26thApril

26thApril

26thApril

 

November 04,2015

ไอเดียเจ๋งที่ “บ้านโนนข่า” เปลี่ยนที่รกร้างกลางหมู่บ้านเป็นสวนผักปลอดสาร

ชาวบ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น แก้ปัญหาสารเคมีในแปลงผัก เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในหมู่บ้าน เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนพอเพียง โรงผลิตปุ๋ย  และแปลงผักปลอดสาร กว่า ๖๐ แปลง 

นางลักษณี ฐิติโชติรัตนา ผู้ใหญ่บ้านโนนข่า บอกว่า ชาวบ้านโนนข่าส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา โดยปลูกเพื่อกินในครัวเรือนและขายสู่ภายนอก มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าแมลง และปุ๋ยบำรุงพืชผักให้งอกงาม เพื่อให้ทันต่อการส่งขาย ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค เพราะพืชผักเต็มไปด้วยสารเคมีเจือปน

การรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ หันมาลดใช้สารเคมีในแปลงผักของตัวเองเป็นเรื่องยาก ในปี ๒๕๕๗ จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อดำเนินโครงการ “โครงการผักปลอดสารพิษบ้านโนนข่า” และจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน โดยหยิบยกปัญหานี้มาถกกันในที่ประชุม เพื่อร่วมกันหาทางออก ที่ประชุมมีมติให้ใช้พื้นที่รกร้างของหมู่บ้าน บริเวณโรงพักเก่า ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒๓ งาน ๓๖ ตารางวา ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากว่า ๓๐ ปี มาเป็นพื้นที่แปลงผักของชุมชน โดยแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ได้ ๖๐ แปลง ตั้งสภาชุมชนเพื่อกำหนดกติกา และร่วมกันทำงานในเรื่องนี้ ก่อนจะรับสมัครครัวเรือนอาสาเข้ามาปลูกผัก เริ่มต้นมี ๖๐ ครัวเรือน จากประชาชนทั้งหมด ๑๔๕ ครัวเรือน แล้วค่อยขยายสู่ครัวเรือนอื่นๆ จนปัจจุบันมีถึง ๙๐ ครัวเรือน โดยมีกติกาที่ต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกันคือ ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในการปลูกผัก หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพแทน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากสารเคมีโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ การสำรวจข้อมูลการใช้สารเคมีของชุมชน แล้วนำมาแจ้งให้ที่ประชุมทราบ รวมทั้งการร่วมแรงร่วมใจกันผลิตน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแจกจ่ายกันใช้ในชุมชนโดยการสนับสนุนความรู้จากและวัตถุดิบจากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดขอนแก่น

๑ ปีผ่านไป พบว่า จำนวนการใช้สารเคมีลดลงถึงร้อยละ ๘๐ ของปริมาณการใช้ทั้งหมดของคนในชุมชน ซึ่งเกิดจากการกำหนดกติกาชุมชนในการปลูกผักปลอดสารพิษร่วมกัน หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญลงมาสนับสนุน มากขึ้น เช่น พัฒนาชุมชนอำเภอชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) อำเภอชนบท กำหนดให้เป็นโรงเรียนชาวนาของจังหวัดขอนแก่น ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานเรื่องการลดใช้สารเคมี และที่สำคัญคนในชุมชนตระหนักถึงโทษ และพิษภัยของการใช้สารเคมีมากขึ้น มีการยับยั้งชั่งใจก่อนจะใช้ วัดได้จากการทำนา มีการใช้ยาฆ่าหญ้าลดลงจากปีที่แล้วถึง ๕๐% โดยเปลี่ยนวิธีฆ่าหญ้าเป็นวิธีอื่น เช่น การถอนด้วยแรงงาน หรือไถหว่านใหม่ รวมทั้งการขยายผลสู่แปลงผักส่วนตัวในครัวเรือนของเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมปลูกผักในแปลงรวม ก็หันมาปลูกผักปลอดสารพิษมากขึ้น

“ชาวบ้านที่ไม่เคยขายผัก ก็ได้เป็นแม่ค้าขายผักปลอดสารให้ผู้บริโภค คนที่ไม่เคยได้ปลูก ก็มีแปลงทดลองให้ลองปลูกดู สุขภาพดีขึ้นทั้งคนปลูกและคนซื้อ เพราะห่างไกลจากสารเคมี” นางลักษณี กล่าว

ด้านนายวิจิตร จันทะวงษ์ นักบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลชนบท ทีมสนับสนุนวิชาการ สสส. กล่าวสรุปว่า หลังจากชุมชนได้แก้ไขปัญหาของตัวเอง ผ่านการปลูกผักปลอดสารพิษ ทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีกลุ่มผู้นำที่สามารถจัดการปัญหาของชุมชนเอง เช่น กลุ่มสภาผู้นำชุมชน เป็นต้น

• มูลนิธิสื่อสร้างสุข : เรื่อง/ภาพ

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๑ -  วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


723 1350