษทางน้ำ จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อบำบัด เพื่อควบคุมค่า  บีโอดีในบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อสุดท้ายไม่เกิน ๒๐ มิลลิกรัม/ลิตร ตามข้อมูลการออกแบบและรวบรวมน้ำทิ้งหลังผ่านการบำบัดแล้ว นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในพื้นที่สีเขียวและไร่อ้อยของโครงการ โดยไม่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ, มลพิษทางเสียง จากการทำงานของอุปกรณ์และเครื่องจักรฯ, กากของเสียอุตสาหกรรม และกากตะกอนหม้อกรอง ขณะที่กระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล จะควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะจากหม้อไอน้ำ ทั้งฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไตรเจนไดออกไซด์ โดยติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศแบบไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic Precipitator, ESP) ก่อนระบายอากาศออกทางปล่องระบาย พร้อมทั้งตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องและในพื้นที่ชุมชนปีละ ๒ ครั้ง เป็นต้น ส่วนโรงงานผลิตเอทานอลนั้น การป้องกันมลพิษทางอากาศ จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกลิ่น จะปลูกต้นไม้บริเวณริมรั้วโครงการโดยเฉพาะด้านที่มีชุมชน และนำน้ำกากส่าไปใช้ปรับปรุงดินในไร่อ้อย หรือพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเอทานอลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและนำน้ำทิ้งหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

ปชช.หวั่น!แย่งน้ำ-ก่อมลพิษ

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุม บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ได้เปิดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้และส่วนเสียที่อยู่ในรัศมี ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโครงการฯ แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อ “โครงการสีคิ้วคอมเพล็กซ์” เป็นเวลากว่า ๓ ชั่วโมง พร้อมแจกน้ำตาลทราย KBS ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความกังวลต่อกระบวนการผลิตที่จะมาแย่งชิงทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นตามมากระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่การเกษตร และชุมชน โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้แจกเอกสารการคำนวณปริมาณการใช้น้ำของทั้ง ๓ โครงการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงงานน้ำตาล กำลังผลิต ๓๖,๐๐๐ ตัน/วัน มีการใช้น้ำสำหรับการผลิต ๑ ลูกบาศก์เมตร/ตันการผลิต เฉลี่ยต้องใช้น้ำ ๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เกิดน้ำเสีย ๑๐,๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี, โรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิตไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์ มีการใช้น้ำสำหรับการผลิต ๑,๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วัน เฉลี่ยต้องใช้น้ำ ๔๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี เกิดน้ำเสีย ๓๕๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี และโรงงานเอทานอล ที่กำลังผลิต ๘๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี มีการใช้น้ำสำหรับการผลิต ๑.๕ ลูกบาศก์เมตร/ลูกบาศก์เมตรเอทานอล เฉลี่ยใช้น้ำ ๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี เกิดน้ำเสีย ๙๖,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี รวมจะมีปริมาณน้ำเสียสกปรก ๑๐,๘๔๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ปี ทั้งยังมีผลกระทบจากควันพิษกระจายในรัศมี ๕ กิโลเมตรโดยรอบ ซึ่งประเมินจากเหตุการณ์โรงงานน้ำตาลของ บริษัทฯ ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เจ็บป่วยด้านระบบหายใจกว่า ๖,๐๐๐ คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ทบทวนพื้นที่ตั้งทั้ง ๓ โครงการใหม่ เนื่องจากอยู่ห่างจากวัดถ้ำเขาจันทร์แดงเพียงกว่า ๑ กิโลเมตร และยังใกล้กับโครงการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองฯ ไม่เหมาะสำหรับการทำอุตสาหกรรมหนัก อาจทำให้ทางวัดต้องประกาศขายหรือย้ายหนีโรงงานอุตสาหกรรม ดังเช่นกรณีหลวงปู่พุทธะอิสระ (พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ต้องขึ้นป้ายประกาศขายวัด หลังทนกลิ่นเหม็นจากโรงงานอาหารสัตว์ที่อยู่ตรงข้ามวัดสร้างความเดือดร้อนให้กับพระและเณรไม่ไหว ส่วนผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งในพื้นที่บ้านหนองน้ำขุ่น ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว แสดงความเห็นสนับสนุนโครงการฯ แต่ต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการกลาง โดยมีตัวแทนประชาชน/ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำด้วย รวมไปถึงบริษัทฯ ต้องจัดตั้งกองทุนในการพัฒนาชุมชนโดยรอบ และมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

เผยเงินลงทุนราว ๑ หมื่นล้าน

ต่อเรื่องนี้นายวิชัย โคตรฐิติธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า บริษัทฯ ได้เตรียมแผนขยายการลงทุนมาเป็นเวลา ๔-๕ ปีแล้ว เพิ่งได้ไฟเขียวจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้สามารถเดินหน้ากำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ในวันนี้ (๓๐ ต.ค. ๕๘) ซึ่งนับเป็นการปฐมนิเทศโครงการฯ เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ส่งเสริมการทำไร่อ้อยในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ประมาณ ๔-๕ แสนตันอ้อย แต่แหล่งผลิตอ้อยที่นี่ยังเป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ ต้องส่งเสริมการทำไร่อ้อยให้มีขั้นต่ำในพื้นที่ประมาณ ๓ ล้านตันอ้อย สำหรับทิศทางการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัทฯ เรียกว่า “คอมเพล็กซ์” ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งเข้าสู่คอนเซ็ปต์ที่ว่า “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์” ไม่มี waste (การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์) อีกทั้งผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย หรือโมลาส จะสามารถจัดการได้ในเวลาเดียวกันแบบสมดุล ดังนั้น อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลต้องเป็นรูปแบบคอมเพล็กซ์ โดยการสร้างทั้ง ๓ โรงงานให้เป็น “สีคิ้วคอมเพล็กซ์” ใช้เงินลงทุนราว ๑ หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการฯ หลังจากปฐมนิเทศโครางการให้รับทราบแล้ว จะนำความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาและนำมารายงานในเวทีใหญ่อีกครั้ง คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทั้งนี้ หากไม่มีข้อขัดข้องใดๆ คาดว่าภายใน ๒ ปีข้างหน้าจะได้เห็นโรงงานผลิตน้ำตาลในเฟสแรกที่อำเภอสีคิ้ว เพื่อรองรับการผลิตน้ำตาลตามระบบโควตา และส่วนหนึ่งก็ส่งจำหน่ายต่างประเทศ จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการในเฟส ๒ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานผลิตเอทานอลได้

‘โรงน้ำตาลครบุรี’แก้ไขแล้ว

ต่อข้อซักถามถึงการร้องเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนของโรงงานน้ำตาลครบุรี พร้อมทั้งคัดค้านการสร้างโรงงานเอทานอลก่อนหน้านี้ ที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา นายวิชัย ชี้แจงว่า “โรงงานน้ำตาลครบุรี เป็นการย้ายเครื่องจักรจากอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ความทันสมัยในการจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมขณะนั้นยังไม่ดีพอ ยอมรับว่ามีปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง แต่ทางบริษัทฯ ก็พัฒนาและปรับปรุงมาเรื่อยๆ สุดท้ายก็ได้ถูกแก้ไขแล้ว จากการทำ CSR ที่เข้มแข็ง โดยตั้งคณะกรรมการผู้มีส่วนได้และส่วนเสียทั้งระบบ มีส่วนราชการ ผู้นำชุมชน/ตัวแทนชุมชนร่วมด้วย ทำให้เสียงตอบรับเริ่มดีขึ้น เสียงต่อต้านที่เกิดขึ้นมักนำปัญหาในอดีตมาเล่าซ้ำ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีรายงานประจำเดือนจากการแก้ไขปัญหา วันนี้จากการทำ CSR เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ยกระดับพัฒนาชุมชน ส่วนการขยายลงทุนที่อำเภอสีคิ้วนั้น จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ พยายามเข้าถึงชุมชนมากที่สุด โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าวันนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีและวิชาการต่างๆ มากมายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่น และที่ผ่านมาก็ได้สอบถามความคิดเห็นผู้นำชุมชน ๒-๓ รอบแล้ว ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดต้องมีคณะกรรมการร่วมในระดับชุมชนด้วยเพื่อพัฒนาระบบระยะยาว เรียกว่า “สีคิ้วโมเดล” ในการมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเท่านั้น


 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๑ -  วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


702 1355